"สมคิด" กำชับทุกหน่วยลุยงานเต็มที่ช่วง 2 เดือนสุดท้าย จี้ภาครัฐ-รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุน พร้อมสั่ง ก.พาณิชย์เร่งหาตลาดขายสินค้าเพิ่ม หวังประคองส่งออกทั้งปีโตไม่ต่ำกว่า 7% ช่วยดันจีดีพีเข้าป้าย 4% "สนค." เตรียมเสนอตั้งทีมเฉพาะกิจติดตามยุทธศาสตร์รับมือเศรษฐกิจโลก ฟุ้งปี 62 ส่งออกโตถึง 8%
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามและเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2561 ที่ขยายตัวลดลงเหลือ 3.3% ไม่ได้กังวล ซึ่งเป็นผลมาจากส่งออกในเดือน ก.ย.ที่มีปัญหา แต่เมื่อพิจารณาถึงการบริโภคและการลงทุน ยังขยายตัวดีอยู่ โดยในไตรมาสสุดท้ายของปี ได้เร่งรัดทุกฝ่ายทำงานอย่างเต็มที่ งบลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจต้องไม่ล่าช้า โดยจากการประชุมติดตามพบการเบิกจ่ายเป็นไปตามเป้าหมายพอสมควร และจะกลับมาติดตามผลอีกครั้งในเดือน ธ.ค.
นายสมคิดกล่าวว่า การขยายตัวส่งออกในเดือน ต.ค. กระทรวงพาณิชย์ประกาศที่ 8.7% ก็มีสิทธิลุ้นในช่วง 2 เดือนที่เหลือ หากประคองการส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 7% ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2561 ขยายตัวได้มากกว่า 3.5% ส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งปีขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4% ซึ่งการส่งออกจะปล่อยให้ชะลอตัวไม่ได้ เพราะมีส่วนสำคัญต่อการขยายตัวของจีดีพีกว่า 70% ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ต้องไม่ท้อถอย ต้องเร่งหาตลาดสินค้าอื่นๆ สินค้าที่ส่งออกหดตัวมาก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีการส่งไปจีน และส่งต่อไปสหรัฐ ทำให้ได้รับผลกระทบ
“ขอให้สู้ต่อไป แม้เรากำลังจะมีการเลือกตั้ง รัฐบาลปัจจุบันก็ต้องทำงานเต็มที่ การลงทุนต้องให้เป็นไปตามเป้าหมาย ท่องเที่ยวก็ต้องเร่งให้มีการฟื้นตัว การเบิกจ่ายภาครัฐต้องมีความต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกก็ต้องพยายามมากขึ้น ต้องทำให้เศรษฐกิจทั้งปียืนเหลือกว่า 4% ให้ได้ ก็จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นต่างชาติ” นายสมคิดกล่าว
รองนายกฯ กล่าวว่า ในส่วนของการลงทุนรัฐวิสาหกิจ อยากให้มีการคิดล่วงหน้าว่ามีโอกาสอะไรบ้าง และเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อทำแผนการลงทุนได้ โดยได้สั่งการให้กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมไปร่วมกันพิจารณาว่าโครงการในอนาคตมีอะไรบ้างที่ควรทำ ส่วนรัฐวิสาหกิจอื่น เช่น ไปรษณีย์ไทย ก็มีโอกาสเติบโตสูง จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ถ้าขยันทำงาน ก็จะมีส่วนแบ่งการตลาดในด้านการส่งสินค้า ก็จะทำให้องค์กรมีรายได้เพิ่มขึ้น
"ได้สั่งให้ รมว.การคลังไปศึกษามาตรการลดหย่อนภาษีการซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) ที่กำลังจะหมดอายุในปี 2562 หากจะมีการต่อเวลา จะแปลงมาตรการให้ไปต่อได้อย่างไร และต้องอธิบายคนในสังคมให้ชัดเจนว่าไม่ใช่มาตรการที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือคนมีรายได้มาก แต่เป็นการสนับสนุนคนชั้นกลางที่อยู่ระหว่างการสร้างตัว เพราะหากรัฐบาลต้องการสนับสนุนให้เกิดการออม ก็ต้องมีสิ่งจูงใจให้ออม ซึ่ง รมว.การคลังก็รับปากแล้วว่าจะดูแลให้" รองนายกฯกล่าว
ขณะที่ น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกไทยในเดือน ต.ค. มีมูลค่า 21,757.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.7% เป็นการกลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังจากที่เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ขยายตัวติดลบ 5.2% การนำเข้ามีมูลค่า 22,037.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.23% โดยขาดดุลการค้า 279.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการส่งออกรวม 10 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 211,487.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.19% การนำเข้ามีมูลค่า 208,928.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.78% เกินดุลการค้ามูลค่า 2,558.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
"สาเหตุที่การส่งออกกลับมาฟื้นตัว เนื่องจากการส่งออกขยายตัวได้ดีเกือบทุกตลาด โดยตลาดในภูมิภาคเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย และ CLMV ขยายตัวในระดับสูงที่ 18.7%, 12% และ 18.2% สหรัฐและจีน ก็กลับมาขยายตัว โดยเพิ่ม 7.2% และ 3% หลังจากหดตัวลงเล็กน้อยในเดือน ก.ย.2561 ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 12.2% สินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น น้ำตาล ข้าว มันสำปะหลัง ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ผัก ผลไม้สดแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป และสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 6.8% เช่น สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ" น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
ผอ.สนค.กล่าวว่า ในส่วนผลกระทบจากการส่งออกสินค้าไปจีนในกลุ่มที่จีนถูกสหรัฐขึ้นภาษี เดือนนี้ภาพรวมเป็นบวก ส่งออกได้รวม 2,468 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 26 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่ม 1.07% จากการเพิ่มขึ้นของเคมีภัณฑ์และพลาสติก 17.9% เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เพิ่ม 6.1% เครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับและเครื่องสำอาง เพิ่ม 1.3% แต่ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์และแผงวงจร ลด 18.4% ยานพาหนะและส่วนประกอบ ลด 12% ของใช้ในบ้านและออฟฟิศ ลด 31.5% ขณะที่การส่งออกทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐ ไทยส่งออกได้มูลค่า 1,902 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 165 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่ม 9.5% จากการเพิ่มขึ้นของยานพาหนะและส่วนประกอบ 26.1% เคมีภัณฑ์ เพิ่ม 39% เหล็กและผลิตภัณฑ์ เพิ่ม 89.2% เครื่องจักรและส่วนประกอบ เพิ่ม 19.9%
"แนวโน้มการส่งออกจากนี้ไปหากจะผลักดันให้ได้ตามเป้า 8% การส่งออกในช่วง 2 เดือนที่เหลือ (พ.ย.-ธ.ค.) จะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 22,039 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากส่งออกได้ในระดับ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการขยายตัวทั้งปีจะอยู่ที่ประมาณ 7.5% แต่ สนค.ยังมั่นใจว่าการส่งออกจะเป็นไปได้ตามเป้า" ผอ.สนค.กล่าว
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สำหรับการส่งออกปี 2562 ยังคงยืนเป้าหมายที่ 8% แต่ปีหน้าเศรษฐกิจและการค้าโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเป็นปัจจัยกดดันการค้า และจะมีการเปลี่ยนแปลงขั้วเศรษฐกิจโลก ซึ่ง สนค.จะเสนอให้ตั้งทีมงานเฉพาะกิจ เพื่อติดตามและทำยุทธศาสตร์ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพื่อผลักดันการส่งออกของไทยให้ขยายตัวได้ต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |