สั่งสอบข่าว'อียู' ปรับสเปกยางรถ ผวากระทบไทย


เพิ่มเพื่อน    

    "กฤษฎา" ชี้แก้ปัญหาราคายางพาราต้องลดพื้นที่ปลูกลง 30% เน้นใช้งานในประเทศเพิ่มขึ้น พร้อมสั่ง "ปลัดเกษตรฯ-กยท.-ทูตเกษตร" ตรวจสอบข่าวอียูปรับสเปกยางรถใหม่ หวั่นกระทบยางพาราไทย
    เมื่อวันที่ 21 พ.ย. นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาราคายางพาราว่า ได้สั่งให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เร่งส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ จากกำลังการผลิต 4.5 ล้านตันต่อปี ใช้ในประเทศเพียง 6 แสนตัน หรือประมาณ 14.2% เท่านั้น ซึ่งการที่ผลผลิตส่วนใหญ่ถูกนำไปส่งออกมากถึง 86% ทำให้ตลาดมีอำนาจเป็นผู้กำหนดราคา เนื่องจากการซื้อขายเป็นแบบซื้อขายล่วงหน้า จะส่งมอบยางพาราตามที่กำหนดไว้ในสัญญา
    นายกฤษฎากล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบมาเลเซียซึ่งใช้ยางพาราในประเทศ 35% และส่งออก 65% ทำให้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำของมาเลเซียไม่รุนแรงเท่ากับไทย โดยราคายางแผ่นดิบตอนนี้กิโลกรัมละ 40 บาท ต้นทุนอยู่ที่ 63 บาท ซึ่งธนาคารโลกเคยวิเคราะห์ไว้ว่า ใน 5 ปีข้างหน้า ราคายางพาราจะไม่เกิน 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 66 บาท อีกทั้งขณะนี้สงครามการค้ามีผลกระทบโดยตรงต่อราคายาง เพราะอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพารามาก ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ เมื่อเศรษฐกิจโลกไม่ดี กำลังซื้อรถยนต์ต่ำลง ส่งผลให้ความต้องการยางพาราในตลาดโลกลดลงมาก
    "ขณะนี้มาเลเซียผู้ผลิตยางพารารายใหญ่เริ่มลดพื้นที่เพาะปลูกลง ขณะที่ไทยจะต้องทำทั้งลดพื้นที่ปลูกอย่างน้อย 30% ซึ่งจะทำให้ปริมาณความต้องการใช้ในประเทศสมดุลกับการผลิตมากขึ้น ช่วยยกระดับราคาขึ้นได้ รวมทั้งพัฒนาสายพันธุ์ยางพาราเพื่อให้ผลผลิตต่อไร่มากขึ้น และเมื่อลดพื้นที่ปลูกแล้วต้องสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศควบคู่ไปด้วย ขณะเดียวกันจำเป็นต้องส่งเสริมการรวมตัวของเกษตรกรในการปลูกยางพาราเพื่อให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ และมีกำลังต่อรองราคาขาย รวมทั้งควรมีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับยางพาราทั้งระบบเพื่อให้วิเคราะห์สถานการณ์และแนวทางปฏิบัติได้ และส่งเสริมให้นำผลงานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์ แต่สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนคือ ต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น โดยจะเริ่มจากหน่วยงานภาครัฐ แล้วเร่งขยายไปในภาคเอกชน" นายกฤษฎากล่าว
    รมว.เกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า นอกจากนี้ได้สั่งปลัดกระทรวงเกษตรฯ ผู้ว่าฯ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และทูตเกษตร เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่มีสภาปฏิรูปวงการยางไทย โดยโพสต์เฟซบุ๊กในเรื่องอนาคตยางไทยกำลังตีบตัน เนื่องจากสหภาพยุโรป(อียู) กำลังออกมาตรฐานบังคับใช้ยางรถยนต์แบบใหม่ ที่กำหนดตัวเลขสมรรถนะยางรถยนต์เพิ่มอีก 3 ตัว คือ ความสามารถในการประหยัดเชื้อเพลิง ความสามารถในการเกาะถนน และลดเสียงรบกวน พร้อมกับมีการพัฒนายางสังเคราะห์และยางธรรมชาติมากขึ้น ทดแทนยางพารา ซึ่งเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบกับยางพาราให้ดูด้วยว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แล้วขอทราบผลส่งมาให้ตนโดยด่วน
    ทั้งนี้ สภาปฏิรูปวงการยางไทยได้โพสต์ข้อความว่า เตรียมรับมือ มาตรฐานยางใหม่ของอียู กำลังจะบังคับใช้มาตรฐานยางรถยนต์แบบใหม่ที่จะต้องมีการรายงานตัวเลข (Label) พิเศษเพิ่มอีก 3 ตัวคือ ความสามารถในการประหยัดเชื้อเพลิง ความสามารถในการเกาะถนน และความสามารถในการลดเสียงรบกวน ซึ่งจะเห็นว่าผู้ผลิตยางรถยนต์จะต้องเพิ่มนวัตกรรมเข้าไปในยางรถยนต์รุ่นใหม่ ราคายางรถยนต์ในยุโรปจะแพงขึ้น โดยจะใช้ยางสังเคราะห์มากขึ้น หรือแม้แต่ยางธรรมชาติที่ใช้ทดแทนยางพารา อย่างเช่นยางจากดอกแดนดิไลน์ ซึ่งบริษัทยางรถยนต์ในยุโรปกำลังพัฒนาอยู่ ก็จะมีความสามารถแข่งขันมากขึ้น
    ด้านมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดผลวิจัยการผลิตยางพาราไทยกับมาเลเซีย พบว่า ไทยขยายพื้นที่เพาะปลูก แต่มาเลเซียลดพื้นที่เพาะปลูก ในขณะที่ไทยมีการใช้ยางพาราในประเทศเพียง 14.2% หรือประมาณ 6 แสนตันเท่านั้น จากกำลังการผลิต 4.5 ล้านตัน ส่วนมาเลเซียใช้ยางพาราในประเทศ 35% และส่งออก 65%ทำให้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำไม่รุนแรงเท่ากับไทย ทางรอดของยางพาราไทยคือ จะต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น และลดพื้นปลูกยางพาราลงอย่างน้อย 30% ซึ่งจะทำให้ปริมาณความต้องการใช้ในประเทศสมดุลกับการผลิตมากขึ้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"