สัปดาห์ที่แล้วผมมีโอกาสได้ตั้งวงเสวนากับรัฐมนตรีสามท่าน...และอธิการบดีจาก 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ...แลกเปลี่ยนความคิดความเห็นเรื่องชาติบ้านเมือง
สรุปได้ว่าหากเราไม่ปรับ mindset หรือ "กระบวนคิด" ของผู้บริหารประเทศและสถาบันการศึกษาระดับสูง ประเทศไทยอาจจะฟันฝ่า "ความป่วน" อันเกิดจาก disruption ทางเทคโนโลยีได้ยากยิ่ง
วงแรกคือรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์, รัฐมนตรีสาธารณสุข นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร และรัฐมนตรีช่วยศึกษาฯ นายแพทย์อุดม คชินทร
วงที่สองที่เชียงใหม่คือ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต, อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย และอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ
วงแรกคุยกันในหัวข้อการปฏิรูประบบการสร้างบุคลากรทางสุขภาพ วงหลังเป็นการ "แลกเปลี่ยนเรียนรู้" ของบุคลากรทั้งสามมหาวิทยาลัยประจำปี
ประเด็นปัญหาคือเรื่อง "คน" และ "กระบวนคิด" เพื่อจะปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงที่หนักหน่วงรุนแรง
คนในวงการสุขภาพและการศึกษา "ตระหนัก" ว่าจะต้องปรับต้องเปลี่ยนเพื่อให้ทันกับสังคมที่กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง
แต่ยังไม่ "ตระหนก" หรือตกใจพอที่จะลุกขึ้นเปลี่ยน...ไม่ใช่เพียงแค่ยกเครื่องหรือปฏิรูประบบ แต่ต้องเริ่มจากการปรับการเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงาน และวิธีการร่วมผลักดันความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ กับผู้ร่วมงานและ "ผู้มีส่วนได้เสีย" หรือ stakeholders ทั้งหลายทั้งปวง
ผมถามท่านรัฐมนตรีสาธารณสุขว่า ในแวดวงสาธารณสุขและการแพทย์มีคนต่อต้านความพยายามที่จะเปลี่ยนจากวิธีการทำงานแบบเดิมๆ เพื่อแก้ปัญหาที่สั่งสมมายาวนานหรือไม่ ได้คำตอบตรงๆ ง่าย ๆ แต่น่าเจ็บปวดว่า "ไม่มีคนคัดค้านครับ แต่ก็ไม่มีใครทำเหมือนกันครับ"!
นั่นย่อมแปลว่าคนส่วนใหญ่ที่ความรับผิดชอบต่อการผลักดันให้แวดวงของตัวเองปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการใหม่ๆ นั้นแม้จะไม่ต้านสิ่งใหม่ แต่ก็ไม่มีความรู้สึกร้อนหนาวพอที่จะเห็นว่าจะต้องลงมือทำด้วยตนเองจึงจะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างชาติได้
วัฒนธรรมไทยคือการนิ่งเฉย ไม่แสดงความเห็น ไม่คิดอะไรเอง และเมื่อมีผู้นำมาบอกกล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนต้องแก้ไข ก็ยังอยู่เฉยๆ ไม่ต้องการทำอะไรที่ตัวเองไม่คุ้นชิน ไม่ยอมออกจาก comfort zone ของตัวเอง
บางคนบอกว่า "ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา" แต่ผมเพิ่มให้ว่า "เห็นโลงศพก็ไม่ทัน เพราะต้องเผาแล้ว"
ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และกรรมการของ China Medical Board คือ Dr.Lincoln Chen มากล่าวปาฐกถาในงานนี้ แสดงความชื่นชมผลงานด้านสาธารณสุขของไทย แต่เมื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงการแพทย์ระดับสากล หนึ่งในอุปสรรคคือ Tribalism หรือที่ผมเรียกว่า "สัญชาตญาณแห่งการแยกตามเผ่าพันธุ์"
พอเอ่ยถึงคำว่า Tribalism รัฐมนตรีทั้งสามและอธิการบดีทั้งสามต่างก็ร้องเกือบจะพร้อมกัน ต่างกรรมต่างวาระว่า "นั่นแหละปัญหาของไทยเราเลย"
ที่ว่าเป็นปัญหาของไทยเราเลยก็คือ การแยกหมู่แยกเหล่า ต่างคนต่างทำ พวกใครพวกมัน ไม่ยอมประสานกับ "เผ่า" อื่นๆ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพราะยังยึดถือเอาความเป็นพรรคเป็นพวก มองใกล้ไม่มองไกล กลัวว่าหากจับมือกับ "เผ่า" อื่นแล้ว ตนจะหมดอำนาจต่อรองหรือเสียพื้นที่ของตัวเอง โดยไม่ตระหนักว่าพลังที่จะขับเคลื่อนประเทศชาตินั้นจะต้องมาจากการรวมตัวของบุคลากรทุกกลุ่มก้อน ไม่แยกเขาแยกเรา มีเป้าหมายระดับองค์กรและชาติตรงกัน
เหมือนที่เพื่อนคนจีนที่เคยอยู่เมืองไทยมายาวนานบอกผมว่า "คนไทยรักพวกพ้องมาก แต่ไม่รักชาติครับ"
สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ สำหรับทุกวงการไม่มีข้อยกเว้นเป็นวิกฤติที่หนักหนาสากรรจ์ที่สุดในประวัติศาสตร์ การจะฝ่าข้ามพายุร้ายแห่ง technological disruption ครั้งนี้ต้องอาศัยความกล้า ความเด็ดขาด และความเสียสละของทุกคนทุกกลุ่มก้อน
ผมหวังว่าการตั้งวงเสวนาในเวทีต่างๆ และการลงมือทำงานอย่างจริงจัง ไม่เพียงแต่ "คิดนอกกรอบ" หากแต่ต้อง "คิดแบบไร้กรอบ" รวมถึงการแบ่งปันและพร้อมจะฟังความเห็นที่แตกต่างจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยน mindset ของคนทั้งประเทศได้อย่างแท้จริง
ผมถามท่านรัฐมนตรีช่วยศึกษาฯ ว่าท่านคิดว่านักการเมืองที่กำลังอาสามารับใช้ประเทศในการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ มีความเข้าใจวิกฤติและพร้อมจะเป็นหัวหอกในการสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือไม่
ท่านตอบอย่างไม่ลังเลว่า "ผมคิดว่าไม่"
อย่างนี้เรายังไม่ "ตระหนก" กันทั้งประเทศหรือครับ?.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |