วันที่ 21 พ.ย. ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกันแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 27 ประจำปี 2561 ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช
โดยผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 4 รางวัล 2 สาขา คือ 1.สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.นพ.ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์ มีผลงานสำคัญในการศึกษาค้นคว้าและวิจัย จนเป็นผู้นำในการพัฒนาหนึ่งในยาต้นแบบของการรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้าคือ อิมาทินิบ สำหรับการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดซีเอ็มแอล ศ.ด็อกเตอร์แมรี่ แคลร์ คิง เป็นผู้ค้นพบยีนที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิง มีผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมปีละกว่าสองล้านคน และมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคนี้มากถึงสองแสนคนในแต่ละปี
นพ.ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์
ศ.ด็อกเตอร์แมรี่ แคลร์ คิง
2.สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศ.นพ.จอห์น ดี. คลีเมนส์ และศ.นพ.ยอน อาร์. โฮล์มเกรน ทำงานร่วมกันเป็นเวลากว่า 30 ปี ในการศึกษาค้นคว้าวิจัย และพัฒนาวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกิน
ศ.นพ.จอห์น ดี. คลีเมนส์
ศ.นพ.ยอน อาร์. โฮล์มเกรน
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ กล่าวว่า ระยะเวลา 26 ปี ที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลแล้วทั้งสิ้น 79 ราย มีคนไทยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 4 ราย ได้แก่ ศ.นพ.ประสงค์ ตู้จินดา จากการศึกษาผลกระทบของเชื้อไวรัสเด็งกี่ ต่อความพิการของร่างกายเด็กที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก และศ.นพ.หญิงสุจิตรา นิมมานนิตย์ จากการจำแนกความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2539 และนายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย 100% ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคเอดส์ และนายมีชัย วีระไวทยะ ผู้ริเริ่มวิธีการสื่อสารรณรงค์เผยแพร่การใช้ถุงยางอนามัย ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการการสาธารณสุข ประจำปี 2552 และมีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลแล้วต่อมา ได้รับรางวัลโนเบล 5 ราย ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2561 ทั้งสิ้น 49 ราย จาก 25 ประเทศ คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือ ปี2561, 2560, 2559 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา
ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2561 ในวันที่ 31 ม.ค.พ.ศ.2562 เวลา 17.30 น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง โดยในวันที่ 30 ม.ค.พ.ศ.2562 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะผู้ริเริ่มรางวัลอันทรงเกียรติจะเชิญผู้รับพระราชทานรางวัลฯ มาเยือนและแสดงปาฐกถาเกียรติยศในผลงานที่ได้รับด้วย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |