ไบโอไทยพบข้อมูลต่างชาติยื่น 13 คำขอสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชา มี 2 คำขอละทิ้ง เหลือ 11 คำขอ แฉกรมทรัพย์สินฯ ถอนแค่ฉบับเดียว อีก 10 ยังเดินหน้าต่อ แถมกำลังจะได้สิทธิบัตรอีก 2 ขณะที่ ม.รังสิตผวา 3 กลุ่มทุนผูกขาดสวาปาม ด้าน "สนธิรัตน์" แจงยิบทุกอย่างเปิดเผย ตรวจสอบได้
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ถึงกรณีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาประกาศแก้ปัญหาการจดสิทธิบัตรกัญชาว่า การที่นายสนธิรัตน์ออกมาพูดมีการถอนสิทธิบัตรกัญชานั้น จริงๆ แค่เพิกถอน 1 ตัว โดยจากข้อมูลที่ทางเครือข่ายฯ ได้สืบค้นในฐานข้อมูลกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่พอจะหาได้ พบว่าล่าสุดมีต่างชาติมายื่นขอสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชา 13 คำขอ โดยมี 2 คำขอละทิ้ง จะเหลือ 11 คำขอ ปรากฏว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาระบุว่า ถอนสิทธิบัตรกัญชาที่ขัด ม.9 (1) เรื่องสารธรรมชาติในกัญชาจดไม่ได้ ซึ่งมีแค่ 1 คำขอเท่านั้น แต่ที่เหลืออีก 10 คำขอยังเดินหน้าต่อไป ที่สำคัญตนพบว่ามี 2 คำขอที่กำลังจะได้สิทธิบัตร ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องลดอาการปวด และเป็นการยื่นขอสิทธิบัตรเรื่องสารในกัญชาที่เรียกว่า THC
นายวิฑูรย์กล่าวว่า อยากให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาระบุให้ชัดว่า ที่มาขอจดนั้นไม่เกี่ยวกับสารในกัญชา ซึ่งเป็นสารในธรรมชาติจริงๆ เพราะค่อนข้างไม่มั่นใจ และหากให้สิทธิบัตรแล้วจะกระทบต่อนักวิจัยที่พัฒนาสารสกัดกัญชาเพื่อทางการแพทย์หรือไม่ อีกทั้งที่เรากังวลคือ ที่ยังยื่นคำขออยู่นั้น ไม่ขัดกับ ม.9 (1) และไม่ขัดต่อ ม.9 (4) ที่ไม่ให้อ้างสรรพคุณด้วยหรือไม่ รวมไปถึง ม.5 ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ ระบุว่าต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ซึ่งหลายอย่างภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยมีการนำมาใช้อยู่แล้ว ตรงนี้กรมทรัพย์สินฯ ต้องชัดเจน อีกทั้งล่าสุดทราบข่าวมาว่าทางคุณสนธิรัตน์ต้องการหารือร่วมกับกลุ่มนั้นก็ยินดี รอแค่มีการติดต่อมา อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคประชาสังคมต้องเดินหน้าปกป้องสิทธิของคนไทย เพราะกรณีที่เกิดขึ้นชัดเจนว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่มีความพยายามในการปกป้องสิทธิของคนไทย นักวิจัยไทย ถ้าไม่มีการตรวจสอบหรือพบเรื่องนี้ ก็คงเลยตามเลยหรือไม่
นายวิฑูรย์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทางเครือข่ายฯ และทางมหาวิทยาลัยรังสิตได้ทำหนังสือส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้พิจารณาและปกป้องสิทธิคนไทย โดยปฏิรูปกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพราะไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิบัตรกัญชาเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องสิทธิบัตรอื่นๆ รวมทั้งจะเสนอให้นายกฯ พิจารณาแก้ไขตัวร่างกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ที่กำลังผลักดันอยู่ ว่า เปิดโอกาสให้เอกชนคนไทยได้มีสิทธิวิจัยพัฒนาและผลิตเพื่อประโยชน์ของคนไทยได้ด้วย ไม่ควรให้มีการผูกขาดโดยรัฐ
ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงกรณี รมว.พาณิชย์มีคำสั่งให้ยกเลิกคำขอสิทธิบัตรกัญชาว่า การเพิกถอนคำขอสิทธิบัตรกัญชาเพียง 1 คำขอ ยังไม่เป็นที่วางใจ เพราะยังเหลืออีก 8 คำขอ ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด ซึ่ง รมว.พาณิชย์ก็อ้างว่า 8 คำขอนี้เป็นการใช้สารสกัดจากกัญชาที่ไปปนกับยาอื่น แต่เมื่อไม่มีการเปิดเผย ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าจริงหรือไม่ หรือหากจริง ก็ต้องมาดูว่าเป็นการจดในการรักษาโรคอะไร วิธีการใช้ซ้ำกับสิ่งที่ไม่ควรจดสิทธิบัตรหรือไม่ ตรงนี้ยังเป็นความลับ ไม่มีใครทราบ
อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าทางที่ดีควรจะเพิกถอนคำขอออกไปทั้งหมด เพราะที่ผ่านมากัญชายังเป็นยาเสพติด คนไทยยังไม่มีการทดลองใช้สาร THC และ CBD ในมนุษย์เลย เมื่อมีความเหลื่อมล้ำของงานวิชาการ ควรจะต้องยกเลิกคำขอทั้งหมด จะปล่อยให้ต่างชาติจดสิทธิบัตรโดยที่คนไทยยังไม่เคยวิจัยได้อย่างไร และประเทศไทยระบุว่า ในการใช้กัญชาทางการแพทย์มีข้อบ่งชี้เพียง 4 กลุ่มโรค โดยอ้างจากงานวิจัยของเมืองนอกว่าทำได้เท่านี้ ถือว่าเป็นกลุ่มโรคที่แคบมาก แต่กลับปล่อยให้ต่างชาติยื่นคำขอสิทธิบัตรกัญชาเรื่องมะเร็ง แต่คนไทยต้องรออย่างน้อย 5 ปี จากงานวิจัยของภาครัฐ ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร จึงมองว่าต้องเซตซีโรยกเลิกคำขอไปทั้งหมด
นายปานเทพกล่าวว่า นอกจากต่างชาติเดินหน้าจดสิทธิบัตรแล้ว ยังมีอีก 2 เรื่องที่น่ากังวลและต้องติดตาม คือ 1.การแก้ไขกฎหมายยาเสพติดที่แก้โดยให้ระบุว่า เพื่อประโยชน์ของทางราชการ และ 2.ยังไม่ระบุให้แพทย์แผนไทยได้ใช้ ซึ่งต้องมาดูว่าจะแก้กฎหมายออกมาในลักษณะใด เพราะหากแก้กฎหมายเพื่อประโยชน์ราชการ ถามว่าแพทย์แผนไทยจะไปปรุงยาตามคลินิกของแพทย์แผนไทยได้อย่างไร เพราะบางกรณีต้องปรุงสด ปรุงกับน้ำกระสาย หรือต้องเพาะปลูกและทำเดี๋ยวนั้น เพราะมีเวลา มีฤดูกาล มีสูตรที่กำหนดไว้ บางครั้งต้องใช้เป็นช่อ ใบ หรือดอก แต่ถ้ากฎหมายปลดล็อกให้แพทย์แผนไทยได้ จะไม่มีใครผูกขาดสัมปทานกัญชาได้เลย ซึ่งการแก้กฎหมายฉบับ สนช.นี้ ต้องดูว่าจะชิงธงให้ประโยชน์แพทย์แผนไทยอย่างเต็มที่ หรือทำลายแพทย์แผนไทยเพื่อหวังผูกขาด โดยเฉพาะต้องแก้ไขสองคำนี้คือ เพื่อประโยชน์ทางราชการ เป็นเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือไม่ และให้เอกชนทำได้แค่วิจัยและพัฒนา จะรวมถึงการครอบครองและจำหน่ายด้วยหรือไม่
"ถ้าทำไม่ได้ก็แปลว่าธงนี้ยังเป็นเพื่อประโยชน์ของคน 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือต่างชาติที่ทำการจดสิทธิบัตรไว้ล่วงหน้า, กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่กำลังรอให้ผูกขาดโดยภาครัฐ หวังเข้าสัมปทานเหมือนสุราแล้วผูกขาด และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มทุนพลังงานกลุ่มหนึ่งอ้างว่าอยากจะลงทุนเรื่องยารักษาโรคมะเร็ง และมีความปรารถนาอยากร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ แต่ไม่มีใครรู้ว่ากลุ่มทุนนี้คาดหวังเรื่องกัญชาด้วยหรือไม่ ดังนั้น หากให้ผูกขาดโดยราชการ ก็มีโอกาสปล่อยต่ออีกทอดกับ 3 กลุ่มนี้วิ่งเต้นผูกขาดต่อ ถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง"
นายปานเทพกล่าวว่า แพทย์แผนไทยจะต้องได้ใช้กัญชา และไม่ต้องวิจัยแล้ว เพราะวิจัยมาหลายร้อยปีแล้ว และมีการทดลองในมนุษย์จริงมานาน ซึ่งเจตนาขององค์การอนามัยโลกคือ แพทย์แผนโบราณแต่เดิมไม่ต้องวิจัยก็ใช้ได้ ยกเว้นกรณีความเป็นพิษหรือไม่สะอาดแค่นั้น พ้นจากนี้ต้องใช้ได้ ถ้าอ้างวิจัย 5 ปี ที่ทำทีละนิด 4 ตำรับ แต่แพทย์แผนไทยมีกว่า 2,000 ตำรับ การจะทำแบบนี้คือกีดกันไม่ให้แพทย์แผนไทยใช้หรือไม่ ซึ่งหากปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์แบบนี้ เท่ากับขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 55 ซึ่งบอกว่าต้องสนับสนุนส่งเสริมแพทย์แผนไทยสูงสุดหรือไม่
ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีภาคประชาสังคมได้ตั้งข้อสังเกตว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาเตรียมรับจดสิทธิบัตร 2 คำขอ ได้แก่ คำขอเลขที่ 0601002456 และคำขอเลขที่ 0501005232 ว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะ 2 คำขอดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้แจ้งปฏิเสธการจดสิทธิบัตรแล้ว แต่เนื่องจากในกระบวนการจดทะเบียนสิทธิบัตร เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบขั้นการประดิษฐ์อย่างละเอียดแล้ว จะต้องแจ้งผลให้ผู้ยื่นคำขอทราบ และหากผู้ยื่นคำขอไม่เห็นด้วย ก็จะชี้แจงเหตุผล ถ้าผู้ยื่นคำขอไม่ชี้แจง กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะยกเลิกคำขอตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ ในการตรวจสอบคำขอจดสิทธิบัตร ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะเป็นคำขอที่มีสารสกัดจากกัญชาเป็นส่วนประกอบ หรือคำขอจดสิทธิบัตรอื่นๆ โดยที่ผ่านมา มีการพูดถึงคำขอจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชา 11 คำขอ ซึ่งเป็นไปตามข่าว แต่เมื่อมีข้อสงสัย จึงได้สั่งการให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาไปตรวจสอบข้อมูลคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับตำรับยา โดยมีสารสกัดจากกัญชาเป็นส่วนประกอบเพิ่มเติมว่ามีจำนวนเท่าใด ซึ่งได้รับรายงานว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 31 คำขอ
“คำขอสิทธิบัตรที่ผ่านการตรวจสอบเบื้องต้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะประกาศโฆษณาเพื่อเปิดเผยรายละเอียดการประดิษฐ์แก่สาธารณะ ซึ่งประชาชนสามารถเข้าไปตรวจค้นในระบบได้ด้วยตนเองทางเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา และหากต้องการคัดสำเนาคำขอ ก็สามารถมาขอดำเนินการได้ที่กรม การดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าวเป็นที่เปิดเผย ไม่มีการปกปิด และสามารถตรวจสอบได้” นายสนธิรัตน์กล่าว
วันเดียวกัน ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล นายอัครเดช ฉากจินดา ที่ปรึกษายุทธศาสตร์การรณรงค์ขับเคลื่อนกัญชาเสรีประเทศไทย พร้อมภาคีเครือข่ายกลุ่มผู้นิยมพืชกัญชา ราว 30 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้รัฐบาลให้ปลูกเสรีกัญชาเพื่อทางการแพทย์บนผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงคัดค้านการให้สิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับพืชกัญชาแก่บริษัทต่างชาติ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |