ปัดเทแสนล้านหาเสียง


เพิ่มเพื่อน    

    ครม.เท 1.23 แสนล้านบาท ผุดมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐ ข้าราชการบำนาญและผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการมีบ้านเป็นของตัวเอง โฆษกรัฐบาลปัดพัลวันเปล่าแจกดะช่วงใกล้เลือกตั้ง
    นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐ ข้าราชการบำนาญ และผู้มีรายได้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง คิดเป็นวงเงินดำเนินการรวมกว่า 1.23 แสนล้านบาท โดยคาดว่ามาตรการทั้งหมดจะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2561 ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ 0.07% เนื่องจากมาตรการมีกรอบเวลาดำเนินการถึงปี 2562 ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลดีกับภาพรวมเศรษฐกิจได้ดีกว่าปีนี้
    นายลวรณกล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐ มีวงเงินดำเนินการทั้งสิ้น 3.87 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและน้ำประปา ซึ่งจะส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยมีภาระค่าครองชีพลดลง โดยกำหนดให้กรณีค่าไฟฟ้าให้ใช้ไฟฟ้าในวงเงินไม่เกิน 230 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน กรณีน้ำประปา ให้ใช้ได้ในวงเงินไม่เกิน 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน โดยมาตรการดังกล่าวมีผลตั้งแต่ ธ.ค.2561 ถึง ก.ย.2562 รวมระยะเวลา 10 เดือน โดยกลุ่มเป้าหมายสำคัญคือผู้ผ่านคุณสมบัติการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งหมด 14.5 ล้านคน โดยในจำนวนนี้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คิดเป็น 8.2 ล้านครัวเรือน โดย 1 ครัวเรือนใช้ได้เพียง 1 สิทธิเท่านั้น ในส่วนนี้มีวงเงินดำเนินการทั้งสิ้น 2.7 หมื่นล้านบาท
    2.มาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในช่วงปลายปีให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มเติมในเดือน ธ.ค.2561 เป็นเงิน 500 บาทต่อคน (ได้รับครั้งเดียว) โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านคน โดยจะใช้วงเงินดำเนินการ 7.25 พันล้านบาท 
    3.มาตรการช่วยเหลือค่าเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย จำนวน 1 พันบาทต่อคน (ได้รับครั้งเดียว) โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือผู้มีรายได้น้อยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 3.5 ล้านคน ระยะเวลาดำเนินการ ธ.ค.2561 ถึง ก.ย.2562 ใช้วงเงินดำเนินการทั้งสิ้น 3.5 พันล้านบาท
    4.มาตรการช่วยเหลือค่าเช่าบ้านสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย จำนวน 400 บาทต่อคนต่อเดือน ระหว่างเดือน ธ.ค.2561 ถึง ก.ย.2562 สำหรับผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการ ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 2.2 แสนคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2.3 แสนคนในเดือน ก.ย.2562 โดยใช้วงเงินดำเนินการทั้งสิ้น 920 ล้านบาท    
    ขณะที่นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบแนวทางการปรับปรุงแก้ไขพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ โดยกำหนดให้ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดตามข้อบังคับของกระทรวงกลาโหม ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับบำนาญปกติ บำนาญพิเศษ เพราะเหตุทุพพลภาพ บำนาญพิเศษหรือบำนาญตกทอดในฐานะทายาท ผู้อุปการะ หรือผู้อยู่ในอุปการะ ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญรวมทุกประเภท และเงินช่วยค่าครองชีพ ทั้งหมดต่ำกว่าเดือนละ 1 หมื่นบาท ให้ได้รับเงินช่วยค่าครองชีพเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่ขาดไปให้ครบ 1 หมื่นบาท
    ทั้งนี้ คาดว่าจะมีข้าราชการที่อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว จำนวน 5.27 หมื่นคน คิดเป็นวงเงินงบประมาณดำเนินการ 559 ล้านบาทต่อปี หรือ 46 ล้านบาทต่อเดือน
    “เมื่อ 2-3 ปีก่อน ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาท ดังนั้นเงินบำเหน็จบำนาญและเงินช่วยค่าครองชีพที่รัฐบาลกำหนดจึงอยู่ที่ 9 พันบาท แต่ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นเป็น 330 บาทต่อวัน ครม.จึงเห็นชอบขยายเงินในส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 1 หมื่นบาทต่อเดือน เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น” นายณัฐพรกล่าว
    นายณัฐพรกล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ โดยกำหนดให้ผู้รับบำนาญที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ให้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกิน 5 แสนบาท กรณีมีการใช้สิทธิไปแล้ว ให้สามารถขอรับสิทธิในส่วนที่ไม่เกินส่วนของผู้นั้น แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดให้ผู้รับบำนาญที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ ให้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกิน 2 แสนบาท และผู้รับบำนาญที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ให้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกิน 4 แสนบาท แต่หากใช้สิทธิไปแล้ว ให้รับตามสิทธิในส่วนที่ไม่เกินสิทธิของผู้นั้น แต่ไม่เกิน 4 แสนบาท
    อย่างไรก็ดี คาดว่าจะมีผู้รับบำนาญที่เข้าเกณฑ์ประมาณ 1.59 แสนราย โดยมีวงเงินที่ใช้ในการดำเนินการทั้งสิ้น 2.47 หมื่นล้านบาท
    นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้ ธอส.จัดทำโครงการบ้านล้านหลังภายใต้วงเงินรวม 6 หมื่นล้านบาท ให้ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มคนวัยทำงานหรือผู้ที่กำลังเริ่มต้นสร้างครอบครัว รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ มีบ้านอยู่อาศัย โดยวงเงินแบ่งเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับลูกค้ารายย่อย 5 หมื่นล้านบาท สำหรับซื้อบ้านไม่ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ตั้งวงเงินกู้ไว้ 2 หมื่นล้านบาท ให้ผ่อนนานถึง  40 ปี อัตราดอกเบี้ย แบ่งเป็นกรณีรายได้ไม่เกิน 2.5 บาท/คน/เดือน อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-ปีที่ 5 คงที่ 3.00% ต่อปี กรณีรายได้เกิน 2.5 หมื่นบาท/คน/เดือน ตั้งวงเงินกู้ไว้ 3 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-ปีที่ 3 คงที่ 3.00% โดยทั้ง 2 กรณีเงินกู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระ 3 ปีแรกเริ่มต้นเพียง 3.8 พันบาท
    นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในมาตรการช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงการอนุมัติโครงการเพื่อผู้สูงอายุ รวม 86,994 ล้านบาท จนถูกมองหวังผลเลือกตั้งว่า หลายโครงการไม่ได้เพิ่งมาคิดและทำในวันนี้ เพราะมีกระบวนการสอบถามความเห็นจากประชาชน ซึ่งใช้เวลามาพอสมควร แต่มาประจวบเหมาะกับเวลาช่วงสิ้นปีพอดี  
    "ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง เพราะรัฐบาลมีตัวเลขผู้สูงอายุและผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ซึ่งที่แล้วมายังไม่มีรัฐบาลใดออกนโยบายส่งตรงไปยังผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือด้านการเดินทาง การใช้ชีวิต การรักษาพยาบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ระบุว่าในอนาคต ไม่ว่ารัฐบาลชุดใดเข้ามา ควรนำแนวทางนี้ไปปฏิบัติ เพราะถือว่าตอบรับสังคมผู้สูงวัยในอนาคต นอกจากนี้ยังเห็นประชาชนมีภาระต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากในวงปีใหม่ จึงได้ให้ 500 บาท สำหรับผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่" นายพุทธิพงษ์ กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"