อดีตกรรมการ ป.ป.ช.อัดพวกลาออกเลี่ยงยื่นทรัพย์สิน เพราะกลัวชาวบ้านรู้ ชี้ข้ออ้าง กก.มหาวิทยาลัยไร้อำนาจ-เบี้ยประชุมน้อยฟังไม่ขึ้น เชื่อเปิดเผยยันผัวเมียทำวงแตก แต่ผงะเมื่อถูกถามเคส อ.มีชัยไม่ขอก้าวล่วง ขณะที่กระทรวงการคลังดึง 96 โครงการ 53 หน่วยงานร่วม "โครงการข้อตกลงคุณธรรม” โวประหยัดงบ 6.8 หมื่นล้านบาท พร้อมปลุกวัฒนธรรม“ตื่นรู้ สู้โกง”
เมื่อวันที่ 20 พ.ย. นายประสาท พงษ์ศิวาภัย อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีประกาศของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 1 พ.ย.61 และจะมีผลบังคับในวันที่ 2 ธ.ค.61 นี้ ว่าในฐานะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาหลักการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.... ในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบและธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.... ของ สนช. ตนเห็นว่าประกาศ ป.ป.ช.ดังกล่าวที่ให้สถาบันอุดมศึกษาในสังกัดของรัฐและสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการมหาวิทยาลัย อธิการบดีและรองอธิการบดี ยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินนั้น เป็นเรื่องที่ควร สมเหตุสมผลแล้ว เนื่องด้วยเหตุผลคือ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง นั่นหมายถึงกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ ถือเป็นคำเฉพาะตามกฎหมาย ระบุชัดเจนว่ามีหน้าที่ต้องยื่นตามมาตรา 102 ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาถือว่าเป็นหน่วยงานอื่นของรัฐ
"นายกสภาและกรรมการมหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้าง มีอำนาจในการบริหารงานบุคคล พิจารณาแต่งตั้งถอดถอนนายกสภาและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อธิการบดี ศาสตราจารย์และศาสตราจารย์พิเศษ อธิการฯ และรองอธิการฯ ฯลฯ มีอำนาจในการบริหารสำนักงาน มีหน้าที่ออกข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศของมหาวิทยาลัยได้ เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลและการบริหารการเงิน การพัสดุและทรัพย์สินมหาวิทยาลัย อนุมัติในการจัดตั้งหรือรวมยุบเลิกส่วนงานภายในได้ ถือเป็นอำนาจใหญ่ แล้วจะมาบอกว่าไม่มีอำนาจได้อย่างไร หรือจะมาบอกว่ามีเบี้ยประชุมไม่เท่าไรต่อเดือนคงไม่ได้"
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในเมื่อมีเหตุผลสมควรยื่นแล้วทำไมนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.จึงลาออก นายประสาทกล่าวว่า ในส่วนกรณีของนายมีชัยนั้น คงไปตอบแทนไม่ได้ ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล ขอไม่ก้าวล่วง
นายประสาทยังกล่าวถึงการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินในกฎหมายใหม่นี้ ถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมาก โดยเฉพาะในมาตรา 106 ที่ระบุถึงการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณะของตำแหน่งที่ต้องยื่นคือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงาน ซึ่งหมายถึงนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยด้วย ดังนั้นจึงทำให้หลายคนเกิดความกลัวที่จะต้องยื่น และกลัวที่จะถูกเปิดเผย
"มาตรา 106 นี้เป็นดาบที่สอง ที่ ป.ป.ช.ถือเป็นหมัดเด็ด เปิดมาก็วงแตกทันที เพราะหลายคนยังไม่รู้ว่ามาตรา 106 นั้นแรงกว่ามาตรา 102 เสียอีก นอกจากคนกลัวที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินแล้ว ยังกลัวที่จะต้องถูกเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย เพราะในการเปิดเผยนั้น ทั้งของตัวเองและคู่สมรส และคู่ที่อยู่กินกันฉันสามีภรรยา ทำไมเวลาที่จะมีผลกระทบถึงตัวเองโดยตรงกลับโวยวายไม่อยากยื่นหรือแสดงบัญชีทรัพย์สิน แล้วจะอยู่เหนือการตรวจสอบได้อย่างไร ในเมื่อเราจะต้องทำอย่างเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ดังนั้นประกาศของ ป.ป.ช.ดังกล่าวผมถึงเห็นด้วย เพราะ ป.ป.ช.ก็มองแล้วว่าตำแหน่งใดที่จะสุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจและหาผลประโยชน์ได้ ซึ่งเรื่องนี้ ป.ป.ช.ได้พิจารณาจากสถิติเรื่องร้องเรียนที่เข้ามาด้วย” นายประสาทกล่าว
ขณะที่กระทรวงการคลังร่วมมือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจัดสัมมนา “โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact Conference 2018)” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักการและแนวทางดำเนินงานตามข้อตกลงคุณธรรม พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้สังเกตการณ์และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า สำหรับโครงการที่เข้าร่วมจัดทำข้อตกลงคุณธรรมตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2562 มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่นำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้จำนวนทั้งสิ้น 96 โครงการ จาก 53 หน่วยงาน ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท สามารถประหยัดงบได้ 6.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันมีผู้สังเกตการณ์อยู่ในบัญชีรายชื่อ จำนวนทั้งสิ้น 201 ราย
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ในฐานะเป็นตัวแทนภาคประชาสังคม มีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สังเกตการณ์ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้ ความสามารถ มีความอิสระและเป็นกลาง จากสภาวิชาชีพต่างๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ ตั้งแต่ขั้นตอนร่าง TOR จนถึงการส่งมอบงาน และเพื่อเป็นการวางรากฐานและสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในโครงการข้อตกลงคุณธรรม องค์กรยังได้มีส่วนร่วมสำคัญในการผลักดันให้บรรจุข้อตกลงคุณธรรมเข้าไว้ใน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ 2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.2560 ที่ผ่านมา และขอบคุณหน่วยงานที่ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง ช่วยให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า สร้างวัฒนธรรมการ “ตื่นรู้ สู้โกง” ไม่ยอมให้ใครแสวงหาประโยชน์จากการใช้งบประมาณของภาครัฐ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |