ขณะที่มีข่าวร้อนๆ เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวที่จะปลดล็อกให้ใช้ “กัญชา” เพื่อการแพทย์ได้ ผมไปดูการปลูก “กัญชง” มาครับ
คำว่ากัญชงไม่มีในภาษาทางการ มีแต่ “เฮมพ์” หรือ Hemp ซึ่งเป็นตระกูล Cannabis เหมือนกับกัญชาแต่มีปริมาณสารเสพติดหรือ THC ต่ำกว่ากัญชามาก จึงไม่เข้าข่ายยาเสพติดอันตราย แต่ก็ยังอยู่ในการควบคุม
กัญชงถือเป็น Cannabis ชนิดย่อยของพืชกัญชา
ผมไปเยี่ยมสถานีเกษตรหลวงปางดะ ที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ที่วิจัยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์กัญชงเพื่อนำมาผลิตสินค้าที่ใช้เส้นใยเพราะมีคุณภาพดี มีความยืดหยุ่น แข็งแรง และทนทานสูง
ที่กรุณาอธิบายที่มาที่ไปของกัญชงให้ผมฟังคือ ดร.สริตา ปิ่นมณี นักวิจัย 5 และ ดร.รัตญา ยานะพันธุ์ นักวิจัยแห่งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
พอมีเรื่องกัญชาออกมาเป็นข่าวร้อนๆ ก็มี “นักฉวยโอกาส” แอบไปถ่ายรูปกับไร่กัญชงไปหลอกคนอื่นให้มาลงทุนกับพวกเขา จนเจ้าหน้าที่สถานีเกษตรฯ แห่งนี้ต้องจัดการปิดรั้วห้ามคนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามากระทำการอันน่าเชื่อได้ว่าจะเป็นการสร้างเรื่องบิดเบือนให้เสียหาย
ดร.สริตาเล่าว่าก่อนจะมีการวิจัยกัญชงอย่างเป็นทางการนั้น เฮมพ์ถูกจัดเป็นพืชเสพติดเช่นเดียวกับกัญชา ทำให้เกิดปัญหามีการจับกุม ชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์จากกัญชงได้
ทั้งๆ ที่กว่า 30 ประเทศทั่วโลกผลิตเฮมพ์เชิงอุตสาหกรรมและพาณิชย์อย่างเป็นกิจจะลักษณะ
ต่อมาในปี พ.ศ.2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชเสาวนีย์ว่า
“สมควรศึกษาและส่งเสริมให้เกษตรกรชาวเขาปลูกกัญชงเพื่อใช้เส้นใยผลิตเครื่องนุ่งห่มและจำหน่ายเป็นรายได้...”
คณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 1 มีนาคม 2548 มอบให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และมูลนิธิโครงการหลวงเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานจนถึงวันนี้
เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนของชื่อพืชทั้งสองชนิด หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวงในขณะนั้นได้เปลี่ยนชื่อจากกัญชงมาใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “เฮมพ์” (Hemp)
ถึงปี 2554 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงได้รับการขึ้นทะเบียนพันธุ์เฮมพ์ที่มีปริมาณสารเสพติด THC ต่ำจากกรมวิชาการเกษตร 4 พันธุ์ และนำไปขยายเพื่อใช้ต่อยอดการวิจัยในทุกๆ ด้าน รวมทั้งมีระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสม
แต่การปลูกเฮมพ์ยังต้องอยู่ภายใต้ระบบควบคุม มีข้อปฏิบัติและข้อบังคับต่างๆ ให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ชาวม้งปลูกเฮมพ์เพื่อเอาเส้นใยทอเสื้อผ้าเก็บไว้สวมใส่วันปีใหม่ และตามความเชื่อดั้งเดิมชาวม้งเอาเส้นด้ายที่ทำจากเส้นใยเฮมพ์มัดมือให้เด็กเกิดใหม่
ชาวม้งที่เสียชีวิตแล้วศพต้องใช้เครื่องแต่งกาย รองเท้าและเชือกมัดศพที่ทำจากเฮมพ์
หลายประเทศใช้เฮมพ์ทำเสื้อเกราะกันกระสุน และใช้เป็นวัสดุธรรมชาติเพื่อผลิตชิ้นส่วนตกแต่งในรถยนต์ราคาแพง
การวิจัยพบว่ายังสามารถนำมาสกัดน้ำมันเพื่อผลิตเป็นอาหารสุขภาพได้ด้วย
นอกจากนี้เฮมพ์ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำมาใช้ซ้ำได้ อีกทั้งยังนำมาทำพลาสติกชีวภาพ (biodegradable plastics) ทำอาหาร น้ำมันซึ่งเชื่อว่ามีสาร anti-oxidant สูงอีกด้วย
ปริมาณสาร THC ของเฮมพ์กำหนดไว้ต่ำกว่า 1.0% ขณะที่กัญชามีสารนี้เกิน 10% ดังนั้นจึงเป็นพืชคนละตัวแม้จะอยู่ในตระกูลเดียวกันก็ตาม
เฮมพ์ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้มีพันธุ์ RPF1, RPF2, RPF3 และ RPF4 มีปริมาณสาร THC ต่ำกว่า 0.3% ดำเนินการผลิตในพื้นที่ของเกษตกรในพื้นที่ สวพส. หรือมูลนิธิโครงการหลวง มีเจ้าหน้าที่ควบคุมให้ได้เมล็ดพันธุ์ตามมาตรฐาน สำหรับจ่ายแจกให้เกษตรกรใช้เป็นพันธุ์ปลูกต่อไป
อุปสรรคสำคัญของการพัฒนาเฮมพ์ในประเทศไทยคือกระบวนการขออนุญาตของหน่วยงานรัฐที่มีสิทธิ์ขอปลูก
เพราะต้องผ่านคณะกรรมการระดับอำเภอ ผ่านคณะกรรมการระดับจังหวัด เข้าคณะกรรมการอาหารและยา และต้องผ่านการอนุมัติของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข
รวมระยะเวลาขออนุญาตเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการวางแผนปลูกเพื่อพัฒนาและวิจัย
ยิ่งถ้าหากจะผลักดันให้กัญชงเป็นพืชเพื่อการพาณิชย์ สามารถเข้าสู่ตลาดโลกได้ หากกฎระเบียบยังเป็นเช่นนี้อยู่ก็ยังห่างจากความจริงมากมายทีเดียว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |