ประกวดว่าว"125 ปี สภากาชาดไทย" ร้อยดวงใจส่งต่อการให้ที่งดงาม


เพิ่มเพื่อน    

 

ว่าวนกยูงของกรุงเทพมหานคร เตรียมไปโชว์งานกาชาดที่สวนลุมพินี

 

    "ว่าว" เป็นของเล่นของคนสมัยก่อนที่มีมาแต่โบร่ำโบราณ จากการศึกษาตำราหลายเล่มถึงความเป็นมาของว่าวในอดีต ระบุว่า ว่าวไม่ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อการละเล่นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะบางยุคสมัยได้มีการใช้ว่าวเป็นกลอุบายในการสงครามด้วย พอมาถึงยุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ความนิยมเล่นว่าวได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แพร่หลายกันไปตามเมืองใหญ่เมืองเล็ก จนนำมาสู่การประกวดแข่งขันประดิษฐ์และเล่นว่าวอย่างจริงจังในงานประเพณีต่างๆ 
    ในงานกาชา ยุคแรกๆ ประมาณปี พ.ศ.2467 ถือเป็นงานมหรสพการกุศลที่มีการเริ่มต้นการแข่งขันว่าวครั้งแรก โดยมีพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) เป็นนายสนามว่าว จัดที่ท้องสนามหลวง มีผู้เข้าร่วมแข่งขันจำนวนมาก ซึ่งนับเป็นเวลาหลายปีแล้วที่การแข่งขันว่าวได้เลือนหายไป 
    แต่ในงานกาชาดประจำปี 2561 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ณ สวนลุมพินี  ในวันที่ 23 พ.ย.นี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสภากาชาด ได้ย้อนรำลึกเหตุการณ์และบรรยากาศการจัดมหรสพแบบวันวานอีกครั้ง ซึ่งนอกจากจะมีการจำลองบรรยากาศการรับประชาสมาชิก ความงดงามตระการตาของริ้วขบวนรถแห่กาชาด การแต่งกายตามเครื่องแบบชุดกาชาดที่หาชมได้ยากจนถึงชุดในปัจจุบันแล้ว ก็ยังนำเรื่องของว่าวให้มาอยู่ในงานกาชาดอีกครั้ง โดยได้จัดประกวดการประดิษฐ์ว่าวภายใต้แนวคิด “125 ปี สภากาชาดไทย ร้อยดวงใจส่งต่อการให้ที่งดงาม” 

 

ว่าวที่สมาคมภริยาข้าราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ส่งประกวด


    นางจันทร์ประภา วิชิตชลชัย รองผู้อำนวยการสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย กรรมการและเลขานุการอำนวยการจัดงานกาชาดประจำปี 2561 กล่าวว่า การแข่งขันประกวดทำว่าวในงานกาชาดปีนี้จัดที่สวนลุมพินี ในโอกาสเฉลิมฉลองครบ 125 ปี สภากาชาดไทย ในบรรยากาศของการย้อนวันวาน ได้ดึงกิจกรรมที่เคยมีในอดีตให้กลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะการประกวดจัดทำว่าว ที่เชื่อกันว่าเคยมีในงานกาชาดมานานแล้ว และในปี พ.ศ.2467 ถือว่าเป็นต้นกำเนิดการแข่งขันว่าวครั้งแรก โดยการประกวดครั้งนั้น ว่าวแต่ละตัวมีการตกแต่งออกแบบโดยการนำเสนอพันธกิจหลักของสภากาชาดไทย ด้วยการอนามัย การบรรเทาทุกข์ต่างๆ งานกาชาดตอนนั้นหารายได้บำรุงสภากาชาดไทยได้ถึง 5,045.82 บาท จึงนับเป็นการริเริ่ม ส่งเสริม และสร้างสรรค์เกี่ยวกับว่าวไทยจนเป็นประเพณีสืบทอดต่อกันมา 
    สำหรับปีนี้มีว่าวที่ส่งเข้าประกวด 23 ตัว จาก10 หน่วยงาน อาทิ กรุงเทพมหานคร, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้, บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เป็นต้น ซึ่งได้มีคัดเลือกว่าวที่ได้รับรางวัลชนะเลิศไปเมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยว่าวจุฬาของกระทรวงแรงงานได้รับรางวัลชนะเลิศ รับโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปนายิกาสภากาชาดไทย ส่วนว่าวของกระทรวงแรงงานมีความโดดเด่นของสีสันสวยงาม ตรงกลางของว่าวโดดเด่นด้วยหัวใจดวงโตสีขาว แดง น้ำเงิน สีของธงชาติไทย ด้านล่างหัวใจเป็นมือสีแดงที่กำลังอุ้มประคองหัวใจเอาไว้ ซึ่งว่าวตัวนี้แม้ว่าเจ้าของผลงานจะไม่ได้บอกคอนเซ็ปต์ในการประดิษฐ์ แต่ก็พอจะคาดเดาได้ว่าเป็นการสื่อถึงภารกิจของสภากาชาดที่คอยโอบอุ้ม ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ 

ว่าวของกระทรวงทรัพยากรฯ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้ารางวัลชมเชย

    ส่วนว่าวที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง เป็นของกรุงเทพมหานคร ที่ทำ "ว่าวนกยูง" ขึ้นมาในแนวคิด ว่าวนกยูง มีรูปแบบคล้ายกับว่าวนกทั่วไปของภาคใต้ ความสวยงามโดดเด่นอยู่ที่ส่วนหาง ซึ่งออกแบบคล้ายกับหางนกยูงรำแพน เปรียบเสมือนการแผ่ขยายการให้ที่งดงามไปทั่วประเทศ มีหางว่าวเป็นจุดเด่นและเอกลักษณ์ อีกทั้งสีสันและลวดลายก็สวยงาม เป็นส่วนสำคัญในการยกตัวว่าวลอยขึ้นสู่ฟ้า ทำให้ว่าวมีความรวดเร็ว แม่นยำ และแข็งแรง ซึ่งว่าวนกยูงนี้ได้นำแนวคิดและนำสัญลักษณ์ของสภากาชาดไทยมาสื่อความหมายถึงหัวใจของการทำงาน ตั้งแต่สัญลักษณ์กาชาดบนตัวว่าว 125 ดวง มาประดับบริเวณจุดตัดของโครงสร้างตัวว่าว สัญลักษณ์หัวใจบริเวณตรงกลางว่าวที่รายล้อมด้วยสัญลักษณ์กาชาด 125 ดวง และสัญลักษณ์อื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกับสภากาชาด
    ขณะที่ว่าวรองชนะเลิศอันดับที่สอง ได้แก่ ว่าวกล่องกาชาดของ สมาคมภริยาข้าราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ที่สื่อความหมายหลายประการรวมกัน เช่น การอยู่ในแผ่นดินรัชกาลที่ 10 สัญลักษณ์ 150 ปี รูปหัวใจสีแดง และรวมความเป็นมาของสภากาชาดไทยผ่านสัญลักษณ์บนตัวว่าว และมีรางวัลชมเชยสองรางวัล ได้แก่ ว่าวของกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และว่าวของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

สัญญา พุทธเจริญลาภ สมาคมนักบินว่าว หนึ่งในผู้ตัดสินการประกวดว่าวครั้งนี้ 
 

    นายสัญญา พุทธเจริญลาภ สมาคมนักบินว่าวแห่งประเทศไทย ได้กล่าวขณะเป็นกรรมการตัดสินว่า ว่าวที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมดไม่ได้มีแค่ว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ที่เป็นที่รู้จักกันดี แต่ยังมีว่าวรูปทรงแปลกตา เป็นแบบกล่องๆ ซึ่งเป็นว่าวที่เป็นที่นิยมอย่างมากในต่างประเทศ ส่วนว่าวโบราณของไทยถือเป็นของเล่นชิ้นดีสำหรับคนไทยสมัยก่อน ในสมัยนี้ก็ยังเป็นที่นิยมเล่น แต่มีให้เห็นแค่ในต่างจังหวัด ซึ่งว่าวของไทยแม้จะมีลักษณะคล้ายกัน แต่บางส่วนยังมีการประดิษฐ์ขึ้นด้วยวิธีและเทคนิคต่างกัน ตามวัสดุอุปกรณ์ของแต่ละท้องถิ่น ต้องสังเกตให้ดีๆ     อย่างไรก็ตาม ว่าวที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมดจะถูกนำไปจัดแสดงในกาชาด 9 วัน 9 คืน ณ บริเวณสวนลุมพินี และมีกิจกรรมอื่นๆ อาทิ การจัดนิทรรศการว่าว 4 ภาค, กิจกรรม DIY การทำว่าวจากวัสดุธรรมชาติ, การนำว่าวต่างๆ ขึ้นโชว์บนท้องฟ้าและจัดพื้นที่ให้ประชาชนได้ทดลองนำว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้า, การระบายสีที่ตัวว่าว โดยมีการตกแต่งสถานที่เป็นอุโมงค์ว่าว Landmark สำหรับถ่ายภาพ และการจำหน่ายว่าวชนิดต่างๆ เป็นที่ระลึก.
    

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"