วันที่ 20 พ.ย. ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีการแถลงข่าวสรุปผลการสอบสวนของคณะอนุกรรมการพิจารณาข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียนว่าถูกปฏิเสธการรักษาและมีการให้บริการทางการแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐานกรณีสาวถูกสามีสาดน้ำกรดใส่หน้า โดย นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ กล่าวว่า ในหลักปฏิบัติต้องให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่ง สบส.ได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ รพ.พระราม2 เพื่อรวบรวมข้อมูลระหว่างเกิดเหตุ ทั้งเอกสารทางการแพทย์ ภาพจากกล้องวงจรปิด และสอบปากคำเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล เพื่อนำเสนอแก่คณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ที่แต่งตั้งขึ้นเพื่อทำการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการ 15 คนและมีการประชุมสรุปผลเมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา ตั้งแต่เวลา 13.00 -19.00 น. โดยมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการของ รพ. พระราม 2 และรพ.บางมด ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งที่ 2 ที่มีความเกี่ยวข้อง ซึ่งตั้งแต่วันที่เกิดเรื่องคือวันที่ 9 พ.ย.-19พ.ย.ใช้เวลาพิจารณาทั้งหมดเพียง 10 วัน ซึ่งผลสรุปของคณะกรรมการทางกองกฎหมาย ได้ส่งมาเพื่อให้ตนพิจารณาในช่วงเช้าที่ผ่านมามี 5 กรณี ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541
1.กรณีให้พยาบาลวิชาชีพ เป็นผู้ตรวจประเมินอาการผู้ป่วยและให้การรักษาเบื้องต้น โดยไม่มีการรายงานแพทย์ ซึ่งทางคณะกรรมการมีมติว่าอาจจะเข้าข่ายการกระทำผิดในเรื่องไม่มีการควบคุมและดูแล มิให้ผู้ประกอบวิชาชีพในสถานประกอบวิชาชีพ ผิดไปจากสาขาที่ขออนุญาต ในการลงโทษนั้นเข้าข่ายผิดมาตรา34(1) (2)ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท โดยคณะอนุกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยจะมีการดำเนินคดีในชั้นศาลต่อไปเนื่องจากมีโทษจำคุก โดยผู้ที่จะถูกดำเนินคดีคือ ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล
2.กรณีที่เมื่อได้รับรายงานแล้ว จากการสอบถามพยาบาลที่ให้การตรวจรักษาแล้วได้รายงานผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ผู้ดำเนินการได้สั่งการให้รับผู้ป่วยไว้นอน รพ. จึงมีการสรุปว่าเมื่อผู้ดำเนินการสั่งให้รับผู้ป่วยไว้เป็นผู้ป่วยใน แสดงว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ก่อนที่จะนำผู้ป่วยไปนอนที่ รพ. ตามข้อสั่งการ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ ทาง คณะกรรมการมีมติว่าอาจจะเข้าข่ายการไม่ควบคุมดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในสถานพยาบาลปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งเข้าข่ายหรือน่าจะมีความผิด ตามมาตรา34(2) ซึ่งจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท มติของคณะอนุกรรมการให้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อนำไปสู่กระบวนยุติธรรม ซึ่งผู้ที่จะถูกดำเนินคดีก็คือผู้ดำเนินการสถานพยาบาลเช่นเดียวกัน
3. กรณีไม่มีแพทย์ให้การช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วย เพื่อคัดแยกระดับความฉุกเฉินตามมาตรฐานที่มีการกำหนดไว้ ซึ่งกรณีนี้ก็อาจจะเข้าข่ายทำผิดตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขและ พ.ร.บ.สถานพยาบาล ตามาตร 35 (3) และ (4) มีอัตราโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ซึ่งกรณีนี้อนุกรรมการมีมติให้มีการเปรียบเทียบปรับ ผู้ที่จะถูกลงโทษในกรณีนี้คือ ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลกับผู้ดำเนินการสถานพยาบาล
4.กรณีไม่ให้การช่วยเหลือดูแลแก่ผู้ป่วยที่อยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน อาจจะเข้าข่ายผู้ได้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการมิได้ควบคุมดูแลให้การรักษาดูแลแก่ผู้ป่วยตามมาตรา 33 / 1 ซึ่งอัตราโทษเข้าได้กับมาตรา36วรรค 1 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2ปี และปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท มติกรรมการให้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ และต้องส่งศาลเพื่อให้มีการพิจารณากับผู้กระทำความผิดคือผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลกับผู้ดำเนินการสถานพยาบาลต่อไป
และ5.กรณีที่เมื่อได้รับการช่วยเหลือเยียวยาแล้ว และอ้างว่าเป็นความต้องการของผู้ป่วยที่ต้องการไปรักษาตัวใน รพ.แห่งที่2 ที่มีสิทธิ์ประกันสังคมอยู่ จะเข้าข่ายการส่งต่อโดยไม่เหมาะสม ซึ่งอาจจะมีความผิดตามกฎหมายที่กำหนด ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท ตามมาตรา 36 (3) คณะกรรมการมีมติให้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ
นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า จะเห็นว่ามีการให้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ 4 กรณี และมี 1 กรณีที่ให้มีการเปรียบเทียบปรับ ซึ่งเราได้นำมติเข้าสู่คณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ ขณะนี้กำลังประชุมกันอยู่ เพื่อให้มีมติว่าจะปรับเป็นเงินเท่าไร เพื่อส่งให้กับคณะกรรมการสอบสวนต่อไป สรุปคือมติโดยรวมของคณะอนุกรรมการให้มีการแจ้งความร้องทุกข์ทั้งหมดทั้งคดีเปรียบเทียบปรับและคดีที่ต้องจำคุกเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งตนจะได้ให้ความเห็นและให้ดำเนินการตามมติของคณะกรรมการเพื่อให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป ซึ่งพนักงานสอบสวนจะเริ่มเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบสวนและส่งต่อให้พนักงานอัยการมีมติต่อไปว่าจะมีการฟ้องร้องประเด็นใดบ้าง และเมื่อเป็นที่สิ้นสุดศาลยุติธรรมจะเป็นผู้ให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งการที่ต้องมีกระบวนการยุติธรรมมารองรับเพราะหากให้ สบส.เป็นผู้พิจารณาลงโทษฝ่ายเดียว อาจใช้เพียงดุลยพินิจของเรา ซึ่งอาจจะไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหายได้ อย่างไรก็ตาม อีกกรณีคือกรณีที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสถานพยาบาล คือ กรณีพยาบาลที่ได้ให้การรักษาและให้การยอมรับว่ามิได้รายงานแพทย์เองจะเข้าข่ายกรณีจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพที่ไม่ได้เป็นไปตามาตรฐานที่กำหนด ซึ่งทาง สบส.จะได้มีการส่งเรื่องนี้ต่อไปยังสภาการพยาบาลต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |