จีดีพีไตรมาส3วูบแค่3.3% เหตุส่งออก-ท่องเที่ยวลด


เพิ่มเพื่อน    

  สภาพัฒน์เผยจีดีพีไตรมาส 3/61 วูบโต 3.3% เหตุส่งออก-ท่องเที่ยวลดลง พร้อมปรับจีดีพีปีนี้โตลดลงเหลือ 4.2% ห่วงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีนยังเป็นปัจจัยเสี่ยง ส่วนสถานการณ์เลือกตั้งปีหน้ายังประเมินไม่ได้
    นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2561 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ขยายตัว  3.3% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวถึง 4.6% เนื่องจากการส่งออกชะลอลงเติบโตเพียง 2.6%  ชะลอลงจากการขยายตัว 12.3% ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน โดยกลุ่มสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าลดลงคือ แผงวงจรรวมและชิ้นส่วนอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ยางพารา โดยตลาดสหรัฐอเมริกา จีน และออสเตรเลียปรับตัวลดลง
    อย่างไรก็ตาม สำหรับรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 474,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง  0.5% ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 13.7% ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีสัดส่วนถึง  27% และนักท่องเที่ยวยุโรป รัสเซียมาเที่ยวไทยน้อยลง โดยเชื่อว่าจีดีพีไตรมาส 4/61 จะมีทิศทางดีขึ้นกว่าไตรมาส 3 โดยเชื่อว่ารัฐบาลจะฟื้นความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีนให้กลับมาท่องเที่ยวไทยเหมือนเดิม ด้วยการออกแผนกระตุ้นท่องเที่ยว 4 มาตรการ เช่น การฟรีวีซ่านักท่องเที่ยว 21 ประเทศ
    "เศรษฐกิจโลกปีหน้าขยายตัวชะลอลง ดังนั้นคงต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศ ในปีหน้าการบริหารนโยบายเศรษฐกิจยังต้องเน้นการขยายตัวการท่องเที่ยว เนื่องจากปีนี้ได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่น  ขณะนี้รัฐบาลพยายามผลักดันดึงนักท่องเที่ยวกลับมา ล่าสุดออกมาตรการฟรีวีซ่ากระตุ้นการท่องเที่ยว  เพื่อจะเร่งฟื้นฟูตลาดนักท่องเที่ยวจีนให้กลับมาเป็นปกติ คาดว่าปีนี้นักท่องเที่ยวอยู่ที่ 38.05 ล้านคน รายได้จากการท่องเที่ยว 2.05 ล้านล้านบาท คาดว่าปีหน้าขยายตัว 39.8 ล้านคน รายได้จากการท่องเที่ยว 2.24 ล้านล้านบาท" นายทศพลกล่าว
    อย่างไรก็ตาม ส่วนอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2561 สศช.ปรับลดคาดการณ์ลงจากโต  4.5% มาอยู่ที่เติบโต 4.2% หรืออยู่ที่กรอบล่างของคาดการณ์เดิมที่ 4.2-4.7% เนื่องจากปรับลดการส่งออกทั้งปีเหลือขยายตัว 7.2% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 10% ส่วนการนำเข้าคาดว่าจะเติบโต 16.2%  จากเดิมคาดไว้ที่ 15.4% ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.7% การลงทุนรวมขยายตัว 3.6%
    นายทศพลกล่าวว่า ส่วนเศรษฐกิจในปี 2562 คาดจะเติบโตในกรอบ 3.5-4.5% โดยการส่งออกน่าจะขยายตัว 4.6% และนำเข้าจะเติบโต 6.5% โดยคาดว่าการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคจะขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องที่ 4.2% ส่วนการลงทุนโดยรวมเร่งตัวขึ้นขยายตัว 5.1% โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่จะมีความคืบหน้าโครงการที่สำคัญ และการลงทุนภาคเอกชนที่จะมีการขยายอัตราการใช้กำลังผลิตสูงขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย เพื่อลดผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศเศรษฐกิจหลัก
    ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่กังวลมากที่สุดคือ สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งหากมีความรุนแรงขึ้นจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพิงการส่งออกสูง และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกต่ำกว่าที่ประเมินไว้ โดยคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2562 ขยายตัว 3.8% ชะลอลงจากการขยายตัว 4% ในปี 2561
    ด้านนายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ สศช.กล่าวว่า ปัจจัยการเมืองยังประเมินได้ยาก เพราะต้องขึ้นอยู่กับว่านักลงทุนจะให้ความสำคัญกับมุมมองไหน เช่นในช่วงหลังจากเกิดรัฐประหาร นักลงทุนจะมองการเลือกตั้งเป็นปัจจัยบวก แต่ระยะหลังๆ ที่รัฐบาลได้ประกาศโรดแมปเรื่องการเลือกตั้งออกมาแล้ว นักลงทุนก็จะเปลี่ยนเป็นให้ความสนใจกับนโยบายและโครงการต่างๆ ว่าจะมีความต่อเนื่องหรือไม่หลังจากมีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลใหม่แล้ว
    นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2561 ขยายตัวที่ 3% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากครึ่งปีแรกที่ขยายตัวสูงถึง 4.8% จากการส่งออกสินค้าและบริการเป็นสำคัญ โดยส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน วัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอลง ผลจากสภาวะอากาศของประเทศคู่ค้าที่เป็นปัจจัยชั่วคราว รวมถึงการชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยว 
    สำหรับระยะต่อไปคาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 2561 จะกลับมาขยายตัวสูงกว่าในไตรมาส 3 ที่มีผลของปัจจัยชั่วคราว อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอกที่ต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด อาทิ นโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา และมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าที่ชัดเจนขึ้น
    ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกบทวิเคราะห์ โดยระบุว่าสงครามการค้าอาจเป็นปัจจัยเร่งการกระจายการลงทุนออกจากจีนไปยังประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบ โดยมองว่าประเทศไทยอาจได้อานิสงส์ที่จำกัดเฉพาะในบางอุตสาหกรรมเท่านั้น เนื่องจากไทยไม่ได้อยู่ในฐานะผู้รับการลงทุนที่ใช้แรงงานเข้มข้นอยู่แล้ว ขณะที่สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อนขึ้น สินค้าหลายประเภทจีนยังคงมีความได้เปรียบทางการแข่งขันทางด้านราคาจนยากที่จะเกิดการเบี่ยงเบนการลงทุน
    สำหรับอุตสาหกรรมที่ไทยจะได้รับประโยชน์จากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว มองว่าอยู่เฉพาะในกลุ่มการลงทุนในสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อนในการผลิตผลิตภัณฑ์ ที่ไทยนับได้ว่ามีศักยภาพในการแข่งขันค่อนข้างสูงในเวทีโลก ซึ่งคาดว่ากระจุกอยู่ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่าง HDDs, ICs และ PCB ส่วนสินค้าที่ไทยมีความได้เปรียบทางด้านวัตถุดิบอย่างการแปรรูปยางพารา ซึ่งจีนนำเข้าวัตถุดิบจากไทยเพื่อไปผลิตต่อและส่งออกไปสหรัฐฯ ก็อาจมีการย้ายฐานการผลิตมาไทยเพิ่มเติมได้เช่นกัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"