ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ กับประธานาธิบดีเอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศส แลกหมัดด้วยวาทกรรมกันดุเดือด ถือเป็นปรากฏการณ์ระหว่างประเทศที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน
ล่าสุด โฆษกรัฐบาลฝรั่งเศสบอกว่า ทรัมป์ “ขาดสมบัติผู้ดีพื้นฐาน” หลังจากทรัมป์วิพากษ์มาครงอย่างสาดเสียเทเสียผ่านทวิตเตอร์หลังไปเยือนฝรั่งเศส เนื่องในโอกาสรำลึกถึงการสิ้นสุดของสงครามโลก 100 ปี
การที่รัฐบาลใดจะกล่าวหาผู้นำอีกรัฐบาลหนึ่งด้วยถ้อยคำดุเดือดอย่างนี้ย่อมแปลว่าต่างคนต่างเลิกเกรงใจและไม่สนใจไยดีกับการสานสัมพันธ์กันแล้ว
โดยเฉพาะหากหนึ่งในผู้นำนั้นเป็นประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐ ซึ่งเป็นมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลก และยิ่งสองประเทศนี้เคยมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นในฐานะพันธมิตรมาก่อน การแลกเปลี่ยนวาทะอย่างดุเด็ดเผ็ดมันเช่นนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดา
อีกทั้งในจังหวะที่ทรัมป์เขียนข้อความดูถูกเหยียดหยามมาครงนั้นบังเอิญตรงกับวันครบรอบเหตุการณ์การก่อการร้ายที่ปารีสเมื่อปี 2015 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 130 คน
ทรัมป์ได้กระหน่ำส่งข้อความบนทวิตเตอร์ เย้ยหยันว่าความนิยมชมชอบของประชาชนต่อเขาต่ำเตี้ยมาก
ทรัมป์บ่นว่าฝรั่งเศสเก็บภาษีไวน์จากอเมริกาแพงจนทำให้ไม่สามารถแข่งกับไวน์ฝรั่งเศส และเยาะเย้ยว่าฝรั่งเศสเกือบแพ้เยอรมันทั้งในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง
“ก่อนอเมริกาจะมาช่วย คนในปารีสกำลังต้องเรียนภาษาเยอรมันกันแล้ว” คือหนึ่งในหลายประโยคที่ทรัมป์ส่งขึ้นทวิตเตอร์เพื่อตอบโต้ผู้นำฝรั่งเศส
ทรัมป์เคืองเพราะมาครงได้เสนอว่ายุโรปจะต้องคิดจริงๆ ในการก่อตั้ง “กองทัพของยุโรปเอง” เพื่อตั้งรับภัยคุกคามที่มาจากจีน, รัสเซียและสหรัฐ
ยุโรปกลัวภัยจากสหรัฐ? เป็นไปได้อย่างไร?
การที่มาครงเสนอแนวคิดว่ายุโรปไม่อาจจะไว้วางใจอเมริกาได้อีกต่อไป และไม่เพียงแต่จะต้องหาทางป้องกันตัวเองเท่านั้น แต่ยังต้องเริ่มคิดจริงๆ จังๆ ว่าอเมริกาอาจจะเป็นภัยคุกคามยุโรปได้ด้วย
ทรัมป์เขียนโต้ว่านี่เป็นการดูถูกอเมริกากันซึ่งๆ หน้า
ไม่แต่เท่านั้น มาครงยังถือโอกาสที่ทรัมป์มาปารีสเพื่อร่วมพิธีไว้อาลัยทหารที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งครบ 100 ปี แสดงความเห็นที่เห็นได้ชัดว่าจงใจจะทิ่มแทงทรัมป์ต่อหน้า
มาครงบอกว่า คำว่า nationalism หรือชาตินิยมนั้นเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับ patriotism หรือความรักชาติ
จะว่าไปแล้ว ผู้นำฝรั่งเศสบอกว่า nationalism เป็นสิ่งที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “เรื่องทรยศ” ต่อ patriotism ด้วยซ้ำไป
ไม่ต้องสงสัยว่าคนที่ฟังแล้วจะต้องเข้าใจว่ามาครงหมายถึงใคร
เพราะเขาพูดในประโยคต่อมาว่า “การที่ชาติใดชาติหนึ่งประกาศนโยบายว่าผลประโยชน์ของตนต้องมาก่อนอย่างอื่น ก็ย่อมเป็นการละเมิดหลักพื้นฐานแห่งศีลธรรมและความถูกต้องแล้ว เพราะนั่นแปลว่าประเทศนั้นเห็นแก่ตัว ไม่สนใจประเทศอื่น”
หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้คนคิดถึง America First ของทรัมป์
นั่นคือหมัดตรงจากมาครงใส่หน้าทรัมป์อย่างปราศจากข้อสงสัยใดๆ
กลับถึงบ้าน ทรัมป์ก็ส่งข้อความขึ้นทวิตเตอร์อีกว่า การที่ผู้นำฝรั่งเศสกล่าวเปรียบเทียบเรื่อง nationalism และ patriotism นั้นไม่ถูกต้อง เพราะจริงๆ แล้วฝรั่งเศสเคยประกาศตนเป็นประเทศ nationalist หรือชาตินิยม ซึ่งทรัมป์บอกว่าก็ไม่ได้เสียหายอะไร ตรงกันข้ามกลับเป็นนโยบายที่น่าภูมิใจด้วยซ้ำ
เพราะทรัมป์เองก็เพิ่งประเทศว่าเขาไม่ใช่ globalist หรือนักโลกาภิวัตน์ แต่เขาเป็น nationalist หรือนักชาตินิยมก่อนที่จะมาฟังมาครงสั่งสอนต่อหน้าต่อตาที่ปารีส
เรื่องไม่จบเพียงนี้ เพราะผ่านมาไม่กี่วันหลังจากทรัมป์กับมาครงแลกหมัดกันในประเด็นนี้ นายกฯ หญิงเหล็กเยอรมัน เองเกลา มาเกล ก็ออกมาสำทับว่าเธออยู่ข้างมาครงเรื่องที่ยุโรปจะต้องตั้งกองทัพของตนเองขึ้นมาเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยของตนเอง
พูดง่ายๆ คือเยอรมันกับฝรั่งเศสจับมือกันแน่นเพื่อต้านอเมริกาภายใต้การนำของทรัมป์อย่างชัดเจน
การที่ทรัมป์ทำให้สหรัฐกับยุโรปแตกแยกอย่างนี้ย่อมเป็นอันตรายต่อความมั่นคงปลอดภัยของโลกตะวันตก เพราะนั่นย่อมหมายความว่า ความน่าเกรงขามของ NATO ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรวมพลังของอเมริกากับยุโรปเพื่อต้านภัยคอมมิวนิสต์จากสหภาพโซเวียตในอดีตหรือรัสเซียในวันนี้ก็ย่อมจะหดหายไป
และด้วยเหตุผลนี้ สมการแห่งอำนาจโลกก็จะพลิกกลับไปมา ทำให้เกิดความไม่แน่นอนอย่างสูง
เพราะทรัมป์ไม่อาจจะชักจูงให้ปูตินแห่งรัสเซีย หรือสีจิ้นผิงของจีน สามารถเจรจาเพื่อสร้างสันติภาพให้กับโลกได้แต่อย่างใดเช่นกัน
จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ทรัมป์ได้เขย่าโลกจนวุ่นวายสับสนมากกว่าที่ใครๆ จะคาดการณ์ได้อีกแล้ว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |