เครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศเสนอทางออกปัญหา ‘วิกฤตที่ดินไทย’  เผยที่ดินรกร้างทั่วประเทศสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละกว่า 120,000 ล้านบาท


เพิ่มเพื่อน    

ม.ธรรมศาสตร์/ เครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศร่วมจัดงาน “มหกรรมที่ดินคือชีวิต  ฝ่าวิกฤตที่ดินไทย”  นำเสนอข้อมูลปัญหาวิกฤตที่ดินไทยให้สังคมรับรู้  และเสนอทางออกด้านนโยบาย  เผยที่ดินส่วนใหญ่ในประเทศไทย 80 %  อยู่ในมือของกลุ่มคนเพียง 20 %  และประมาณ 70 % ปล่อยที่ดินให้รกร้างเพื่อรอเก็งกำไรทำให้สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 127,384  ล้านบาทต่อปี  ขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีที่ดินไม่เกิน 5 ไร่  ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ  ความยากจน

  

ระหว่างวันที่ 17-18 พฤศจิกายน  เครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศได้ร่วมกันจัดงาน “มหกรรมที่ดินคือชีวิต  ฝ่าวิกฤตที่ดินไทย” ที่หอประชุมเล็ก  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ท่าพระจันทร์   โดยมีประชาชนกลุ่มต่างๆ เช่น  เกษตรกร  ชาวนา  ชาวไร่  ชาวเล  ชนเผ่า   นักศึกษา  นักวิชาการ  เข้าร่วมงานประมาณ 1,000  คน  ภายในงานมีเวทีเสวนา  การประชุมกลุ่มย่อยเพื่อนำเสนอประเด็นปัญหาต่างๆ  และข้อเสนอการแก้ไขปัญหาของภาคประชาชน  โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ ร่วมรับฟังข้อเสนอและชี้แจงนโยบายของพรรคในการแก้ไขปัญหาที่ดิน  ฯลฯ  ส่วนองค์กรที่ร่วมจัดงาน  เช่น  ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม   มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ  มูลนิธิชุมชนไท   วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  เครือข่ายสลัม 4   ภาค  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ฯลฯ


นายประยงค์  ดอกลำไย  ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ  แกนนำในการจัดงาน  กล่าวว่า  ปัจจุบันอำนาจในการบริหารจัดการที่ดินอยู่ในมือของรัฐส่วนกลาง  โดยชุมชนไม่มีสิทธิหรือมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการที่ดิน  ชุมชนไม่สามารถกำหนดชีวิตของตนเองได้  และที่สำคัญคือ  ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน  เพราะที่ดินส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในมือของคนส่วนน้อย  ส่วนประชาชนทั่วไป  เกษตรกร  ชาวไร่  ชาวนาจำนวนมาก  ไม่สามารถเข้าถึงที่ดินเพื่อทำกินและอยู่อาศัยได้  ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ  ตามมา  เช่น  ไม่มีที่ดินทำกิน  หรือมีไม่พอทำกิน  ต้องเข้าไปบุกเบิกที่ดินทำกินในเขตป่า  หรือที่ดินรกร้าง  ทำให้ถูกจับกุม  มีปัญหาหาหนี้สิน  ความยากจน  ฯลฯ

 

“ประเทศไทยมีที่ดินทั้งหมดประมาณ  320  ล้านไร่  แต่ผู้ที่มีที่ดินมากที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศ  เป็นเจ้าของที่ดินรวมกันมากถึงร้อยละ 80  ของที่ดินโฉนดทั้งหมด   ขณะที่ประชาชนทั่วไป  ชาวไร่  ชาวนา  มีที่ดินต่ำสุดรวมกันประมาณร้อยละ 20  และเป็นเจ้าของโฉนดเพียง 0.25  เปอร์เซ็นต์ของโฉนดที่ดินทั้งประเทศ  นอกจากนี้ผู้ที่ถือครองที่ดินมากกว่า 1,000  ไร่ในประเทศไทยมีอยู่เพียง 837 ราย  แต่ประชาชนและเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศมีดินเฉลี่ยไม่เกินรายละ 5 ไร่”  นายประยงค์ยกตัวอย่างความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดิน 

 

นอกจากนี้จากการศึกษาของมูลนิธิสถาบันที่ดิน  พบว่า  ที่ดินที่มีการครอบครองโดยประชาชนทั่วไป 120 ล้านไร่ มากกว่าร้อยละ 90 ของที่ดินจำนวนนี้กระจุกตัวอยู่ในมือของคนเพียงร้อยละ 10 หรือประมาณ 6 ล้านคน  (ประชากรทั้งประเทศประมาณ 65 ล้านคน)  และยังพบอีกว่า 70 % ของที่ดินที่มีการถือครองในประเทศไทยถูกปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างว่างเปล่า  เพื่อรอขายหรือเก็งกำไร  โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์  หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่  หรือใช้ประโยชน์ไม่ถึง 50 %  ประเมินความสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณปีละ 127,384 ล้านบาท

 

นายประยงค์กล่าวด้วยว่า  ที่ผ่านมาเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศได้ร่วมกันนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งในระดับพื้นที่  เช่น  การสร้างพื้นที่รูปธรรมการพัฒนาโดยชุมชนกระจายอยู่ทั่วประเทศ  การสร้างวิถีชุมชนที่มีความสมดุลและยั่งยืน  และในระดับนโยบาย  โดยนำเสนอมาตรการในเชิงนโยบายและกฎหมายต่อรัฐบาล  เช่น  การเสนอกฎหมายสิทธิชุมชนและการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน  กฎหมายการจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า  กฎหมายธนาคารที่ดิน  ส่วนการจัดงาน“มหกรรมที่ดินคือชีวิต  ฝ่าวิกฤตที่ดินไทย” ในครั้งนี้   มีเป้าหมายเพื่อสะท้อนให้สังคมได้เห็นข้อเท็จจริงของวิกฤตการณ์ที่ดินไทย  และนำข้อเสนอจากเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศมาผลักดันให้เห็นผลเป็นรูปธรรมต่อไป

 

สำหรับข้อเสนอจากการระดมความคิดของเครือข่ายภาคประชาชนมีดังนี้  คือ  หลักการ  1.การปฏิรูปที่ดินต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและกำหนดนโยบาย  เพื่อสร้างความเป็นธรรม  ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม   2.การเข้าถึงที่ดินและที่อยู่อาศัยเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน  การบริหารจัดการที่ดินต้องดำเนินไปบนพื้นฐานการเคารพสิทธิมนุษยชน  และเคารพวิถีวัฒนธรรม   3.นโยบายที่ดิน  ต้องไม่นำมาบังคับใช้ย้อนหลังกับประชาชน   4.การดำเนินการทางกฎหมายในกระบวนการยุติธรรม  ควรให้ความสำคัญและการนำข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ชุมชน  รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ถูกดำเนินคดีได้มีโอกาสโต้แย้ง  หรือหักล้างข้อกล่าวหาอย่างเท่าเทียม  มิใช่พิจารณาเพียงเอกสารทางราชการ

 

ด้านกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้อง   รัฐจะต้องกำหนดมาตรการในเชิงกฎหมายเพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างแท้จริง และสนับสนุนให้คนจนสามารถเข้าถึงที่ดินได้อย่างเป็นธรรม ดำเนินการรับรองสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรร่วมกัน ได้แก่ พระราชบัญญัติภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า  พระราชบัญญัติกองทุนธนาคารที่ดิน  พระราชบัญญัติสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน 

 

กรณีนโยบายที่ดิน คทช. (คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ/มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) 1.ยกระดับการดำเนินโครงการจัดที่ดินแปลงรวม คทช.  ให้รับรองสิทธิชุมชนและสถาบันเกษตรกรในการบริหารจัดการที่ดิน  2.ทบทวนการจัดที่ดินแปลงรวมตามนโยบาย คทช.  และเปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อย  คนยากจน  ไร้ที่ดิน  ให้สามารถเข้าถึงที่ดินและปัจจัยการผลิตอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม  ไม่จำกัดโอกาสการเข้าถึงที่ดินของเกษตรกรรายย่อย เพื่อให้สามารถพัฒนาและขยายกำลังการผลิต และแข่งขันได้  

 

3.ยุติการนำนโยบาย  มติ  และระเบียบของ คทช.มาใช้กับชุมชนที่มีรูปแบบการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน  แต่รัฐบาลควรสนับสนุนส่งเสริมการปฏิบัติการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่   4.ทบทวนมติ คทช. วันที่ 18 มิถุนายน 2561 เกี่ยวกับพื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) ทั้งนี้  เนื่องจากแนวทางการแก้ไขปัญหาตามมติดังกล่าว  อาจสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงกับชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ต้นน้ำชั้น 1, 2   ชุมชนชาวเล และชุมชนชายฝั่ง    

กรณีทวงคืนผืนป่า  1.ยุตินโยบายทวงคืนผืนป่า และยกเลิกแผนแม่บทแก้ไขปัญหา  การทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ  และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน  เพราะการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวส่งผลให้มีการละเมิด  คุกคามชีวิต  ทรัพย์สินและส่งผลกระทบกับชุมชนทั่วประเทศ  รวมทั้งกระบวนการในการจัดทำแผนแม่บทดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย

 

2.ชะลอการดำเนินการประกาศอุทยานแห่งชาติไว้ก่อน  และจัดตั้งกลไกให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดสำรวจแนวเขตเพื่อกันพื้นที่ทำกิน  ที่อยู่อาศัย  และพื้นที่ป่าชุมชนออกจากเขตอุทยาน  และการประกาศแนวเขต  โดยการกำหนดแนวเขตเตรียมการประกาศอุทยานต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาท้องถิ่นก่อน จึงจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้

 

3.นายกรัฐมนตรีลงนามรับรองร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฉบับประชาชน (เนื่องจากเป็นกฎหมายเกี่ยวข้องกับการเงิน) เพื่อให้สามารถเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ควบคู่กับร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฉบับของรัฐบาล  และเนื้อหากฎหมายทั้งสองฉบับต้องสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน  และกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

 

การสนับสนุนโฉนดชุมชน 1.ปรับปรุงกลไก  มาตรการและกระบวนการอนุญาต  และลดข้อจำกัดการจัดการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน  (อาทิ ตามมาตรา 9 , มาตรา 12 ประมวลกฎหมายที่ดิน)    2.ผลักดันให้คณะรัฐมนตรีมีมติคุ้มครองพื้นที่โฉนดชุมชน 486 แห่งให้เป็นไปตามมติการประชุมคณะกรรมการประสานงานให้มีโฉนดชุมชน  ครั้งที่  1/2561  วันที่ 8 สิงหาคม 2561 และประสานงานให้มีการจัดที่ดินให้แก่ประชาชน  3.ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541  รวมทั้งมติอื่นที่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการที่ดินโดยชุมชน  อาทิ  มติคณะรัฐมนตรีในการจัดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ

 

กรณีที่ดินสาธารณประโยชน์  ปรับปรุงกลไกและกระบวนการการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ออกโดยไม่ชอบกฎหมายทั้งกรณีโฉนดที่ดิน  และการประกาศที่สาธารณะซ้อนทับที่ดินของประชาชน

 

กรณีที่ดินเอกชนทิ้งร้าง  กรณีที่ดินที่ปล่อยทิ้งร้าง  ตามมาตรา 6 ประมวลกฎหมายที่ดิน จัดให้มีกลไก หน่วยงานเฉพาะเพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบ  และเพิกถอนเอกสารสิทธิ์   

 

กรณีพื้นที่ชนเผ่า ชาติพันธุ์ และชนพื้นเมือง  1.คุ้มครองสิทธิชนเผ่า  กลุ่มชาติพันธุ์  และชนพื้นเมือง  ตามสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชน  ข้อตกลง  และปฏิญญาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ที่ดิน  สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม  สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ในการถือครองและใช้ทรัพยากรธรรมชาติ  2.สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล  วันที่ 2 มิถุนายน 2553  และการฟื้นฟูชีวิตชาวกระเหรี่ยง  วันที่ 3 สิงหาคม 2553  โดยเฉพาะการประกาศเขตคุ้มครองวัฒนธรรมพิเศษ  3.การกันเขตพื้นที่ที่อยู่อาศัยของชุมชน พื้นที่ทำกิน  และพื้นที่ทางจิตวิญญาณ ก่อนการประกาศเขตอนุรักษ์  โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการกันเขตพื้นที่ต่างๆ  4.ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมที่ช่วยให้สังคมเกิดความเข้าใจ  และยอมรับวิถีชีวิตของกลุ่มชนเผ่า  ชาติพันธุ์  และชนพื้นเมือง  

 

กรณีที่ดินในเมือง เพื่อสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย  1.ที่ดินรัฐที่หน่วยงานต่าง ๆ ครอบครองไว้จำนวนมาก และไม่ได้ใช้ประโยชน์  เช่น  ที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย  ที่ดินราชพัสดุ  ที่ดินสาธารณะ  รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ในการนำที่ดินเหล่านั้นมาพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัย รองรับคนจนเมืองในรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วมกันของชุมชน จึงจะสอดคล้องกับสถานะทางเศรษฐกิจของกลุ่มคนเหล่านั้น  เนื่องจากไม่ต้องแบกรับต้นทุนด้านที่ดิน และที่ดินรัฐจำนวนมากอยู่ในเขตเมือง หรือใกล้เมือง เป็นการลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และอาชีพ  นอกจากนั้นยังลดต้นทุนในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค  การใช้ที่ดินรัฐเพื่อจัดทำโครงการที่อยู่อาศัย จึงเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

2.ในการจัดทำผังเมือง  ควรให้คนจนเมืองได้มีส่วนในการกำหนดทิศทางของการพัฒนาเมือง  ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนหนึ่งที่สร้างการเติบโตและหล่อเลี้ยงคนในเมืองให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ยากลำบาก  ต้องรับฟังความเห็นของคนจนเมืองที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง  โดยกำหนดผังเมืองแบบผสมผสานระหว่างพื้นที่เศรษฐกิจและที่อยู่อาศัยไว้ในพื้นที่เดียวกันไว้อย่างชัดเจน  ทั้งนี้เพื่อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองกับที่อยู่อาศัยเป็นไปในลักษณะคู่ขนาน  โดยมิให้ที่ดินบริเวณที่อยู่อาศัยมีราคาสูง  เพื่อให้คนจนสามารถดำรงวิถีชีวิตอยู่ได้ในเมือง

 

3.การพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่  โดยเฉพาะคนจนที่ต้องเสียสละที่อยู่อาศัยเดิมให้กับโครงการพัฒนาต่างๆ  รัฐบาลควรมีนโยบายให้หน่วยงานรัฐที่ดำเนินโครงการคิดงบประมาณในการอุดหนุนด้านการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาสาธารณูปโภคเป็นต้นทุนในโครงการ  เพื่อให้ประชาชนที่เสียสละให้กับการพัฒนาและต้องโยกย้ายหรือต้องขยับปรับปรุงที่อยู่อาศัยใหม่  สามารถนำงบประมาณที่ได้รับไปจัดสร้างโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ได้  และที่สำคัญเป็นการลดภาวะความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐที่ดำเนินโครงการกับประชาชนในพื้นที่

 

กรณีภัยพิบัติ  1.ปรับปรุงพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550  ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการเตรียมความพร้อมการป้องกันภัยพิบัติโดยชุมชน  มากกว่าการเยียวยาหลังการเกิดภัยพิบัติ   และจัดให้มีเวทีประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นสาธารณะก่อนการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติ   2.เพิ่มคำนิยามคำว่า ‘สาธารณภัย’  ให้ครอบคลุมภัยที่กระทบต่อสังคม  การกัดเซาะชายฝั่ง  ภัยที่เกิดจากการดำเนินนโยบายและโครงการของรัฐ  เช่น  การสร้างอ่างเก็บน้ำ   รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทุกคนที่เป็นผู้ประสบภัยโดยเท่าเทียม  โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติอันเนื่องจากเชื้อชาติ  สัญชาติ 

 

3.กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต้องให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยง  ทั้งในมิติของการจัดการระดับท้องถิ่น  เช่น  การอพยพ  สิ่งอำนวยความสะดวกให้สอดคล้องกับภัยนั้นๆ  และส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดการลดความเสี่ยงภัยเป็นหลัก  4.ไม่เปิดโอกาสให้การประกาศสาธารณภัยเป็นสาเหตุของการแย่งชิงที่ดิน  เช่น  การประกาศสาธารณภัยแล้วให้ประชาชนออกไปจากพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัย

 

กรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  1.ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  ต้องคำนึงถึงการวางผังเมือง  การปกป้องพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดี  ไม่ให้เปลี่ยนไปเป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม  2.การเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและร่วมออกแบบในกระบวนการพัฒนาของรัฐ  บนหลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง   3.รัฐจะต้องจัดการผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมระหว่าง  ชุมชน  รัฐ  และนักลงทุน  หากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นการเพิ่มความมั่งคั่งให้กับนักธุรกิจ  ชาวบ้านก็ไม่ควรต้องเป็นผู้เสียสละด้วยการถูกพรากสิทธิที่ดิน

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"