ปลุก'5เสือกกต.'อิสระกู้ศักดิ์ศรี


เพิ่มเพื่อน    

    ปชป.แฉปมหมกเม็ดคำสั่งบิ๊กตู่ เปิดช่องไม่สามารถตั้ง ผอ.-กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งได้ สุดท้ายเข้าทาง เป็นโดมิโนเลื่อนวันหย่อนบัตร 24 ก.พ.ออกไป พีเน็ตออกแถลงการณ์ จี้ 5 เสือ กกต.อย่าสยบยอมอยู่ใต้อุ้งตีนท็อปบูต
    นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ได้กลับไปทำงานที่มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย หรือพีเน็ต ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า พีเน็ตได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนให้ กกต.มีความกล้าหาญที่จะทำงานด้วยความเที่ยงตรงเป็นธรรม
    แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง (พีเน็ต) มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย การแบ่งเขตเลือกตั้งต้องกระทำโดยอิสระและปราศจากการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจรัฐ การแบ่งเขตเลือกตั้ง เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการเลือกตั้งที่นำไปสู่การเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม โดยพื้นฐานของการดำเนินการคือ เพื่อให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทราบถึงพื้นที่ที่ตนจะสมัครเป็นตัวแทนของประชาชนจะได้มีการเตรียมการแนะนำตัวหาเสียงได้ตรงกับพื้นที่การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ตรงไปตรงมา จึงไม่มีหลักการใดที่ซับซ้อน คือ การยึดหลักตัวเลขประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ใกล้เคียงกัน การไม่แบ่งพื้นที่เขตปกครองหากไม่จำเป็น การคำนึงถึงความสะดวกในการเดินทางไปใช้สิทธิ์ และการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว การแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. กระทำภายใต้หลักการ 3 ข้อของมาตรา 27 ของ พ.ร.ป.ส.ส. คือ (1) เขตเลือกตั้งไม่ควรแบ่งอำเภอ แต่หากจำเป็นอาจแบ่งได้ แต่จะแบ่งตำบลไม่ได้ (2) คำนึงถึงชุมชนและความสะดวกในการคมนาคมของชุมชน และ (3) ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนและพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และ กกต.ยังได้ออกระเบียบเพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นแบบแผนเดียวกันทั้งประเทศ ให้มีการประกาศรูปแบบการแบ่งเขตอย่างน้อย 3 รูปแบบ และเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและพรรคการเมืองเป็นเวลา 10 วัน ก่อนนำเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ตัดสินใจเลือกแบบการแบ่งเขตที่เหมาะสม
    "เราเชื่อว่าจากประสบการณ์การจัดการเลือกตั้งมามากกว่า 20 ปีของเจ้าหน้าที่ กกต. กอปรกับความเป็นมืออาชีพที่ดำเนินการด้วยความเป็นกลาง และการสั่งการให้มีการเตรียมการในเรื่องดังกล่าวมาเป็นปี ย่อมทำให้การแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. เป็นการแบ่งเขตที่ดีและก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
    การที่ คสช.ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2561 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 ให้ กกต.ทบทวนการแบ่งเขตใหม่ หากได้รับการร้องเรียนของประชาชนหรือพรรคการเมืองผ่าน ครม.หรือ คสช. ในจังหวะเวลาที่ กกต.มีการแบ่งเขตเป็นไปตามกฎระเบียบเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ถือเป็นการใช้อำนาจรัฐแทรกแซงองค์กรอิสระ และยิ่งกำหนดให้การแบ่งเขตใหม่สามารถทำได้โดยอิสระ ไม่จำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ถือเป็นคำสั่งที่สุ่มเสี่ยงกับการแบ่งเขตที่ไม่เป็นธรรม นำไปสู่ความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมือง โดยมีแนวโน้มที่พรรคที่สนับสนุนรัฐบาลทหารอาจมีความได้เปรียบจากการดำเนินการดังกล่าว และการนำไปสู่ผลการเลือกตั้งที่ไม่สามารถสร้างการยอมรับของคนในสังคม" แถลงการณ์ระบุ
    แถลงการณ์ดังกล่าวระบุอีกว่า เครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง (พีเน็ต) มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย ขอประกาศสนับสนุนการแบ่งเขตของ กกต.อย่างเป็นอิสระ ต้องไม่ปฏิเสธการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลการสั่งการของผู้มีอำนาจรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อมในทุกกรณี และพร้อมที่จะเป็นจุดรวมในการรับข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลต่อสังคมหากมีการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น
     นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. เปิดเผยถึงการที่ กกต.เตรียมเชิญพรรคการเมืองมาหารือในครั้งที่ 4 ในวันที่ 22 พ.ย.นี้ว่า จะเป็นการชี้แจงและตอบข้อหารือของพรรคการเมืองเรื่องการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งครั้งแรก หรือมินิไพรมารี หลักเกณฑ์และวิธีการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั้วไป ครั้งแรก รวมทั้งการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง โดยใบเบื้องต้นเมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองแจ้งส่งตัวแทนเข้าร่วมฟังการชี้แจงแล้ว 64 พรรค จำนวน 213 คน เช่น พรรคชาติพัฒนา พรรคทางเลือกใหม่ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคอนาคตใหม่ พรรคความหวังใหม่ และรวมพลังประชาชาติไทย
     ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มการเมืองที่ยื่นขอจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย 11 กลุ่ม 35 คน คือ กลุ่มประชาไทย กลุ่มพลังเพื่อไทย กลุ่มพลังรัก กลุ่มพลังแรงงานไทย กลุ่มพลังศรัทธา กลุ่มกรีน กลุ่มพลังแผ่นดินทอง กลุ่มชาติพันธุ์ไทย กลุ่มพลังสังคม กลุ่มพลังไทยสร้างชาติ และกลุ่มกลาง
     สำหรับการประชุมครั้งที่ 4 นี้ จะจัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ โดยมีนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เป็นประธานเปิดงาน
ปชป.เชื่อส่อแววเลื่อนเลือกตั้ง 
    ด้านความเห็นจากฝ่ายการเมืองต่อการออกคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทางนายธนา ชีรวินิจ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่มีการออกคำสั่ง คสช.ที่ 16/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) โดยมีสาระสำคัญคือ จะมีการขยายเวลาการแบ่งเขตเลือกตั้งออกไปว่า คำสั่งดังกล่าวถือเป็นการแทรกแซงองค์กรอิสระอย่าง กกต. ซึ่งมีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม เพราะขณะนี้ไม่ได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า กกต.ไม่สามารถดำเนินการได้ตามตารางเวลา แต่ออกคำสั่งขยายเวลาให้กับ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับไม่เคารพการทำงานของ กกต. ขาดความน่าเชื่อถือ และอาจทำให้เชื่อว่าองค์กรอิสระอื่นอาจถูกแทรกแซงแต่ไม่เป็นข่าว
    นอกจากนี้ อาจจะทำให้การแบ่งเขตเลือกตั้งไม่เป็นไปตามกฎหมายพรรคการเมืองและระเบียบของ กกต. รวมถึง กกต.อาจจะไม่ใช้รูปแบบแบ่งเขตตามที่ประชาชนเสนอความเห็นก่อนหน้านี้ใน 3 รูปแบบ แต่อาจใช้รูปแบบที่ 4 ตามความต้องการของ คสช.และรัฐบาล เท่ากับว่า คสช.แทรกแซงและกำกับให้การเลือกตั้งเป็นไปตามที่รัฐบาลต้องการ สอดคล้องกับพรรคการเมืองที่มีแนวนโยบายสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ทั้งนี้ เมื่อมีการแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จ ทางพรรคประชาธิปัตย์จะตรวจสอบว่าเป็นไปตาม 3 รูปแบบเดิมหรือไม่
    โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวอีกว่า  ดังนั้นขอเรียกร้องให้คำสั่งฉบับดังกล่าวเป็นคำสั่งสุดท้ายในรัฐบาลนี้ เพราะที่ผ่านมา คสช.ดำเนินการเองทุกอย่างผ่านแม่น้ำ 5 สาย ดังนั้นการดำเนินดังกล่าวก็ไม่แตกต่างจากรัฐบาลเดิมที่ยึดอำนาจโดยทำเพื่อประโยชน์ตนเองและพวกพ้องมากกว่าประเทศชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าต้องการสืบทอดอำนาจต่ออย่างชัดเจน
     เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคเล็กจะยื่นหนังสือถึง กกต.ขอเลื่อนการเลือกตั้งออกไป นายธนากล่าวว่า เข้าใจว่า พรรคเล็กมีความพร้อมน้อยกว่าพรรคการเมืองใหญ่ แต่ทุกพรรคก็อยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน และอีกทั้งโรดแมปก็ประกาศมานานแล้ว ดังนั้นข้ออ้างนี้จึงไม่สามารถจะมาใช้เพื่อทำให้กระบวนการทางกฎหมายที่เดินอยู่ในขณะนี้สิ้นสุดลงได้
พท.-นปช.รุมสกรัมบิ๊กตู่
       นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.การต่างประเทศ และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวในเรื่องนี้ว่า ประชาชนทั้งประเทศตั้งตาคอยจะไปเลือกตั้ง ที่บอกว่าจะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 24 ก.พ.62 เนื่องจากต้องการรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ความเชื่อมั่นในประเทศจะกลับมา ปัญหาปากท้องจะได้ดีขึ้น นอกจากนั้นทางสหภาพยุโรปจะเจรจาและเซ็นข้อตกลงการค้าเสรีกับไทยก็ต่อเมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ดังนั้นยิ่งเลือกตั้งเร็วเท่าไหร่ ย่อมดีต่อประชาชนและประเทศเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การมีคำสั่ง คสช.ที่ 16/61 ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าจะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปหรือไม่ ซึ่งเป็นความกังวลที่เกิดขึ้น และผู้มีอำนาจต้องทำให้เกิดความชัดเจน ถ้ามีการเลื่อนเลือกตั้งจริง ย่อมไม่เป็นผลดีต่อประเทศ
    นายนพดลกล่าวอีกว่า นอกจากนั้นการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และน่าเชื่อถือจะเป็นทางออกของประเทศ แต่คำสั่งที่ 16/61 ที่ให้อำนาจ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้ง โดยบางกรณีอาจไม่ต้องทำตามกฎหมาย ระเบียบ และประกาศของ กกต. และคำสั่งนี้รับรองความชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ไม่อาจฟ้องร้อง กกต. ในเรื่องการแบ่งเขตได้ ประเด็นจึงมีว่า 1.กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จแล้วและพร้อมประกาศก่อนมีคำสั่งที่ 16/61 ใช่หรือไม่ ถ้าเช่นนั้น ทำไมจึงมีคำสั่งที่ 16/61 กกต.ไม่ได้ขอให้ คสช. ออกคำสั่งนี้ใช่หรือไม่ 2.การออกคำสั่งยกเว้นในกรณีจำเป็นเร่งด่วนให้ กกต. ไม่ต้องทำตามกฎหมาย และระเบียบของ กกต. ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง เป็นการเคารพหลักนิติธรรมอย่างไร และจะมีหลักประกันอย่างไรว่าจะมีการแบ่งเขตที่ถูกต้อง เป็นธรรมกับทุกพรรค และการพิจารณาแบ่งเขตได้ทำเป็นขั้นเป็นตอนตามลำดับ นึกไม่ออกว่าจะมีกรณีจำเป็นเร่งด่วนเพื่อไม่ต้องทำตามกฎหมายหรือระเบียบได้อย่างไร 3.ถ้า กกต.ได้แบ่งเขตเสร็จแล้วเหลือเพียงประกาศตามที่เป็นข่าว  แสดงว่า กกต.ได้รับฟังความเห็นประชาชนและนักการเมือง และได้ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบ กกต.ครบถ้วนแล้วใช่หรือไม่ สมมติว่าถ้าจะมีการทบทวนการแบ่งเขต จะใช้เหตุผลอะไร
    นายนพดลกล่าวว่า ในอนาคตควรหลีกเลี่ยงการออกคำสั่งใดๆ ที่จะกระทบการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม และใครที่อยากมีอำนาจ ถ้าผ่านการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือจะสง่างามและมีศักดิ์ศรีกว่า เวลานี้ควรปลดล็อกให้พรรคต่างๆ ทำกิจกรรมและหน้าที่ของตนได้แล้ว หวังว่า กกต.จะยึดความถูกต้อง แบ่งเขตอย่างเป็นธรรม และทำหน้าที่ของตนอย่างตรงไปตรงมา
    ส่วน นพ.เหวง โตจิราการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า กกต.ได้ออกมาชี้แจงหลายครั้งหลายหนแล้วว่า การแบ่งเขตเรียบร้อยแล้ว และจะประกาศในราชกิจจาฯ ภายในสัปดาห์ที่ผ่านมา (คือวันศุกร์ที่ 16 พ.ย.61) แต่คำสั่งฟ้าผ่าดังกล่าวก็ออกมาตัดหน้าการดำเนินการตามกฎหมายกำหนดของ กกต.เพียงเส้นยาแดงผ่าแปด เพื่อดึงดันให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ คสช. กรณีนี้ชัดเจนจนแทบไม่ต้องสงสัยว่า คสช.ต้องการที่จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ทั้งนี้ เนื่องจากการดำเนินการตามแผนการของพวกตน (เพื่อสืบทอดอำนาจ คสช. ปูทาง พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ) ยังไม่บรรลุตามต้องการ ประชาชนไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.61 (ซึ่งถูกเลื่อนมาอย่างตั้งใจเพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธ์ของ คสช.ถึง 4 ครั้ง 4 คราด้วยกัน) จะเป็นวันที่ประชาชนร่วมกันตัดสินใจชะตากรรมของประเทศไทยต่อไปในอนาคต แต่การออกคำสั่งที่ 16/2561 นั้น ทำให้ความหวังของประชาชนที่จะกำหนดชะตากรรมของประเทศโดยประชาชนเลือนรางออกไปอย่างน่าใจหาย เพราะการดำเนินการของ คสช.ครั้งนี้ เท่ากับประกาศชัดว่าชะตากรรมของประเทศไทยนั้นต้องกำหนดโดย คสช.
    ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวถึงการเลื่อนการเลือกตั้งว่า ยังไม่มั่นใจว่าจะมีการเลื่อนการเลือกตั้งหรือไม่ แต่สิ่งที่กังวลคือความน่าเชื่อถือของ กกต.จะลดลงหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่ามีความพยายามแทรกแซงการทำหน้าที่ของ กกต. ทั้งนี้ กกต.เป็นองค์กรอิสระที่จะต้องทำให้การเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ยุติธรรม เพราะไม่เช่นนั้นจะถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและต้องสร้างความน่าเชื่อถือ ให้ประชาชนทั้งในและต่างประเทศเชื่อถือ แต่เมื่อใดที่ กกต.ขาดความน่าเชื่อถือ ประชาชนก็มีความรู้สึกว่า กกต.ถูกแทรกแซงได้ จนนำไปสู่การเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์  
    “หลังจากที่นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในทำนองว่า กกต.มีการแบ่งเขตครบ 350 เขต และเตรียมประกาศในอีกไม่กี่วัน แต่ถัดมา 2 วัน ก็มีประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2561 ให้อำนาจ กกต. ขยายเวลาในการปรับปรุงเขตเลือกตั้งจนกว่าจะถึงวันรับสมัคร ส.ส. ซึ่งหลายพรรคมองว่าจะเป็นเหตุในการเลื่อนการเลือกตั้ง ผมมองว่าประกาศดังกล่าวเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกับคำพูดของประธาน กกต. ดังนั้นอยากขอให้ กกต.ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มความสามารถ ไม่อยู่ใต้อาณัติของใคร” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
    นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า คาดว่าจะมีการเปิดรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระหว่างวันที่ 26-30 พ.ย.นี้ โดยคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ว.นั้น ต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันสมัครรับเลือก มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี และผู้สมัครต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้คือ เป็นบุคคลซึ่งเกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือก มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก ทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี รวมถึงเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา
    ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กำหนดให้มี ส.ว. 200 คน แต่ในวาระแรก 5 ปี ให้มี ส.ว. 250 คน จาก 3 ช่องทาง คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สรรหาจำนวน 194 คน ผู้บัญชาการเหล่าทัพ เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง 6 คน และเลือกโดยกลุ่มวิชาชีพ โดยการเลือก 3 ระดับ คือ อำเภอ จังหวัด และประเทศ ได้ 200 คน จากนั้นส่งให้ คสช.คัดเลือก 50 คน
    สำหรับ ส.ว.สรรหา ตามบทเฉพาะกาลที่มีวาระ 5 ปี ไม่ได้มีหน้าที่เพียงกลั่นกรองกฎหมาย แต่ยังมีภารกิจพิเศษคือการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.).


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"