(“กระทงกลีบบัว” งานฝีมือที่ใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อม อีกทั้งกระตุ้นผู้สูงวัยในการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก หรือการใช้มือหยิบจับสิ่งของ ป้องกันโรคนิ้วล็อก และสานสัมพันธ์ครอบครัวอบอุ่น หากทำร่วมกับลูกหลาน)
“วันลอยกระทง” นอกจากทำให้คนสูงอายุและลูกๆ หลานๆ ได้ขอขมาพระแม่คงคาแล้ว การที่คนวัยเกษียณทำกระทงเอง ย่อมดีต่อสุขภาพของผู้สูงอายุไม่น้อย เพราะถือว่าเป็นกิจกรรมกระตุ้น การใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการตกแต่งกระทงให้สวยงาม อีกทั้งยังได้ฝึกกล้ามเนื้อมือ ที่สำคัญในปัจจุบันมีงานประดิษฐ์จากใบตองและพืชที่หลากหลาย ซึ่งสามารถนำมามิกซ์แอนด์แมตช์ เข้ากับกระทงแฮนด์เมดได้สวยงาม และไม่ผิดทำเนียมดั้งเดิม แต่ของแถมที่ได้คือสุขภาพของวัยหลัก 5 หลัก 6 ที่ใช้เวลาว่างไปกับกิจกรรมดังกล่าว
(อ.สุนที อัศวฬหะมงคล)
ครูหลิ่น-อ.สุนที อัศวฬหะมงคล ข้าราชการบำนาญกรมศิลปากร ให้ข้อมูลว่า “สำหรับงานฝีมือที่เหมาะกับคนสูงอายุในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นเดือนของการลอยกระทง เพื่อขมาพระแม่คงคา ขอแนะนำ “งานใบตอง” โดยเฉพาะ “การประดิษฐ์กระทง” ด้วยตัวเอง ที่นอกจากประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว หากบ้านไหนที่ปลูกต้นกล้วยอยู่แล้ว อีกทั้งงานฝีมือดังกล่าวยังเป็นการช่วยรักษ์โลก โดยไม่ใช้โฟมในการทำกระทงอีกด้วย ทั้งนี้รูปแบบของกระทงใบตองที่สอดคล้องกับลักษณะทางกายภาพของคนหลัก 5 หลัก 6 อาจจะไม่ต้องละเอียด หรือมีความซับซ้อนมาก แต่แนะนำให้ท่านลองทำ “กระทงจีบกลีบบัว” โดยเปลี่ยนจากกลีบใบตองเป็นกลีบดอกบัว ก็เพิ่มความสวยงาม อีกทั้งไม่ยากจนเกินไป เนื่องจากใช้วิธีการจีบคล้ายคลึงกับจีบใบตองนั่นเอง ซึ่งถือเป็นการเพิ่มกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้สูงวัย หรือบางรายจะสร้างสรรค์ไอเดียเป็น “กระทงหัวปลี” ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยการนำกาบหัวปลีมาม้วนออก เพื่อให้เป็นลักษณะของกลีบดอก จากนั้นใช้ไม้กลัดหรือเข็มมุด ยึดปลายกลีบที่ม้วนงอ ให้ติดเข้ากับหยวกกล้วย และปัจจุบันการทำงานฝีมืออย่างการพับกุหลาบจากใบเตยหอม ก็สามารถนำมามิกซ์แอนด์แมตช์ให้เป็น “กระทงกุหลาบใบเตยหอม” ได้เช่นกัน
(“กระทงกุหลาบใบเตย” เทรนด์มิกซ์แอนด์แมตช์จากงานฝีมือที่มีกลิ่นหอมของผู้สูงวัยสู่กระทงใบน้อย)
“ถ้าจะพูดถึงประโยชน์ของการที่คนสูงวัยทำกระทงเอง ก็เป็นเรื่องของความภูมิใจ เพราะการที่ท่านได้ทำอะไร ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง และมีลูกหลานยอมรับ หรือมีคนชม เพียงเท่านี้ท่านก็จะรู้สึกดีใจ และมองว่าตัวเองมีคุณค่า อีกทั้งเป็นน้ำหล่อเลี้ยงความรู้สึก และก็จะยิ่งดีหากว่าได้ทำร่วมกับลูกหลาน หรืออย่างน้อยๆ ก็ทำให้ลูกหลานได้ใช้ลอย เพื่อขอขมาพระแม่คงคาในวันเพ็ญเดือนสิบสอง ซึ่งนั่นเป็นการสะท้อนความรู้สึก ของนักประดิษฐ์วัยเก๋า ว่าเป็นสิ่งที่ย่าทำให้เด็กๆ นะ เนื่องจากความรู้สึกของผู้สูงวัยมักจะละเอียดอ่อน ดังนั้นคำขอบคุณเล็กน้อยจากบุตรหลาน เช่น การพูดว่า “กระทงสวยจังเลยค่ะคุณย่า!!” เพียงเท่านี้หากคนแก่ได้ฟัง ก็จะรู้สึกเป็นปลื้มแล้ว และการได้หยิบจับหาวัสดุต่างๆ มาทำกระทง ก็ยังเป็นการฝึกทั้งความคิดสร้างสรรค์ และกล้ามเนื้อมัดเล็ก (กล้ามเนื้อมัดเล็ก คือการหยิบ การจับ การเขียนหรือการใช้มือ) จากการตัดหยวกกล้วย การนั่งพับจีบกระทงนั่นเอง ที่สำคัญประเพณีการขอขมาพระแม่คงคาดังกล่าว ยังถือเป็นกิจกรรมที่สานสายใยครอบครัวได้ไม่น้อย หากว่าบุตรหลานใช้เวลาหลังเลิกงาน มานั่งทำกระทงร่วมกับคุณตาคุณยาย”
(ฝึกความคิดสร้างสรรค์ให้กับคนรุ่นใหญ่ ด้วย “กระทงหัวปลี”)
22 พ.ย.นี้ลูกหลานเคลียร์คิวให้ว่าง และชวนคุณตาคุณยาย ไปร่วมขอขมาพระแม่คงคากันแบบพร้อมหน้าพร้อมตาครอบครัว...และคงจะดีไม่น้อยหากว่ากระทง 1 ใบต่อ 1 ครอบครัว โดยมีคุณย่า คุณยายและหลานๆ ช่วยกันทำ จะเป็นกระทงสไตล์ไหน มิกซ์แอนด์แมตช์ด้วยวัสดุจากธรรมชาติประเภทใด ก็เลือกตามความถนัด...เห็นด้วยไหมค่ะ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |