มือมืดลองของ ปาระเบิดขวดโจมตีบ้าน'ซูจี'


เพิ่มเพื่อน    

ตำรวจพม่ารักษาความปลอดภัยหน้าบ้านอองซาน ซูจีวันที่ 1 ก.พ. (เอเอฟพี)

เกิดเหตุมือมืดรายหนึ่งขว้างระเบิดขวดใส่บ้านริมทะเลสาบของนางอองซาน ซูจี ในนครย่างกุ้ง แต่ขณะเกิดเหตุนางซูจีไม่อยู่บ้าน และเกิดความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น     

      สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเหตุการณ์โจมตีผู้นำโดยพฤตินัยของรัฐบาลพลเรือนเมียนมา ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 จี โท เจ้าหน้าที่จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางอองซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐของเมียนมา เปิดเผยทางเฟซบุ๊กว่า ไม่มีสิ่งใดถูกทำลายหรือไหม้ กองกำลังความมั่นคงของเรากำลังทำงานกันอยู่ เพื่อจับกุมคนร้ายให้ได้

      แม้จะสร้างความเสียหายเพียงน้อยนิด แต่เหตุการณ์นี้มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ นางซูจีเคยตกเป็นนักโทษการเมืองที่ถูกกักกันไว้ในบ้านพักริมทะเลสาบในนครย่างกุ้งแห่งนี้หลายปี ในช่วงที่เมียนมาถูกปกครองโดยระบอบทหาร บางคราวนางยังเคยยืนเกาะประตูเหล็กพบปะกับผู้สนับสนุนซึ่งช่วยเพิ่มแรงกระตุ้นแก่ฝ่ายเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของพม่า

      จ่อ เทย์ โฆษกรัฐบาล ยืนยันว่าเกิดเหตุปาระเบิดขวดโจมตีบ้านของนางซูจีจริง แต่เขาไม่ได้คาดเดาเหตุผลที่อาจเป็นแรงจูงใจ

      อย่างไรก็ดี โฆษกผู้นี้ได้เผยแพร่ภาพถ่ายในหน้าเฟซบุ๊กของเขา เป็นภาพของชายต้องสงสัยสวมเสื้อยืดสีชมพูและนุ่งโสร่งสีน้ำเงิน

      นางซูจียังคงได้รับความนิยมอย่างสูงจากประชาชนในประเทศ ถึงแม้ว่าช่วงวิกฤติผู้อพยพโรฮีนจาตั้งแต่ปีที่แล้ว จะทำให้นางเสื่อมความนิยมในสายตานักสิทธิทั่วโลกที่พากันวิจารณ์นางว่านิ่งเงียบ ไม่ปกป้องชาวโรฮีนจา

      ชาวโรฮีนจาเกือบ 700,000 คนหนีความโหดร้ายจากการปราบปรามของกองทัพเมียนมาในรัฐยะไข่ ข้ามชายแดนเข้าไปพักพิงในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ที่กองกำลังติดอาวุธชาวโรฮีนจาโจมตีที่มั่นของฝ่ายความมั่นคงหลายสิบจุด และทำให้กองทัพเปิดปฏิบัติการกวาดล้าง

      ผู้อพยพชาวโรฮีนจาที่หนีเข้าบังกลาเทศพากันบอกเล่าความโหดร้ายของกองกำลังความมั่นคงเมียนมา ที่ทั้งฆ่า ข่มขืน และวางเพลิงหมู่บ้านของพวกเขา

      เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บิล ริชาร์ดสัน นักการทูตสหรัฐ เป็นอดีตพันธมิตรรายล่าสุดที่วิจารณ์นางซูจีอย่างรุนแรง พร้อมกับลาออกจากการเป็นกรรมการในคณะที่ปรึกษาที่นางซูจีแต่งตั้งเพื่อหาทางออกแก่ความขัดแย้งในรัฐยะไข่

      ริชาร์ดสันวิจารณ์นางซูจีกรณีวิกฤติโรฮีนจาว่า "ไร้ซึ่งความเป็นผู้นำทางจริยธรรม" เขาจึงไม่สามารถทำงานในคณะกรรมการที่น่าจะเป็นการปกปิดความผิดสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังวิกฤติผู้อพยพโรฮีนจาได้

      นางซูจี ซึ่งนำพรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2558 ยังคงได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในเมียนมา ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ และมองชาวมุสลิมโรฮีนจาว่าเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ โดยเรียกพวกเขาว่าชาวเบงกาลี

      ขณะที่คนร้ายปาระเบิดโจมตีบ้านของนางซูจีนั้น นางยังประชุมรัฐสภาอยู่ที่กรุงเนปยีดอ โดยนางมีกำหนดขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสครบรอบ 2 ปีที่พรรคเอ็นแอลดีขึ้นเป็นรัฐบาล นางยังไม่ได้ให้ทัศนะใดๆ ต่อเหตุการณ์นี้

      นางซูจีเคยตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มม็อบที่ลอบทำร้ายนางระหว่างการเดินสายหาเสียงเมื่อปี 2547 เหตุการณ์นี้มองกันว่าเป็นความพยายามของรัฐบาลทหารที่ต้องการลอบสังหารนาง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"