โฆษกรัฐบาลยืนยันยังยึดโรดแมปเดิม คำสั่ง คสช.ที่ 16/2561 ไม่มีผลต่อการเลื่อนวันเลือกตั้ง "ไพบูลย์" มาแปลก หนุน 24 ก.พ. เพราะรัฐบาลอยู่ในอำนาจนานเกินไป ควรให้ประเทศได้ขับเคลื่อนด้วยกระบวนการทางประชาธิปไตย เพื่อไทยมาตามฟอร์ม ถล่มเละแผนสืบทอดอำนาจแทรกแซง กกต.
หลังรัฐบาลถูกโจมตีอย่างหนักว่าเตรียมการเพื่อให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ออกไป ด้วยการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม)
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า สาระสำคัญของคำสั่งคือการสร้างความเป็นธรรมในการเลือกตั้ง โดยเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ กกต.มีเวลาพิจารณาแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างเหมาะสมมากขึ้น เกิดความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และพรรคการเมืองทุกพรรคอย่างเท่าเทียมกัน
"ยืนยันว่าการดำเนินการทุกอย่างยังเป็นไปตามโรดแมป และคำสั่งดังกล่าวไม่มีนัยใดๆ ที่จะส่งผลต่อการเลื่อนวันเลือกตั้ง" โฆษกรัฐบาลกล่าว
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป กล่าวว่า ล่าสุดพรรคประชาชนปฏิรูปมีสมาชิกพรรคที่สมัครเพื่องลงรับเลือกตั้งทั้งสิ้น 320 คน จาก 350 เขตการเลือกตั้งทั่งประเทศ โดยยังเหลือเวลารับสมัครสมาชิกพรรคเพื่อให้มีคุณสมบัติเป็นสมาชิกพรรคอย่างน้อย 90 วัน ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ถึงวันที่ 26 พ.ย. ซึ่งมั่นใจว่าจะมีสมาชิกพรรคลงสมัครครบทั้ง 350 เขต ซึ่งถือว่าสถานภาพของพรรคในปัจจุบันมีความพร้อมแล้วเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
"ขอยืนยันสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งตามกำหนดเดิมคือ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เพราะรัฐบาลปัจจุบันอยู่ในอำนาจมานานเกินไป ควรให้ประเทศได้ขับเคลื่อนด้วยกระบวนทางทางประชาธิปไตย เพื่อให้กลไกต่างๆของประเทศจะได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ต่อไปแล้ว" นายไพบูลย์กล่าวหลังมีกระแสข่าวพรรคเล็กเตรียมขอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์เรื่องเดียวกันนี้ว่า เป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้มีอำนาจใช้อำนาจในการแทรกแซงเลือกตั้ง หากติดตามข่าวจะทราบว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้นทำตั้งแต่ กกต.ชุดที่แล้ว โดยรับฟังเสียงของประชาชนและดำเนินการตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญ แต่มาวันนี้ไม่มีความหมายอีกแล้ว เพราะจะแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างไรก็ได้ อีกทั้งยังสามารถควบคุม กกต.ในการแบ่งเขตได้อีก เสียงของประชาชนที่ได้สะท้อนไม่มีความหมาย เพราะจะแบ่งแบบไหนอย่างไรก็ได้ ขัดกับรัฐธรรมนูญ ขัดกับความรู้สึกของประชาชนก็ได้ทั้งนั้น
คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวอีกว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ผ่านมารับฟังอยู่ 3 รูปแบบ แต่พอใกล้เลือกตั้งกลับมีรูปแบบที่ 4 โผล่ออกมา ซึ่งดูแล้วตลกมาก เพราะเขตเดียวกัน แต่พื้นที่ไม่ติดกัน เกิดปากแหว่ง และขัดต่อหลักการรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงมีคำสั่งดังกล่าวออกมา ซึ่งถือเป็นการเอารัดเอาเปรียบ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ แม้ยังไม่เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้งก็ยังเป็นแบบนี้ ถามว่าจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการเลือกตั้งจะสุจริต ปราศจากการซื้อเสียง และใช้อำนาจรัฐ
คสช.ครอบงำ กกต.
เมื่อถามว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือไม่ เธอตอบว่า ไม่ต้องก็อ่านออก มองชัดว่าแทรกแซงทำให้กับพรรคของผู้มีอำนาจ ขอให้ กกต.ยืดหยัดในการทำหน้าที่และรักษาเกียรติ ป้องกันการทุจริต อย่าลูบหน้าปะจมูก ส่วนประชาชนก็จะต้องตื่นตัวช่วยกันเฝ้าระวังการซื้อเสียงและการใช้อำนาจรัฐ ช่วยกันเป็นตำรวจตรวจตรา และใช้สมาร์ทโฟนให้เป็นประโยชน์
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีต ส.ส.นครพนม สมาชิกพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นว่า ประเด็นนี้เห็นได้ชัดเจนว่า คสช.ก้าวก่าย แทรกแซง ครอบงำการทำหน้าที่ของ กกต. จะเห็นได้ว่าไม่ใช่หน้าที่ของ คสช.เลยในการจัดการเลือกตั้ง แต่เป็นหน้าที่ของ กกต.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระโดยตรง
"ถามว่าถ้าไม่ใช่การก้าวก่าย แทรกแซง ครอบงำ เหตุใดในคำสั่ง คสช.ที่ 16/2561 วรรคสอง จึงมีข้อความว่า "การพิจารณาหรือดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งตามวรรคหนึ่งให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด" ข้อความดังกล่าวเห็นได้ว่าเป็นการใช้มาตรา 44 นิรโทษกรรมตนเอง คือ คสช.ที่กระทำผิดกฎหมายหรือละเมิดรัฐธรรมนูญเสียเอง ละเมิดระเบียบ กกต. ซึ่งออกตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ รวมทั้งนิรโทษกรรม กกต.และเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการแบ่งเขตไปตามกฎหมายและระเบียบ กกต." นายชวลิตกล่าว
ขณะที่นายนคร มาฉิม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า เมื่อหยิบหนังสือพิมพ์ไทยมาดูหน้าหนึ่งแทบทุกฉบับ มีแต่ข่าวการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก จาก 24 ก.พ.2562 เป็นเดือน พ.ค.2562 ก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาทันทีว่า พวกเผด็จการ คสช.และลิ่วล้อบริวารเครือข่ายเผด็จการ หลอกลวงคนไทยเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องอีกแล้ว หลังจากที่หลอกลวงมาแล้วหลายครั้ง
ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 พลเอกประยุทธ์แถลงร่วมกับนายซินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ว่าไทยจะมีการเลือกตั้งปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 แต่แล้วเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558 สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนายบวรศักดิ์ นายบวรศักดิ์ก็บอกว่า เขาอยากอยู่ยาว
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 กันยายน-1 ตุลาคม 2558ระหว่างการประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พลเอกประยุทธ์กล่าวกับนายบัน กีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ UN ว่าไทยจะมีการเลือกตั้งทั่วไปภายในกลางปี 2560
แผนสืบทอดอำนาจ
ครั้งที่ 3 ด้วยเทคนิคทางกฎหมาย ที่พวกเขาใช้ ยื้อเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 การเลือกตั้งจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในปลายปี 2560 โดยอ้างว่ากระบวนการร่างกฎหมายลูก 8 เดือน 10 ฉบับ เริ่มนับหนึ่ง
ครั้งที่ 4 วันที่ 8 ตุลาคม 2560 พลเอกประยุทธ์ได้ประกาศกลางทำเนียบขาวที่สหรัฐอเมริกา ต่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เดือนมิถุนายน 2561 จะประกาศวันเลือกตั้ง ส่วนเดือนพฤศจิกายน 2571 จะให้มีการเลือกตั้งทั่วไป
แต่แล้วพวกเขาก็ใช้บริการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อ 25 มกราคม 2561 ให้ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไป 90 วัน และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน เวลาจึงขยับออกไปเรื่อยๆ จากกุมภาพันธ์ 2562 อาจเป็นพฤษภาคม 2562
"พวกเขามีแผนการที่จะสืบทอดอำนาจ แช่แข็งประเทศไทยและคนไทยไว้ให้นานที่สุด ตามแผนการสมคบคิด ที่จะแช่แข็งประเทศ 5-20 ปี มีทั้งรัฐธรรมนูญที่เลวร้ายที่สุด วิปริตผิดเพี้ยน และบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ใช้เป็นเครื่องมือ กดให้คนไทยเป็นทาสชั่วลูกชั่วหลาน 20 ปี และพวกเขาก็ร่วมกันเสวยสุขในบรรดาเหล่าเผด็จการและสมุนบริวารอย่างอิ่มหนำสำราญ บนความทุกข์ยากลำบากอย่างแสนสาหัสของคนไทยส่วนใหญ่"
นายนครยังระบุว่า แผนการสืบทอดอำนาจของเหล่าเผด็จการเริ่มมีปัญหา เพราะยิ่งบริหาร คนไทยและสังคมไทยยิ่งตกต่ำ เศรษฐกิจย่ำแย่ การค้าการลงทุนซบเซา คนตกงาน ยาเสพติดระบาดหนัก คนดีเดินตรอก ส่วนคนชั่วที่คอยรับใช้ประจบสอพลอเผด็จการได้ดี
"ผมจึงเรียนถามคนไทยที่รักว่า พวกเราคนไทยจะปล่อยให้เผด็จการและเครือข่ายโกหกหลอกลวงต่อไปอีกหรือ หรือว่าถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะทวงสิทธิเสรีภาพความเสมอภาค ภราดรภาพ และอำนาจอธิปไตยอันเป็นของเราทุกคนคืนมาจากพวกเผด็จการที่เขาปล้นพวกเราไปกลับมาเป็นของเราได้แล้ว ไม่เชื่อคำพูดที่โกหกหลอกลวงของเผด็จการอีกต่อไป ลองพิจารณาดูนะครับ ประชาชนที่รัก" นายนครระบุ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นระบุว่า คำสั่ง คสช.ย่อมมีผลกระทบต่อการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของเจตนาแท้จริงของการออกคำสั่ง และยังทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบต่อผู้สมัครและพรรคการเมือง เพราะเปิดช่องให้เกิดการให้คุณให้โทษต่อผู้สมัครตามอำเภอใจ ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง ใครอยากให้แบ่งเขตอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองหรือพรรคของตนก็อาจไปร้องผ่านรัฐบาลหรือ คสช. และการแบ่งเขตต่อไปนี้ก็จะทำโดยไม่ต้องมีหลักเกณฑ์ ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบใดทั้งสิ้น ใครโต้แย้งฟ้องร้องไม่ได้เพราะชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ จึงน่าติดตามว่าเอื้อพรรคใดเป็นพิเศษหรือไม่
คำสั่งตัดหน้า กกต.
การออกคำสั่งนี้ไม่ได้เกิดจากการเสนอของ กกต. กกต.ดำเนินตามกฎหมายและระเบียบจนเสร็จแล้วและกำลังจะประกาศอยู่แล้ว กลับมามีคำสั่งตัดหน้า จึงเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของ กกต.อย่างชัดเจน ตอกย้ำว่าเป็นการวางระบบการเลือกตั้งที่ กกต.ไม่เป็นอิสระ คสช.และรัฐบาลสามารถแทรกแซงเมื่อไรก็ได้
"น่าเป็นห่วงว่ายังจะมีการออกคำสั่งแทรกแซงการเลือกตั้งอีกอย่างต่อเนื่องไปอีกหรือไม่ ในเรื่องใดบ้าง การออกคำสั่งนี้มีผลทำให้ระบบการเลือกตั้งไม่ “เสรีและเป็นธรรม” และขาดความน่าเชื่อถือทั้งในประเทศและสังคมโลก" นายจาตุรนต์กล่าว
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความลงบนทวิตเตอร์ @phumtham ระบุว่า "ประเทศไทยโชคดีจัง..คนบางพวกหาคนเข้าพรรคไม่ได้มาก..ก็สามารถมีโชคได้ขยายเวลาเพื่อให้เครื่องดูดได้มีโอกาสทำงานได้อีกนิดนึง...5555"
ขณะที่นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทำไมการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ กกต.ได้จัดทำไว้แล้วตามกระบวนการและผ่านการกลั่นกรองจากประชาชนมาแล้วไม่ดีอย่างไร หรือไม่ได้ดังใจพรรคที่ คสช.สนับสนุนหรือไม่ การทำเช่นนี้เหมือนไม่เคารพประชาชนที่เสียเงินเสียเวลาไปร่วมแสดงความคิดเห็นไว้แล้วใช่หรือไม่ และเมื่อย้อนไปดูการให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ก็ชัดเจนแล้วว่า กกต.ได้สรุปเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งไว้เรียบร้อยแล้ว และกำลังจะเสนอให้รัฐบาลประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่อยู่ๆ นายกรัฐมนตรีก็ใช้อำนาจตาม ม.44 ออกคำสั่ง 16/2561 มาอำนวยความสะดวกให้ กกต.สามารถจัดแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง และสามารถเลื่อนการรับสมัคร ส.ส.ไปจนถึงวันเลือกตั้ง
"อยากถามไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ว่าการออกคำสั่งให้ กกต.มีอำนาจในการจัดแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ครั้งนี้ เป็นการร้องขอมาจาก กกต.หรือไม่ และถ้า กกต.ไม่ได้ร้องขอ ทำไม พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องประกาศใช้ ม.44 ให้อำนาจ กกต.สามารถจัดทำเขตเลือกตั้งใหม่ได้อีก ถ้า กกต.ไม่ได้ร้องขอ แล้วท่านออกคำสั่งนี้มาเพื่ออะไร ยิ่งทำให้น่าสงสัยถึงเบื้องหลังของคำสั่งดังกล่าวนี้ และจะยิ่งทำให้ประชาชนหวั่นเกรงต่อการใช้อำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของคนบางกลุ่มที่ถืออำนาจอยู่ในขณะนี้หรือไม่" นางลดาวัลลิ์กล่าว
ส่วนนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ทุกอย่างว่าตามกติกา มาอย่างไรก็ไปอย่างนั้น ส่วนที่มองว่าเป็นคำประกาศเพื่อออกมาเอื้อพรรคใดพรรคหนึ่งนั้น เป็นการคาดเดากันมากกว่า กติกามาแบบใดก็ต้องไปแบบนั้น
เมื่อถามถึงกรณีที่มีพรรคเล็กๆ รวมตัวกันเพื่อขอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป นายสุวิทย์ตอบว่า ก็เป็นความคิดของพรรคเล็กๆ แต่ตนคิดว่ามันควรจะต้องเดินหน้าต่อไป เมื่อกำหนดไว้วันไหนก็ควรจะเป็นวันนั้น ความจริงพรรคพลังประชารัฐมีความพร้อมมาก ถ้าประกาศว่าพรุ่งนี้จะเลือกตั้ง เราก็พร้อมที่จะเลือกตั้งแล้ว
เลื่อนเลือกตั้งหรือเปล่า
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกกลุ่มสามมิตร กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพลังประชารัฐ ท่านมีเจตนาบริสุทธิ์ที่ต้องการให้ทุกพรรคการเมืองมีเวลาเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง และให้ กกต.ดำเนินการเลือกตั้งด้วยความเรียบร้อย เสมอภาค และเป็นธรรม มีเวลาในการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างเหมาะสม อย่าพยายามสาดโคลนให้เกิดความขัดแย้งอีกเลย และอย่าจิตตกว่าจะเลื่อนเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งก็เป็นไปตามโรดแมปอยู่แล้ว
ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อชาติ ฝากถึงทาง คสช. รวมถึง กกต. ว่าช่วยขยายความว่า จากนี้จะไม่มีเรื่องการสังกัดพรรค 90 วันอีกใช่หรือไม่ เพราะว่าเป็นการตีความกัน ถ้าเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าจะต้องให้ผู้สมัคร ส.ส.สังกัดพรรค 90 วัน ซึ่งทุกพรรคการเมือง สมาชิกจะต้องเสร็จสิ้นในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้
แต่คำสั่งที่เกิดขึ้นที่อนุญาตให้ทุกพรรคการเมือง สามารถหาผู้สมัครได้จนถึงวันรับสมัคร วันรับสมัครนั้น หมายถึงว่าภายหลังที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะประกาศใช้ในวันที่ 11 ธันวาคมนี้ หลังจากนั้นก็รอว่าจะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันรับสมัครรับเลือกตั้งวันไหน วันเลือกตั้งเป็นวันใด เพราะฉะนั้นช่วยขยายให้เกิดความชัดเจนด้วย
"ประเด็นเรื่องเลื่อนหรือไม่เลื่อนวันเลือกตั้งนั้น ผมเชื่อว่าขณะนี้พรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองเก่าพรรคการเมืองใหม่ เขาไม่มีทางเลือกว่าจะเลื่อนหรือไม่เลื่อน เพียงแต่ว่าถ้าจะตัดสินใจอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นส่วนของ กกต. หรือจะเป็น คสช. ก็ควรชี้แจงมา เพื่อที่ให้ประชาชนได้รับรู้ พรรคการเมืองได้เตรียมตัวกัน" นายจตุพรกล่าว
ที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีการจัดเวทีถกแถลงเชิงวิชาการงานเสวนา “ปฏิรูปประชาธิปไตยจากชุมชนฐานรากสู่ประเทศ” โดยตัวแทนสถาบันสร้างอนาคตไทย ทั้งนี้ มีตัวแทนจากพรรคการเมืองร่วมเสวนาด้วย อาทิ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย, นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.), นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการ อาทิ นายเสรี พงศ์พิศ อธิการบดีสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน, นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล เป็นต้น
จะเกิดความวุ่นวาย
ทั้งนี้ นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการสถาบันสร้างอนาคตไทย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ได้นำเสนอการปฏิรูปประชาธิปไตยจากฐานรากของหมู่บ้าน ชุมชน ซึ่งข้อเสนอนี้เคยถูกยื่นเมื่อครั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้นำรัฐบาล และต้องการที่จะสร้างความปรองดอง แต่ข้อเสนอนี้ถูกตีตกไป ซึ่งย้ำว่าข้อเสนอดังกล่าวนี้ต้องการที่จะพัฒนาการเมืองไทย โดยต้องแก้จากฐานรากของหมู่บ้านและชุมชน เพื่อไม่ให้นำไปสู่วังวนการรัฐประหารและวงจรเดิม โดยจะต้องมีการกระจายอำนาจให้กับประชาชน ลดอำนาจรัฐ ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมเห็นว่าในอนาคตอีก 10 ปี จะต้องไม่ปล่อยให้ประเทศอยู่ภายใต้กับดักวัฏจักรวงจรเลวร้ายทางการเมืองเป็นอันขาด
ขณะเดียวกัน นายอนุสรณ์ยังชี้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 จะเกิดปัญหาและความวุ่นวาย เพราะมีระบบจัดสรรปันส่วน มีช่องว่างทำให้เกิดการซื้อเสียงมากที่สุด ที่สำคัญอยู่ในบรรยากาศไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่เป็นธรรม ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อมีรัฐบาลแล้วพรรคการเมืองจะต้องจับมือกัน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้เป็นประชาธิปไตยโดยใช้รูปแบบเมื่อปี 2540 ที่ประชาชนได้มีส่วนร่วม อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ ส.ว. ควรงดออกเสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรี และฟังเสียงประชาชนผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดการเผชิญหน้านำไปสู่ความขัดแย้งเหมือนอย่างที่ผ่านมา
จากนั้นวงเสวนาเข้าสู่ช่วงเปิดให้ตัวแทนพรรคการเมืองได้อภิปราย โดยนายนิกรกล่าวว่า การนำเสนอโครงการดังกล่าวของนักวิชาการถือเป็นเรื่องที่ดี แต่หากมีเป้าหมายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 ทั้งฉบับเห็นว่าจะเป็นเรื่องยาก เแต่หากแก้ในจุดเล็กเพื่อประชาชน ก็เชื่อว่าจะสามารถทำได้ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้พรรคการเมืองพบปัญหาอย่างมาก เพราะพรรคถูกกระแทกและดันทำให้พรรคแตก รวมถึงทำลายไม่ให้เกิดพรรคทางเลือก และการเลือกตั้งพรรคเล็กก็ไม่มีโอกาสได้ที่นั่ง ส.ส. จึงเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญโดยเน้นที่การกระจายอำนาจไปยังประชาชน
ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า เห็นด้วยกับการพัฒนาประชาธิปไตยฐานราก เพราะ 86 ปีของประชาธิปไตย แม้พัฒนาแต่ก็ยังไม่ไปถึงไหน เพราะเกิดการแยกชิงอำนาจระหว่างตัวแทนประชาชนและรัฐราชการโดยทหาร โดยมีการโกงและความวุ่นวายในบ้านเมืองเป็นข้ออ้างในการล้มประชาธิปไตย เรียกว่าท่องเป็นนะโมเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ระหว่างการปฏิวัติ ก็มีข้อครหาเรื่องโกง ซึ่งนับวันยิ่งมากขึ้น ส่วนความวุ่นวายอาจดูดี เพราะมีปลายกระบอกปืน และม.44 ควบคุมอยู่ แต่ก็ทำให้ว้าวุ่นทั้งประเทศเหมือนกัน นอกจากนี้ การเหลื่อมล้ำยังมีมากขึ้นทุกครั้งที่มีการรัฐประหารหรือในขณะที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งนี้ 4 ปีที่ผ่านมา ประชาชนยากลำบาก ตนได้ไปเดินหาสมาชิกพรรค ยอมรับว่าไม่เคยเจอประชาชนที่เขย่าตัวของตนและบอกให้กลับมาช่วย ดังนั้น นี่ถือเป็นสถานการณ์ที่เลวร้าย
คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวอีกว่า ประเทศไทยยังคงมีการรัฐประหารทุกๆ 4 ปีครั้ง ด้วยเหตุผลการใช้วาทกรรมว่านักการเมืองเลวจึงต้องเข้ามาปฏิรูปแก้ปัญหาการโกง แต่สุดท้ายสถานการณ์ก็ดูจะเลวร้ายกว่าครั้งอื่นๆ ซึ่งฝ่ายทหารเข้ามาบริหารก็ยังพบข้อครหาเรื่องการโกงเหมือนเดิม และมีการพัฒนาเรื่องการรัฐประหารมากขึ้น คือจากเดิมอยู่เพียงแค่ 1-2 ปี แต่ครั้งนี้ได้วางโรดแมปสืบทอดอำนาจภายใต้หน้ากากประชาธิปไตย
“สิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดทั้งมี ส.ว. 250 คน เพื่อเลือกนายกฯ ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม เสียงที่แพ้นำมานับกัน การหาเสียงที่ต้องถามองค์กรอิสระ ถามว่าประชาชนได้อะไร มีแต่ทำให้พรรคการเมืองและระบบการเมืองอ่อนแอ ในส่วนของการกระจายอำนาจสู่ประชาชนก็ไม่มีเลย มีแต่รวบอำนาจสู่ส่วนกลาง ซึ่งความจริงหากจะทำให้ประชาธิปไตยเดินได้ต้องกระจายกอำนาจสู่ท้องถิ่น ดังนั้นเราจึงต้องพัฒนาประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน”
คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ รวบอำนาจมาสู่ศูนย์กลาง และต่อไปข้างหน้าจะสืบทอดอำนาจภายใต้หน้ากากประชาธิปไตยจะเห็นปัญหามากขึ้น และจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |