ในขณะที่พรรคการเมืองต่างๆ เตรียมความพร้อมสู่สนามเลือกตั้ง หลังจากที่รัฐบาล-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศโรดแมปเลือกตั้งชัดเจนว่าจะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.2562
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เดินสายไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศ ก็ให้คำมั่นสัญญาเป็นมั่นเหมาะกับผู้นำประเทศทั่วโลกว่ารัฐบาลยึดโรดแมปเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ.62 เช่นเดิม
แต่เมื่อวันศุกร์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 16/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งระบุว่า เพื่อให้การแบ่งเขตเป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงสมควรผ่อนผัน และขยายเวลาให้ กกต.ดำเนินการต่อไป
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบมาตรา 44 จึงมีคำสั่ง ในกรณีที่ กกต. คสช. หรือรัฐบาล ได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งให้ กกต.มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบหรือเปลี่ยนแปลงการพิจารณาหรือดำเนินการแบ่งเขตสำหรับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต หรือเลือกตั้งตามหมวด 3 การจัดการเลือกตั้งแห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และข้อ 7 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 ให้ได้ข้อยุติ หากเป็นกรณีเร่งด่วนจำเป็นที่ไม่อาจดำเนินการตามกฎหมายระเบียบประกาศหรือมีมติใดๆ ของ กกต.ที่ออกไว้ให้ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยชอบด้วยกฎหมายให้เป็นไปตามมติของ กกต. ทั้งนี้ให้จัดทำและประกาศเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลใช้บังคับ
ส่วนการพิจารณาหรือดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งให้ถือเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุดเพื่อให้การดำเนินการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเป็นธรรมแก่พรรคการเมือง และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ให้พรรคการเมืองสามารถสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 ได้จนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
คำสั่ง คสช.ดังกล่าวเท่ากับเป็นการประกาศตัดหน้า กกต.ที่เตรียมประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งไว้แล้ว โดย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า เดิมในวันที่ 16 พ.ย. สำนักงานอยู่ระหว่างนำส่งประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่เมื่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าวออกมา จึงได้มีการระงับการนำส่งประกาศดังกล่าวไว้ และทางสำนักงานก็จะนำร่างประกาศประกาศแบ่งเขตเดิม พร้อมคำสั่งหัวหน้า คสช.เสนอให้ที่ประชุม กกต.พิจารณาในวันจันทร์นี้ (19 พ.ย.) รวมทั้งอาจจะต้องมีการแก้ไขระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง ในเรื่องของเงื่อนเวลาให้สอดคล้องกับคำสั่งหัวหน้า คสช.
ขณะเดียวกัน ได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้เลื่อนการเปิดรับสมัครผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขต และ กกต.ประจำเขต ที่เดิมจะเปิดรับสมัครในวันที่ 19-23 พ.ย. ออกไปก่อน
ก่อนหน้านั้น นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.ก็ให้สัมภาษณ์ว่า "ขณะนี้ กกต.มีมติเลือกแล้วว่าจะใช้เขตเลือกตั้งในรูปแบบใด โดยตรวจสอบอย่างรอบคอบในทุกจังหวัดว่าทำได้จริงเป็นการเลือกรูปแบบที่ดีที่สุดตามที่ กกต.จังหวัดเสนอมา แต่ก่อนที่จะส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา กกต.ยังต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่ารูปแบบที่เลือกตรงกับรูปแบบที่จะจัดพิมพ์ไม่คลาดเคลื่อน เนื่องจากเขตเลือกตั้งลดลงจาก 375 เหลือ 350 เขต ไม่เท่าเดิมและไม่เหมือนเดิม ยืนยันไม่มีการพิจารณาเขตเลือกตั้งในรายจังหวัดใหม่"
มีรายงานจาก กกต.เปิดเผยด้วยว่า หลังวันที่ 6 พ.ย. ซึ่งเป็นการประชุม กกต.นัดสุดท้าย และได้มีการพิจารณาคัดเลือกรูปแบบการแบ่งเขตของแต่ละจังหวัดเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว กกต.ทั้ง 5 คนได้มีการลงนามในมติดังกล่าวและเตรียมให้ประธาน กกต.ลงนามในประกาศแบ่งเขตเพื่อนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่ปรากฏว่าในวันที่ 8 พ.ย. ประธาน กกต.ได้มีการเชิญประชุมนัดพิเศษ เนื่องจากเห็นว่ามีการร้องเรียนการแบ่งเขตเลือกตั้งในบางจังหวัด จึงอยากให้มีการพิจารณาทบทวนอีกครั้ง แต่ปรากฏว่ามี กกต. 2 เสียงเห็นว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะ กกต.ได้มีมติและลงนามไปแล้ว ถ้าจะทบทวนก็ต้องใช้มติ กกต. 5 เสียง
รวมทั้งระยะเวลาที่พิจารณาก็มีระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแบ่งเขตกำหนดไว้ในแต่ละขั้นตอน ซึ่งขณะนั้นถือครบตามกรอบเวลาแล้ว หากมาแก้ไข กกต.อาจจะทำผิดกฎหมาย และสุ่มเสี่ยงว่าจะถูกฟ้องปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ได้ ที่ประชุม กกต.จึงไม่ได้มีการพิจารณา แต่ก็มีกระแสจากภายนอกว่ามีใบสั่งมายัง กกต.ที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแบ่งเขตที่มีมติไปแล้ว
จะเห็นได้ว่า กกต.ได้พิจารณาคัดเลือกรูปแบบการแบ่งเขตเสร็จสิ้นหมดแล้ว โดย กกต.ทั้ง 5 คนก็ได้ลงนามในมติดังกล่าวแล้ว และสามารถดำเนินการทันเดดไลน์ของระเบียบ กกต.ซึ่งคาดการณ์ว่าจะประกาศได้ในวันที่ 9 พ.ย. แต่จู่ๆ กลับมีเหตุการณ์พลิกผัน ทั้งประธาน กกต.และ คสช.อ้างเหตุมีการร้องเรียนมาล้มมติ กกต.ดังกล่าว
เป็นที่น่าสังเกตว่า พฤติการณ์ของประธาน กกต-คสช. สอดรับกระแสข่าวที่ว่ามีการสมคบคิดที่จะเลื่อนโรดแมปเลือกตั้งออกไปอีก
โดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.ระบุว่า "ตอนนี้เหมือนการสลับหน้าเล่น เนื่องจาก คสช.และรัฐบาล กกต.จึงจะมีหน้าที่เลื่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ออกไปโดยรัฐบาลจะทำทีขึงขังว่าต้องมีเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.2562 จนเมื่อไม่สามารถเลือกตั้งได้ก็จะบอกว่า กกต.ไม่พร้อม"
แต่เมื่อผู้สื่อข่าวถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ถึงกรณีที่มีคนกังวลว่า คสช.จะตุกติกเลื่อนโรดแมปเลือกตั้ง ก็ย้อนกลับ "พูดอย่างนั้นได้อย่างไร จะตุกติกได้อย่างไร คสช.วางโรดแมปมานานแล้ว พูดแบบนี้มาชกกันดีกว่า"
เป็นการประจานความไร้วุฒิภาวะทางอารมณ์ของผู้นำ คสช.อย่างน่ารังเกียจยิ่ง ทั้งที่คำถามดังกล่าวก็มาจากพฤติการณ์ของ คสช.ที่ส่อไม่มีความจริงใจและไร้ความน่าเชื่อถือมาโดยตลอด
ขณะที่กลุ่มพรรคการเมืองนำโดย นายสาธุ อนุโมทามิ หัวหน้าพรรคพลังไทยดี ได้เตรียมยื่นหนังสือถึง กกต. ขอเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปเป็นวันที่ 5 พ.ค.2562 โดยอ้างว่า การเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.62 ทำให้พรรคที่ได้รับการจัดตั้งใหม่จะมีเวลาในการหาสมาชิกน้อย ซึ่งอาจไม่ทันตามเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยมีพรรคการเมืองเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้แล้วประมาณ 10 พรรค จะนัดแถลงข่าววันที่ 22 พ.ย.นี้
วันถัดมา นายราเชน ตระกูลเวียง หัวหน้าพรรคทางเลือกใหม่ พร้อมสมาชิกเข้ายื่นหนังสือต่อ กกต.ขอให้พิจารณาเลื่อนวันเลือกตั้ง โดยเรียกร้องให้ คสช.ปลดล็อกพรรคการเมืองทันทีหากจะเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ.62 เพื่อให้ทุกพรรคมีระยะเวลาที่เหมาะสมและเท่าเทียมกัน แต่ถ้ายังไม่ปลดล็อกก็ขอให้เลื่อนเลือกตั้งออกไปอีกประมาณ 30 วันจากกำหนดเดิม คือไปเลือกตั้งช่วงปลาย มี.ค.หรือต้น เม.ย.62
สำหรับ นายราเชน เป็นอดีตประธาน กปปส. จ.นนทบุรี มีความแน่บแน่นกับบิ๊ก คสช. และประกาศชัดเจนว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกสมัย
ทางด้านพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคอย่าง เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ คัดค้านคำสั่งหัวหน้า คสช.อย่างรุนแรง เชื่อว่าเป็นแผนการเลื่อนเลือกตั้ง โดย นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตว่า 1.ออกคำสั่งให้ตนเองและรัฐบาลมีหน้าที่รับข้อร้องเรียนเรื่องการแบ่งเขตทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ของตน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งหรือไม่ 2.การให้ คสช.และรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดการเลือกตั้งจะทำให้กระบวนการจัดการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่นในการเลือกตั้ง
3.การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ล่าช้ามีผลโดยตรงต่อการแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดของพรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัคร ก็ไม่อาจแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดได้ เพื่อต้องการให้มีเหตุผลเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากวันที่ 24 ก.พ.2562 ใช่หรือไม่ และ 4.เหตุผลที่อ้างว่าเพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยอันเป็นประโยชน์ในการปฏิรูปการเมืองก็ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 ประกอบมาตรา 44 แต่อย่างใด แต่กลับเป็นสิ่งตรงกันข้าม ยิ่งจะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยเสียมากกว่า
ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุว่า วันนี้ กกต.กลับทำตัวเป็นเหมือนกับไม้หลักปักขี้เลน การจัดการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมย่อมทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาล ทำลายความเชื่อมั่นของประเทศต่อนานาชาติ ต่อนักลงทุน ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทำให้เรียนรู้เสมอมาว่าผู้นำที่ลุแก่อำนาจมากๆ โดยไม่คำนึงถึงประชาชนนั้นจะมีจุดจบที่ไม่สวย รัฐบาลและ คสช อย่าได้กลัวพรรคการเมือง แต่ควรกลัวที่จะทำให้ประชาชนไม่สบายใจ ฝืนความรู้สึกของประชาชน เพราะเมื่อถึงวันที่ประชาชนมีสิทธิ์ตัดสินใจในวันเลือกตั้ง ผลที่ออกมาจะน่ากลัวกว่ามาก เพราะการฝืนความรู้สึกของประชาชนเป็นสิ่งที่อันตราย และผลที่ตอบสนองจากการถูกกดดันนั้นจะรุนแรง ซึ่งผมไม่อยากเห็นสิ่งนั้นเกิดขึ้น
นายบุญยอด สุขถิ่นไทย อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า อาจส่งสัญญาณจากผู้มีอำนาจที่จะแทรกแซงให้มีการเปลี่ยนแปลงการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ กกต.ทำไปแล้วแต่ไม่สำเร็จ และยังเปิดช่องให้มีการร้องเรียนผ่าน คสช.และรัฐบาล ซึ่งจะนำไปสู่เงื่อนไขให้ กกต.เปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งใหม่ จะเป็นความเสียหายร้ายแรงต่อกระบวนการเลือกตั้ง จะทำให้ผลการเลือกตั้งไม่ได้รับความเชื่อถือ อันจะนำไปสู่การไม่ยอมรับการเลือกตั้งในอนาคตได้ การยื้อเวลาการแบ่งเขตเลือกตั้งให้ล่าช้าออกไปยังกระทบกับการเตรียมความพร้อมของพรรคการเมือง จึงถูกมองได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเลื่อนการเลือกตั้งหรือไม่
สำหรับกรณีพรรคการเมืองเกิดใหม่รวมตัวกันยื่นขอให้เลื่อนการเลือกตั้งนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็มีความเห็นสอดคล้องกับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ว่า หากมีการเลื่อนเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง กกต.และ คสช.ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะจะส่งผลลบกับส่วนรวมมากกว่า ทั้งภาพลักษณ์และระบบเศรษฐกิจ
โรดแมปการเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ.62 กลายเป็นสัญญาประชาคมไปแล้ว หากจะเลื่อนให้อยู่ในกรอบ 150 วัน ใช้แจกแจงเหตุผลและความจำเป็นอย่างตรงไปตรงมาได้ แต่การที่หัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 ล้มประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.เช่นนี้ไม่มีความชอบธรรม และยิ่งจะทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล คสช.ลงไปเรื่อยๆ เป็นเกมเสี่ยงอีกครั้งของ คสช.ที่น่าจับตาว่าหากมีเหตุพลิกผันในวันข้างหน้าจะรับมือกับสถานการณ์ได้เหมือนเดิมหรือไม่?.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |