ผมไปเยือนหาดใหญ่ครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อนเพื่อไปพูดเรื่อง "หาดใหญ่ในความฝันของผม" เนื่องในโอกาสครบรอบ 22 ปีของหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ "โฟกัส" ที่ยังยืนหยัดอยู่ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงอันรุนแรงของนวัตกรรมด้านสื่อสารมวลชน
โอกาสเดียวกันนั้นผมก็ได้เจอคนรุ่นใหม่ของหาดใหญ่ ที่กระโจนเต็มตัวเข้าสู่ความเป็นผู้ประกอบการยุคดิจิทัลที่น่าชื่นชม
หลังที่ผมได้ตั้งวงพูดคุยกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่, นักวิชาการ, นักวิจัยคนคว้าและข้าราชการที่มีความคิดก้าวหน้า พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนให้ทันกับยุคสมัยแล้ว ผมมีความหวังต่อประเทศชาติมากขึ้นโขทีเดียวครับ
หลายเดือนก่อนมีข่าวบางกระแสว่าหลายเมืองหลักๆ ของไทยกำลังตกอยู่ในสภาวะ "ขาลง" เพราะ "เศรษฐกิจย่ำแย่" ทำให้ผมพยายามหาคำตอบว่านี่เป็นปรากฏการณ์ที่มาจากความเปลี่ยนแปลงหรือ "อาการ" ของการปฏิเสธที่จะรับรู้และปรับตัวต่อความเป็นไป
หาดใหญ่เป็นหนึ่งในเมืองที่เผชิญกับคำถามนี้
ผมตั้งวงพูดคุยกับคนหลายๆ วงการ รวมทั้งเดินตลาดสนทนากับพ่อค้าแม่ค้าและเสวนากับคนรุ่นใหม่ที่กำลังขี่คลื่นของความเปลี่ยนแปลง
ผมได้คำตอบว่าสิ่งที่เราเห็นเป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัว เพราะการขยายตัวของเมือง, การหดหายของเศรษฐกิจแบบเก่า และการก่อเกิดธุรกิจออนไลน์ในหลายๆ รูปแบบที่ผู้คนในเมืองนั้นๆ กำลังพยายามจะทำความเข้าใจเพื่อนำไปสู่การสร้างวิถีชีวิตแบบใหม่
ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ของสังคมย่อมมาพร้อมกับความสับสนงุนงงและความเจ็บปวด มีทั้งคนพร้อมจะขี่คลื่นของความเปลี่ยนแปลงและคนที่ปฏิเสธสิ่งใหม่ๆ เพราะยังไม่พร้อมจะออกจาก comfort zone หรือความคุ้นชินเก่าๆ
แต่สัจธรรมของความเปลี่ยนแปลงคือ เราไม่อาจต้านกระแสของสิ่งใหม่ๆ ที่มีผลกระทบต่อทุกมิติของชีวิตคนได้ อีกทั้งพายุยักษ์แห่งวิถีดิจิทัลที่บางคนเรียกว่าเป็น "ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4" นั้นจะซัดสาดใส่ทุกวงการไม่ว่าจะเล็กจะใหญ่ และความสำเร็จในอดีตก็ไม่รับประกันความสำเร็จในอนาคต
ผมไปตั้งวงกับหลายๆ ท่านที่ Tuber ที่ถนนแสงจันทร์ของหาดใหญ่ซึ่งเป็น co-working space แห่งแรกของเมืองนี้ ได้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้ก่อตั้งอย่างคุณวรนล ฐิตินันทกรที่จะสร้างเครือข่ายกับคนในวงการยุคดิจิทัลทั้งหลาย เพื่อให้มาใช้สถานที่ร่วมกันในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ในยุคใหม่ที่ไม่จำเป็นจะต้องมีสำนักงานแบบเดิมๆ อีกต่อไป
ผมเสนอว่าจาก co-working space เราควรจะก้าวไปสู่ co-thinking space ซึ่งหมายถึงการสร้างพื้นที่เปิดกว้างสำหรับการร่วมกันคิดร่วมกันแสวงหาสูตรใหม่ๆ เพื่อนำพาสังคมไปอีกหลายๆ ก้าวเพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังคุกคามเกือบทุกวงการ
การจัดหา "พื้นที่ร่วมกันคิด" สำหรับคนในสังคมจะนำไปสู่ความสร้างสรรค์บนพื้นฐานของเหตุผลและข้อเท็จจริง ไม่พึ่งพิงเพียง "ความเห็น" กับ "ความรู้สึก" ซึ่งไม่เอื้อต่อการแสวงหาทางออกร่วมกันของสังคม
การมีพื้นฐานคิดร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และเปิดกว้างจะนำไปสู่ co-action space หรือ "พื้นที่ร่วมกันทำแผนงานให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ"
เราตกลงกันว่าหากเป็นไปได้จะเดินหน้าร่วมกันคิดร่วมกันทำอย่างเป็นรูปธรรมให้กระจายตัวกว้างขวางไปทั่วทุกส่วนของสังคมไทย
ในโอกาสเดียวกันนั้นผมก็ได้พบกับชารีฟ เด่นสุมิตร ผู้ร่วมก่อตั้ง Pinsouq (พินซูก) จากจังหวัดยะลา ซึ่งเป็น Online Halal Marketplace หรือมาร์เก็ตเพลสสำหรับอาหารฮาลาลแห่งแรกของประเทศไทย
ชารีฟเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างธุรกิจออนไลน์แบบ startup ที่เน้นอาหารฮาลาลและสร้างระบบ logistics เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างดียิ่ง เพียงแค่สามปีเศษๆ Pinsouq ก็พิสูจน์ว่าความริเริ่มที่อาศัยเทคโนโลยีออนไลน์และออฟไลน์ไปพร้อมกันนั้นสามารถเกิดได้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
"มาถึงวันนี้พินซูกมีรายได้เพียงพอที่จะจ่ายเงินเดือนประจำให้ผู้ร่วมก่อตั้งที่ทำงานเต็มเวลา 4 คนได้อย่างสบายๆ แล้วครับ" ชารีฟบอกผมด้วยแววตาของความภาคภูมิใจ
คนรุ่นใหม่อีกคนหนึ่งที่ผมพบในโอกาสเดียวกันนี้คือ ปฐมพงศ์ "เอก" วรงเจริญ ซึ่งเป็นหนึ่งใน Young Entrepreneurs Chamber (YEC) ของสงขลา เขาเป็นหัวหอกในการสร้างนวัตกรรมบนมือถือที่มีข้อมูลข่าวคราวเกี่ยวกับกว่า 40 จังหวัดให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างคล่องแคล่ว
เอกเป็นตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่กล้าคิดกล้าทำ เขาผลักดันธุรกิจกาแฟที่เชียงรายแม้ตัวเองจะอยู่สงขลา เพราะเห็นโอกาสที่จะใช้นวัตกรรมสร้างแบรนด์กาแฟของไทยในระดับสากลได้
นอกจากที่เล่ามาแล้วผมยังพบปะคนวงการต่างๆ ที่หาดใหญ่และสงขลา ที่กำลังก่อตัวเพื่อสร้างพลังสังคมยุคใหม่ที่พร้อมฟันฝ่าคลื่นยักษ์แห่งความเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลอย่างน่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง
ยังมีเรื่องราวของความพยายามเช่นว่านี้อีกมากมายที่จะได้ส่งผ่านให้คนในทุกจังหวัดได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |