ส่อเลื่อนเลือกตั้งแน่ "บิ๊กตู่" งัด ม.44 ออกคำสั่งให้อำนาจ กกต.เปลี่ยนแปลงแบ่งเขตเลือกตั้งและขยายเวลาประกาศได้จน พ.ร.ป.ส.ส.มีผลบังคับใช้ เปิดช่องพรรคการเมืองสรรหาผู้สมัครจนถึงวันรับสมัคร เลขาฯ กกต.เผยเตรียมนำส่งประกาศแบ่งเขตแล้ว แต่ต้องทำตามคำสั่งจันทร์หน้า กกต.นัดถก "พท.-ปชป." โวยออกคำสั่งตัดหน้า กกต.ทั้งที่ คสช.ไม่มีอำนาจ เชื่อหวังเลื่อนเลือกตั้งเอื้อประโยชน์พรรคฝ่ายตัวเอง เตือนแทรกแซง กกต.ทำการเลือกตั้งไม่เป็นที่เชื่อถือ "ภูมิธรรม" ขู่ฝืนความรู้สึก ปชช.จบไม่สวย "มาร์ค-หน่อย" ประสานเสียง คสช.ต้องรับผิดชอบ
เมื่อวันศุกร์ ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 16/ 2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงนามโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. โดยมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการที่ กกต.ยังไม่ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง ระบุว่า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่พรรคการเมืองต่างๆ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อแบ่งเขตเลือกตั้งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเจตนารมณ์ดังกล่าว แต่เนื่องจากมีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและพรรคการเมืองต่างๆ ร้องเรียนจำนวนมาก ว่าการร่วมแสดงความคิดเห็นไม่หลากหลายครบถ้วน และการพิจารณาเสนอแนะจากระดับพื้นที่ขึ้นไปยัง กกต. ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเจตนารมณ์ รวมทั้งการทำงานของ กกต.ก็เร่งรัดเข้ามา
ดังนั้น เพื่อให้การแบ่งเขตเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงสมควรผ่อนผันและขยายเวลาให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการต่อไปตามหน้าที่ และให้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งในการสมัครรับ เลือกตั้งครั้งแรกให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นประโยชน์ในการปฏิรูปการเมือง ตลอดจนป้องกันการกระทำอันอาจเป็นการกระทบต่อความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของชาติ หรือราชการแผ่นดิน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฯ หัวหน้า คสช.โดยความเห็นชอบคสช.จึงมีคำสั่งดังนี้
ในกรณีที่ กกต., คสช. หรือรัฐบาล ได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งให้ กกต.มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบหรือเปลี่ยนแปลงการพิจารณาหรือดำเนินการแบ่งเขตสำหรับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต หรือเลือกตั้งตามหมวด 3 การจัดการเลือกตั้งแห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และข้อ 7 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 ให้ได้ข้อยุติ หากเป็นกรณีเร่งด่วนจำเป็นที่ไม่อาจดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศหรือมีมติใดๆ ของ กกต.ที่ออกไว้ให้ ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยชอบด้วยกฎหมายให้เป็นไปตามมติของ กกต. ทั้งนี้ ให้จัดทำและประกาศเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลใช้บังคับ
ส่วนการพิจารณาหรือดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งให้ถือเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุดเพื่อให้การดำเนินการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเป็นธรรมแก่พรรคการเมือง และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ให้พรรคการเมืองสามารถสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 ได้จนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง ในกรณีที่เห็นสมควรนายกรัฐมนตรี อาจเสนอ ให้ คสช.แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงถึงคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2561 ว่าสาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าวคือ การสร้างความเป็นธรรมในการเลือกตั้ง โดยเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เนื่องจากมีข้อเรียกร้องจากสังคมที่ต้องการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย เพื่อให้ กกต.มีเวลาพิจารณาแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างเหมาะสมมากขึ้น เกิดความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และพรรคการเมืองทุกพรรคอย่างเท่าเทียมกัน
"ยืนยันว่าการดำเนินการทุกอย่างยังเป็นไปตามโรดแมป และคำสั่งนี้ไม่มีนัยใดๆ ที่จะส่งผลต่อการเลื่อนวันเลือกตั้ง อีกทั้งจุดมุ่งหมายสำคัญคือ การทำให้การเตรียมการเลือกตั้งครั้งสำคัญในรอบหลายปีที่ผ่านมานี้เป็นไปด้วยความรอบคอบ เป็นธรรม และสะดวกเหมาะสม ตามความปรารถนาของทุกฝ่าย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะมีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดอนาคตของประเทศ" นายพุทธิพงษ์ กล่าว
คสช.ออกคำสั่งตัดหน้า
ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.ให้สัมภาษณ์ว่า เดิมในวันนี้สำนักงานอยู่ระหว่างนำส่งประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่เมื่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าวออกมา จึงได้มีการระงับการนำส่งประกาศดังกล่าวไว้ และทางสำนักงานก็จะนำร่างประกาศแบ่งเขตเดิม พร้อมคำสั่งหัวหน้า คสช. เสนอให้ที่ประชุม กกต.พิจารณาในวันจันทร์นี้ (19 พ.ย.) รวมทั้งอาจจะต้องมีการแก้ไขระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้งในเรื่องของเงื่อนเวลาให้สอดคล้องกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ขณะเดียวกันได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้เลื่อนการเปิดรับสมัครผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขต และ กกต.ประจำเขต ที่เดิมจะเปิดรับสมัครในวันที่ 19-23 พ.ย.ออกไปก่อน
มีรายงานว่า คำสั่งดังกล่าวน่าจะมาจากการที่ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ล่าช้า เนื่องมาจากหลังวันที่ 6 พ.ย. ซึ่งเป็นการประชุม กกต.นัดสุดท้าย และได้มีการพิจารณาคัดเลือกรูปแบบการแบ่งเขตของแต่ละจังหวัดเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว โดย กกต.ทั้ง 5 คนได้มีการลงนามในมติดังกล่าว และเตรียมให้ประธาน กกต.ลงนามในประกาศแบ่งเขต เพื่อนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ปรากฏว่าในวันที่ 8 พ.ย. ประธาน กกต.ได้มีการเชิญประชุมนัดพิเศษ เนื่องจากเห็นว่ามีการร้องเรียนการแบ่งเขตเลือกตั้งในบางจังหวัด ซึ่งถือว่าเป็นจังหวัดที่มีการแข่งขันสูง จึงอยากให้มีการพิจารณาทบทวนอีกครั้ง แต่ปรากฏว่ามี กกต.สองเสียงเห็นว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะ กกต.ได้มีมติและลงนามไปแล้ว ถ้าจะทบทวนก็ต้องใช้มติ กกต. 5 เสียง รวมทั้งระยะเวลาที่พิจารณาก็มีระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแบ่งเขตกำหนดไว้ในแต่ละขั้นตอน ซึ่งขณะนั้นถือครบตามกรอบเวลาแล้ว หากมาแก้ไข กกต.อาจจะทำผิดกฎหมาย และสุ่มเสี่ยงว่าจะถูกฟ้องปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ได้
ดังนั้นที่ประชุม กกต.จึงไม่ได้มีการพิจารณา แต่ก็มีกระแสจากภายนอกว่ามีใบสั่งมายัง กกต.ที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแบ่งเขตที่มีมติไปแล้ว รวมถึงมีพรรคการเมืองมาร้องเรื่องของรูปแบบที่ 4 หรือแม้แต่ร้องให้เร่งประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยทางสำนักงานพยายามจะแก้ไขปัญหาประกอบกับเป็นช่วงที่ประธาน กกต.ไปผ่าตัดตา ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ เพราะการพิจารณาเรื่องสำคัญต้องมีองค์ประชุม กกต.ครบ 5 คน จนในที่สุดในช่วงเช้าที่สุดทางสำนักงานได้มีการนำส่งร่างประกาศแบ่งเขต เพื่อไปลงในราชกิจจานุเบกษา แต่ก็มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ออกมาเสียก่อน
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2561 ว่า ไม่ต้องเกรงว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งจะขัดกับกฎหมาย คสช.ได้ช่วยแก้ปัญหาให้กับ กกต.เกี่ยวกับการดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ล่าช้าจนอาจขัดกับระเบียบของ กกต.เอง และสามารถแก้ไขปัญหาร้องเรียนจากประชาชนที่เห็นว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งใน 3 รูปแบบที่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเมื่อวันที่ 4-13 ต.ค.2561 อาจจะไม่เป็นธรรม และให้อำนาจแก่ กกต.ในการกำหนดเขตเลือกตั้งแบบใหม่ที่ไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและถือให้เป็นที่สุด จึงเป็นการช่วยให้ กกต.สามารถกำหนดเขตเลือกตั้งแบบตามที่ กกต.เห็นว่าเหมาะสม เป็นแบบที่ 4 ที่ 5 หรือแบบใดก็ได้โดยไม่ต้องยึดถือระเบียบใดๆ ได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมายและถือเป็นที่สุด ขอขอบคุณ คสช.ที่เห็นใจ กกต.
นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวว่า การที่หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งเช่นนี้ มีข้อพิจารณาดังนี้ 1.ออกคำสั่งให้ตนเองและรัฐบาล ซึ่งเป็นองคาพยพเดียวกัน มีหน้าที่รับข้อร้องเรียนเรื่องการแบ่งเขต ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ของตน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อมีรัฐมนตรีในรัฐบาลถึง 4 คน เป็นกรรมการบริหารของพรรคการเมืองหนึ่ง 2.การให้ คสช.และรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดการเลือกตั้ง ทั้งที่ตนเองไม่มีอำนาจหน้าที่ จะทำให้กระบวนการจัดการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และทำให้สังคมเข้าใจได้ว่าเป็นการก้าวก่ายแทรกแซง เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่นในการเลือกตั้งหรือไม่
ฝืนความรู้สึก ปชช.จบไม่สวย
3.การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ล่าช้ามีผลโดยตรงต่อการแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดของพรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัคร เพราะเมื่อไม่ทราบเขตเลือกตั้งที่แน่นอน ก็ไม่อาจแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดได้ ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้เพื่อต้องการให้มีเหตุผลเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากวันที่ 24 กพ.2562 ใช่หรือไม่ และ 4.เหตุผลที่อ้างในการออกคำสั่งซึ่งระบุว่าเพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อันเป็นประโยชน์ในการปฏิรูปการเมืองก็ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 ประกอบมาตรา 44 แต่อย่างใด แต่กลับเป็นสิ่งตรงกันข้าม ยิ่งจะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยเสียมากกว่า
นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค พท. กล่าวเช่นกันว่า แท้จริงแล้ว กกต.ได้ทำกระบวนการตามที่ผ่านการกลั่นกรองจากประชาชนมาเรียบร้อยแล้ว มีเหตุผลใดที่ต้องมาเปลี่ยนแปลงอีก ทำให้อาจคิดได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์อะไรหรือไม่ หรือมีความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใดหรือไม่ การเลือกตั้งที่มีปัญหาเรื่องความโปร่งใสตั้งแต่แรกย่อมส่งผลต่อการยอมรับของประชาชน ทำให้การเลือกตั้งมีข้อครหาว่ามีความไม่ชอบมาพากลตั้งแต่เริ่มต้น โดยการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นการแข่งขันกันระหว่างฝ่ายหนึ่งที่พร้อมที่สุดกับอีกฝ่ายที่ถูกเอาเปรียบและไม่มีข้อมูลอะไรเลย จึงคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลยว่าคำสั่งฉบับนี้ก็เพื่อให้พรรคการเมืองมีความพร้อมน้อยที่สุด แล้วจะเป็นการเลือกตั้งที่ยุติธรรมได้อย่างไร
"วันนี้ กกต.กลับทำตัวเป็นเหมือนกับไม้หลักปักขี้เลน การจัดการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม ย่อมทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาล ทำลายความเชื่อมั่นของประเทศต่อนานาชาติ ต่อนักลงทุน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทำให้เรียนรู้เสมอมาว่า ผู้นำที่ลุแก่อำนาจมากๆ โดยไม่คำนึงถึงประชาชนนั้น จะมีจุดจบที่ไม่สวย รัฐบาลและ คสช.อย่าได้กลัวพรรคการเมือง แต่ควรกลัวที่จะทำให้ประชาชนไม่สบายใจ ฝืนความรู้สึกของประชาชน เพราะเมื่อถึงวันที่ประชาชนมีสิทธิ์ตัดสินใจในวันเลือกตั้ง ผลที่ออกมาจะน่ากลัวกว่ามาก เพราะการฝืนความรู้สึกของประชาชนเป็นสิ่งที่อันตราย และผลที่ตอบสนองจากการถูกกดดันนั้นจะรุนแรง ซึ่งผมไม่อยากเห็นสิ่งนั้นเกิดขึ้น" นายภูมิธรรมกล่าว
นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นี่คือฤทธิ์เดชของ ม.44 ที่ใช้โดยมีเหตุผลที่น่าละอาย การอ้างว่ามีผู้ร้องเรียนแล้วประกาศเขตเลือกตั้งไม่ได้มันละครเกินไป หาก กกต.ยึดกฎหมายยึดระเบียบ ไม่เห็นจะต้องยืดการประกาศเขตเลือกตั้งหรือมีพรรคของกลุ่มอำนาจพรรคไหนเรียกร้องเพื่อความต้องการของตนเองแล้ว กกต.ต้องทำตามไม่ได้ดังใจ ก็ให้ทำใหม่เป็นแบบนี้หรือไม่ เพราะ กกต.ได้ส่งรูปแบบการแบ่งเขต 3 รูปแบบ ให้ทุกจังหวัดทุกเขตไปทำประชาพิจารณ์แล้วรับฟังครบถ้วนแล้วมีอะไรอีกหรือ
"สวนการยืดเวลาการเข้าสังกัดพรรคของผู้สมัครรับเลือกตั้งยิ่งแย่ใหญ่ เพราะ รธน.กำหนดเป็นสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่ก็ใช้อำนาจ ม.44 ยืดออกไป น่าจะมีเหตุผลอย่างอื่น เช่น ดูดยังไม่พอ ต้องใช้เวลาดูดเพิ่มเติมเพื่อจะสืบทอดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทำลายทั้ง กกต.และทำลาย รธน.ที่กลุ่มตนเองเขียนขึ้นมา รวมทั้งได้ผ่านประชามติมาแล้ว เป็นแบบนี้จะมีกกต.ไว้ทำไม เห็นพิษของ ม.44 ของ รธน.ฉบับปราบโกงหรือยัง ร้ายกาจขนาดไหน และคงไม่จบแค่นี้ ยังคงมีใช้อีกต่อไปแน่ เหมือนคนถือปืนคงอดยิงไม่ได้" นายสมคิดกล่าว
นายสุธรรม แสงประทุม แกนนำพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า คสช.ควรปลดล็อกพรรคการเมือง ไม่ใช่ปลดล็อก กกต.มองว่าเป็นการปลดล็อก กกต.เพื่อให้อาจเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก็ได้ เท่ากับเป็นการชี้นำแล้ว ทั้งที่รัฐบาล คสช. ควรเชิญ กกต.มาสอบถามว่าต้องการอะไร เพื่อทำให้การแบ่งเขตเลือกตั้งสมบูรณ์ โดยเรียกส่วนราชการมารับฟังเพื่อให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นตามที่เคยประกาศไว้ คำสั่งดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้เงื่อนไขการสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองใหม่ สามารถรับสมัครสมาชิกไม่ต้องคำนึงกรอบ 90 วัน เป็นการให้ประโยชน์กับพวกพรรคการเมืองที่พรรคพวกเขาตั้งขึ้นมา แบบนี้คือการเอาเปรียบทุกอย่างทั้งลับและเปิดเผย คนพวกนี้ไม่ใช่คนหน้าบาง ควรเอาหน้าไปทำถนนลาดยางแทนยางพาราจะดีกว่า
เชื่อหวังเลื่อนเลือกตั้ง
นายบุญยอด สุขถิ่นไทย อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ นายอิทธิพล บุญประคอง ประธาน กกต. ได้ระบุว่าเตรียมที่จะนำการแบ่งเขตเลือกตั้งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่กลับมีคำสั่งฉบับนี้ออกมาตัดหน้า แสดงให้เห็นว่าอาจส่งสัญญาณจากผู้มีอำนาจที่จะแทรกแซงให้มีการเปลี่ยนแปลงการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ กกต.ทำไปแล้วแต่ไม่สำเร็จใช่หรือไม่ และยังเปิดช่องให้มีการร้องเรียนผ่าน คสช.และรัฐบาล ซึ่งจะนำไปสู่เงื่อนไขให้ กกต. เปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งใหม่ การทำแบบนี้จะเป็นความเสียหายร้ายแรงต่อกระบวนการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะเท่ากับว่ามีการเข้ามาแทรกแซงการทำงานของ กกต.ได้ ซึ่งจะทำให้ผลการเลือกตั้งไม่ได้รับความเชื่อถือ อันจะนำไปสู่การไม่ยอมรับการเลือกตั้งในอนาคตได้ และเป็นการกระทำที่สวนทางการปฏิรูปการเมือง ที่ต้องให้กลไกองค์กรอิสระทำงานอย่างตรงไปตรงมา
"คสช.ยังมีพฤติกรรมที่อาจส่อไปในการเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการเลือกตั้งจากการที่มีรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลไปตั้งพรรคการเมือง การเลื่อนการแบ่งเขตเลือกตั้งที่จะมีขึ้นจะถูกครหาว่าทำเพื่อความได้เปรียบทางการเมืองของพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง การยื้อเวลาการแบ่งเขตเลือกตั้งให้ล่าช้าออกไป ยังกระทบกับการเตรียมความพร้อมของพรรคการเมือง เพราะไม่สามารถที่จะจัดตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดได้ เนื่องจากยังไม่มีการแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้อาจส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งไม่ทัน การขยายเวลาแบ่งเขตเลือกตั้งออกไปจนถึงก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.จะมีผลบังคับใช้ จึงถูกมองได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเลื่อนการเลือกตั้งหรือไม่" นายบุญยอดกล่าว
เช้าวันเดียวกัน ที่สำนักงาน กกต. นายราเชน ตระกูลเวียง หัวหน้าพรรคทางเลือกใหม่ พร้อมสมาชิกเข้ายื่นหนังสือต่อ กกต. ขอให้พิจารณาเลื่อนวันเลือกตั้ง โดยกล่าวว่า อยากให้ คสช.ปลดล็อกพรรคการเมืองทันทีหากจะเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ.62 เพื่อให้ทุกพรรคมีระยะเวลาที่เหมาะสมและเท่าเทียมกันในการเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ แต่ถ้ายังไม่ปลดล็อก ก็ขอให้เลื่อนเลือกตั้งออกไปอีกประมาณ 30 วันจากกำหนดเดิม คือไปเลือกตั้งช่วงปลาย มี.ค.หรือต้น เม.ย.62 ซึ่งยังอยู่ในกรอบเวลาที่ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วันนับแต่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคบใช้
นายราเชนกล่าวปฏิเสธว่า การเสนอเลื่อนวันเลือกตั้งของพรรคไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองไหนทั้งสิ้น ไม่ได้อยู่ข้างใคร ไม่เกี่ยวกับ 20 กลุ่มการเมืองที่นำโดยนายสาธุ อนุโมทามิ หัวหน้าพรรคพลังไทยดี และจะมีการยื่นหนังสือต่อ กกต.วันที่ 22 พ.ย.นี้ แม้ว่าเขาจะติดต่อมาให้ไปร่วม แต่ได้ปฏิเสธไป
ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา พรรคปชป. กล่าวถึงกรณีพรรคขนาดเล็กยื่นเรื่องขอให้ กกต. เลื่อนการเลือกตั้งว่า การขอเลื่อนเลือกตั้งของพรรคการเมือง คือการงดการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งกฎหมายลูกพรรคการเมือง กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. รวมถึงการงดเว้นการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงอยากถามว่า กกต.จะใช้อำนาจตามกฎหมายใดที่จะกระทำการเช่นนั้น ตนยังไม่เห็นทางออก มีบางเเนวทางที่จะทำได้ แต่ถ้าทำเเล้วอาจถูกวิจารณ์ นั่นคือการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ และไม่น่าจะแก้ได้ง่ายๆ อีกทางหนึ่งคือ การแก้กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งที่ สนช. ซึ่งก็จะขัดกับโรดเเมปที่นายกฯ ประกาศไว้ในเวทีนานาชาติต่อผู้นำประเทศทั้งหลายในโลก รวมทั้งท่านปูตินจากรัสเซียใหม่ๆ สดๆ ร้อนๆ
คสช.ต้องรับผิดชอบ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวว่า กกต.และ คสช.ต้องชี้แจงเหตุผลให้ชัดเจน และต้องตอบคำถามด้วยว่ากำลังมีการใช้พรรคการเมืองเกิดใหม่มาเป็นเงื่อนไขในการเลื่อนเลือกตั้งหรือไม่ เพราะผ่านมาทุกคนทราบตารางเวลา และยืนยันว่าสามารถเดินหน้าได้ โดยเฉพาะ กกต.กับ คสช. หากมีการเลื่อนเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง กกต.และ คสช.ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรค พท. กล่าวว่า การเลื่อนการเลือกตั้งจะทำให้ประเทศได้รับผลกระทบ ทั้งภาพลักษณ์ที่รัฐบาลได้ประกาศกับนานาประเทศว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 และยังกระทบต่อระบบเศรษฐกิจหากมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป รัฐบาลและ คสช. ต้องรับผิดชอบ กกต.ชุดใหม่ เป็นองค์กรอิสระที่ไม่มีการครอบงำ และควรจะดำเนินการเลือกตั้งให้มีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม และเป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้
นายภราดร ปริศนานันทกุล สมาชิกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ไม่มีเหตุผลที่จะขยับการเลือกตั้งออกไป หากเกิดขึ้นยิ่งแสดงให้เห็นว่านายกฯ และรองนายกฯไม่สามารถทำตามคำพูดที่ได้ประกาศไว้กับสังคมได้อีกครั้ง ไม่อยากให้เครดิตของท่านที่มีต่อสังคมหดหายลง อยากเห็นการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามกำหนด ส่วนพรรคเล็กที่ไม่พร้อมนั้น ต้องถามว่าพรรคที่จะมายื่นความจำนงให้เลื่อนการเลือกตั้ง มีบางส่วนใช่หรือไม่ที่ยังไม่แม้กระทั่งจะจัดตั้งพรรค เมื่อคิดว่าจะตั้งพรรคการเมือง ควรจะตื่นตัว ไม่ใช่จะเพิ่งมาจด
นายระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวเช่นกันว่า ตนต้องการให้รัฐบาลเลือกตั้งตามกำหนดการเดิมคือเดือนกุมภาพันธ์ ไม่ควรเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เพราะประชาชนต้องการรัฐบาลใหม่มาแก้ไขปัญหาปากท้องก่อนที่ประชาชนจะอดตาย
ขณะที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า เป็นสิทธิของพรรคเล็ก เราต้องฟังทุกฝ่าย ซึ่งพรรค พปชร.มีความพร้อมเรื่องผู้สมัครตั้งแต่วันนี้ และพร้อมดำเนินการตามโรดแมปเลือกตั้งทั้งหมด
วันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 แล้ว โดยให้ กกต.ดำเนินการจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสกา (ส.ว.) ตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญ จำนวน 200 คน ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่มีการเลือก ส.ส.ตามมาตรา 268 ไม่น้อยกว่า 15 วัน แล้วนำรายชื่อเสนอต่อ คสช.ประกอบกับมาตรา 107 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญ
ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 4/2561 ภายหลังการประชุม พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการ สมช.เปิดเผยว่า ในที่ประชุมได้มีการพูดถึงความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยาเสพติดที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการปราบปรามจนทำให้มีส่วนเข้ามาร่วมและเกี่ยวข้องกับความรุนแรง หรือในเรื่องของการเลือกตั้งที่จะมีการต่อสู้กันในทางการเมือง อาจจะมีความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง พล.อ.ประวิตรจึงได้เน้นย้ำให้มีการตรวจสอบดูแลมาตรการทางการข่าวและประเมินสถานการณ์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ยังไม่มีเหตุอะไรที่รุนแรง ส่วนกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศนั้น ขณะนี้ก็ยังมีการเคลื่อนไหวอยู่เป็นปกติ แต่อยู่ในสถานการณ์ที่ยังสามารถควบคุมได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |