“เลขาฯ กกอ.” เตรียมหารือ “หมอธี-หมออุดม.” หาแนวทางการแก้ปัญหานายกฯและกรรมการสภามหาวิทยาลัยลาออก เผยสอบถามแล้วไม่ได้คิดหนี การยื่นบัญชีทรัพย์สิน แต่เกรงกรอกไม่ครบถ้วน จะกลายเป็นทำผิดกฎหมาย เล็งเสนอให้สภามหา’ลัย สอบทาน ว่ามีกรรมการลาออกหรือไม่ เพื่อไม่ให้กระทบการบริหารงานสะดุดเพราะองค์ประกอบไม่ครบ
นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาฯ กกอ.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับประกาศ ป.ป.ช. เรื่อง กําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561 ในส่วนของตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ยังคงเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่ให้มีการขยายระยะเวลาในการบังคับใช้ออกไปอีก 60 วันนับตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2561 ดังนั้นจึงจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 31 มกราคม 2562 ว่า ขณะนี้เท่าที่ตนทราบมีกรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหลายแห่ง เตรียมยื่นลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งสาเหตุที่ลาออกนั้น ไม่ใช่เป็นการหนีหรือกลัวที่จะเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สิน เพียงแต่กังวลว่าจะกรอกข้อมูลทรัพย์สินผิดพลาด หรือไม่ครบถ้วน เนื่องจากมีความกังวลว่าตัวกรรมการเอง หรือ ครอบครัวหรืออาจมีทรัพย์สินที่จำไม่ได้และไม่ได้แจ้ง เช่น ไปซื้อหุ้นของบริษัทอื่นๆ ที่มีอัตราขึ้นลงแตกต่างกันไปแต่ละช่วง หรือบางบัญชีธนาคารมีเงินเพียงเล็กน้อยก็อาจจะกรอกไม่ครบ เป็นต้น ซึ่งหากกรอกข้อมูลไม่ถูกต้องก็จะส่งผลต่อการตรวจสอบ และผิดกฎหมาย ดังนั้นหากเกิดข้อผิดพลาดและจะต้องมาถูกดำเนินคดีตอนอายุมากก็คงไม่ใช่เรื่องที่ดี
เลขากกอ.กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เร็วๆนี้ ตนจะหารือร่วมกับนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และนพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหานายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยลาออก ซึ่งจะส่งผลต่อการบริหารมหาวิทยาลัย โดยจะเสนอให้ทำหนังสือไปยังสภามหาวิทยาลัยทุกแห่ง เพื่อขอให้สภามหาวิทยาลัยสอบทาน ว่า มีกรรมการลาออกหรือไม่ และหากลาออกจากตำแหน่งแล้วจะกระทบต่อองค์ประกอบของสภาวิทยาลัย และการบริหารงานของมหาวิทยาลัยหรือไม่ เพราะหากองค์ประกอบสภามหาวิทยาลัยไม่ครบ ก็จะไม่สามารถบริหารงานตามอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยได้ เช่น การรับรองปริญญา การอนุมัติหลักสูตร และการออกระเบียบต่างๆ ดังนั้น หากกรรมการสภามหาวิทยาลัยลาออก
"ผมอยากให้มีกำหนดช่วงเวลาการลาออกชัดเจน เพื่อที่จะบริหารจัดการเรื่องกระบวนการสรรหาบุคคลมาทดแทนได้ทัน ให้งานมหาวิทยาลัยเดินหน้าต่อไปได้ และขอให้คำนึงว่าการลาออกต้องไม่กระทบหรือเกิดปัญหาใดๆ ตามมา"นายสุภัทรกล่าว.