พณ.แย้มมีข่าวดี สัปดาห์หน้าสรุป สิทธิบัตรกัญชา


เพิ่มเพื่อน    


    “สนธิรัตน์” ลั่นไม่ปล่อยเรื่องจดสิทธิบัตร  “สารสกัดจากกัญชา” ให้คลุมเครือ เผยได้สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการรับคำขออย่างละเอียด เหตุเป็นเรื่องเก่าที่ค้างมา 8 ปีแล้ว ขีดเส้นได้ข้อสรุปสัปดาห์หน้า แย้มมีข่าวดีแน่ ย้ำกฎหมายจะอนุญาตให้ทำเฉพาะใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เพื่อประโยชน์ของคนไทยโดยคนไทย ขอเวลาวิจัย 5 ปี
    นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการรับคำขอจดสิทธิบัตร “สารสกัดจากกัญชา” ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาอย่างละเอียด เนื่องจากเป็นการยื่นคำขอมาตั้งแต่ปี 2553 หรือประมาณ 8 ปีที่แล้ว และได้ขอให้ฝ่ายกฎหมายเข้ามาดูเชิงลึกถึงวิธีการพิจารณาคำขอตามที่มีผู้ให้ข้อคิดเห็นเข้ามา และดูต่อว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยใช้ขั้นตอนตามกฎหมายให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยได้กำหนดให้สรุปผลภายในสัปดาห์หน้า   
    “เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนสนใจ ผมไม่ได้ปล่อย ผมทำมาตั้งแต่เกิดเรื่อง ตั้งแต่เป็นข่าว และได้ตรวจสอบเป็นการภายในมา 2-3 วันแล้ว เพราะถือเป็นความรับผิดชอบในการบริหาร ทำมาโดยตลอด ตอนนี้พอจะเห็นแนวทางแก้ไขปัญหาแล้ว แต่ก็อยากให้ชัดเจนในเรื่องข้อกฎหมาย จึงได้ตั้งคณะกรรมการ และให้ฝ่ายกฎหมายเข้ามาดูอีกครั้ง ซึ่งผมขีดเส้นให้ได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า บอกได้ว่ามีข่าวดีแน่ แต่เร็วไปที่จะตอบว่าจะยกเลิกคำขอได้เลยหรือไม่ ผมขอให้ชัดเจนก่อน”
    นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ในกรณีของเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่เป็นผู้รับคำขอสิทธิบัตร หากพบว่ามีความบกพร่องหรือมีความผิด ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่ก็ต้องพิจารณาถึงสาเหตุและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ รวมถึงประเด็นทางกฎหมายประกอบด้วย
    คำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับสารสกัดจากกัญชาดังกล่าว ต้องแยกระหว่างคำขอจดสิทธิบัตรกัญชาที่เป็นสารสกัดจากธรรมชาติ และคำขอจดสิทธิบัตรที่ใช้สารสกัดจากกัญชาเป็นส่วนประกอบ ซึ่งสารสกัดจากกัญชา ยังไงก็จดไม่ได้แน่นอน แต่ถ้าเป็นคำขอที่ใช้สารสกัดจากกัญชาเป็นส่วนประกอบ และเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ สามารถยื่นจดได้ และแม้จะได้สิทธิบัตรคุ้มครอง แต่ก็นำมาใช้ในไทยไม่ได้ เพราะกฎหมายไทยยังไม่ปลดล็อกให้ใช้กัญชาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
    รมช.พาณิชย์เผยว่า การรับจดสิทธิบัตรกรณีใช้สารสกัดจากกัญชามาเป็นส่วนประกอบและก่อให้เกิดเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ สามารถทำได้ เพราะเป็นหลักสากล ใครเข้ามายื่นจดก็ต้องรับคำขอไว้พิจารณา และหากได้รับการจดสิทธิบัตร ก็ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นจะเอาสารสกัดจากกัญชาไปใช่ไม่ได้ นักวิจัยไทย สามารถนำไปใช้วิจัย นำไปคิดค้นได้ และหากได้สูตรใหม่หรือได้สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ก็นำมายื่นจดสิทธิบัตรได้ แต่ไม่ใช่ไปเอาสูตรเดิมที่ได้รับการจดสิทธิบัตรแล้วมายื่นจด แบบนี้ไม่ได้
    ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีการปลดล็อกกัญชาว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ที่จะออกมา โดยเปลี่ยนฐานะกัญชาจากยาเสพติดประเภทที่ 5 มาเป็นประเภท 2 ต้องเรียกว่าเป็นการคลายล็อกกัญชาเพื่อให้วิจัยและผลิตเป็นยารักษาโรคได้ เพราะกัญชายังอยู่ในยาเสพติดประเภทที่ 5 เนื่องจากไทยได้ลงนามความร่วมมือกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก อย่างอาเซียนก็ยังอยู่ในพันธะ กัญชาเป็นยาเสพติด 
    ดังนั้น การอนุญาตปลดล็อกเพื่อให้อิสระเลยยังทำไม่ได้ กฎหมายจะอนุญาตให้ทำเฉพาะใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เพื่อประโยชน์ของคนไทยโดยคนไทย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขอเวลา 5 ปี ในการวิจัยพัฒนากัญชาทางการแพทย์โดยต้องกระทำโดยหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนที่ร่วมกับหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวเราจะสามารถพัฒนาสายพันธุ์ สารสกัดออกมาเป็นยาได้ และหากต่างชาติจะเข้ามา เราก็จะสามารถผลิตได้ในคุณภาพที่เท่ากัน และมีราคาที่ถูกกว่า ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ป่วย และเศรษฐกิจของประเทศ
    เมื่อถามกรณีมีการเรียกร้องให้องค์การเภสัชกรรม(อภ.) ฟ้องร้องกรมทรัพย์สินทางปัญญา นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ถ้าเราไปฟ้องร้องกันเองก่อน คงไม่ใช่ทางออก คงต้องไปคุยกันเพื่อให้เกิดความร่วมมือเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่คนไทยโดยแท้
    ถามอีกว่า การกำหนดระยะเวลา 5 ปีให้พัฒนาและผลิต แสดงว่าต่างชาติไม่สามารถนำเข้าได้เลยหรือไม่ รมว.สาธารณสุขตอบว่า คนละเรื่องกัน เพราะหากต่างชาติพัฒนาและผลิตจนเสร็จและมาขอขึ้นทะเบียนในไทย เป็นเรื่องสิทธิบัตรต้องไปคุยกัน แต่จะนำมาใช้เป็นยาก็ต้องมาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทยอีก ก็ต้องไปดูในรายละเอียดว่าขึ้นอย่างไรและจะใช้อย่างไร
    ผู้สื่อข่าวถามกรณีมีนักวิจัยต่างๆ หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยรังสิตจะพัฒนาต่อได้หรือไม่ ในเมื่อขณะนี้ไม่ชัดเจนเรื่องสิทธิบัตร นพ.ปิยะสกลแจงว่า หากจะวิจัยไม่มีข้อห้าม สามารถวิจัยไปได้ เพียงแต่จะมาใช้ในคน ก็ต้องรอร่าง พ.ร.บ.นี้ก่อน เมื่อออกมาก็จะใช้ได้ ส่วนมหาวิทยาลัยรังสิต ถือเป็นเอกชน ก็มาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐก็สามารถดำเนินการได้ อีกทั้งผลงานวิจัยก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับประเทศต่างๆ เราปรับได้ อย่างสูตรต่างๆ ก็ปรับได้ แต่ต้องก่อให้เกิดประโยชน์ในการรักษาโรค ตนคิดว่ามีการเปิดกว้างพอสมควร
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าไม่แน่ใจว่าจะแล้วเสร็จทันในสมัยนี้หรือไม่ เท่าที่ทราบยังไม่มีความคืบหน้าเท่าไร แต่เมื่อมีการเรียกร้องอยากจะใช้น้ำมันกัญชามาใช้ในทางการแพทย์เดิม โยนไปให้รอประมวลกฎหมายยาเสพติด แต่เนื่องจากใช้ระยะเวลายาวนานเกรงจะไม่ทันการณ์ หรืออาจจะเสร็จไม่ทันในสภาชุดนี้ จึงได้ตัดเอาเฉพาะบางส่วนในกฎหมายยาเสพติด เป็นเฉพาะเรื่องของกัญชาเพียงอย่างเดียว และเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายยาเสพติดเพียงบางมาตรา ที่เกี่ยวข้องกับกัญชาถือเป็นร่างกฎหมาย ส.ส. และมีการส่งมาขอความเห็นจากรัฐบาล รัฐบาลจึงรับร่างดังกล่าวมาเข้าที่ประชุม ครม.ไปแล้วเมื่อวันอังคารที่ 13 พ.ย. โดยให้ความเห็นชอบและเห็นว่าควรให้นำกลับเข้าสู่สภาได้
    "ปกติเมื่อ ครม.รับร่างกฎหมายจากสภามา จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน แต่ครั้งนี้ ครม.รับมาและใช้เวลาเพียง 7 วัน ก่อนจะให้ความเห็นกลับไป โดยมีการตั้งข้อสังเกต ซึ่งตามคิวแล้วตั้งใจจะนำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้า ซึ่งถือเป็นกฎหมาย ส.ส. แต่อาจจะไม่ทัน เนื่องจากมีกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับเข้าคิว และเมื่อกฎหมาย 2 ฉบับนี้ผ่านการพิจารณาเสร็จสิ้น ซึ่งเชื่อว่าจะเสร็จภายในวันถึงสองวันนี้ และคาดว่าในวันพุธหน้าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช." นายวิษณุกล่าว
    ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวว่า การจดสิทธิบัตรนั้นไม่ต้องเป็นห่วงยังไม่พิจารณา ก็คงยังไม่ให้จดสิทธิบัตร อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวน่าจะออกมาเป็นบทเฉพาะกาลระยะ 5 ปี เพื่อใช้ในการศึกษาและรักษาโรค ซึ่งขณะนี้ยังไม่จดสิทธิบัตรเลยจะผิดกฎหมายได้อย่างไร ทั้งนี้ รัฐบาลมองในระยะยาวว่าควรจะมีการผ่อนปรน เพื่อใช้ในการรักษาโรค
    วันเดียวกันนี้ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวถึงกรณีองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ไม่ยื่นฟ้องกรมทรัพย์สินทางปัญญา ปมรับยื่นคำขอสิทธิบัตรกัญชา โดยจะขอหารือก่อน ว่า เป็นไปตามที่คาดไว้ว่าหน่วยงานรัฐไม่ฟ้องกันเอง ทั้งนี้ แม้ราชการไม่ฟ้อง แต่ยังมีนิติบุคคลอื่นที่กระทำได้ โดยมูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ จะมีการหารือกันในการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ซึ่งส่วนตัวจะเสนอให้ประกาศขึ้นเว็บไซต์เตรียมฟ้องทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยจะหาแนวร่วมในการยื่นฟ้องร้อง ซึ่งต้องเป็นผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากที่กรมทรัพย์สินฯ รับยื่นคำขอสิทธิบัตรกัญชา ทั้งที่ผิดมาตรา 9 พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 เรื่องห้ามขอสิทธิบัตรที่เป็นสารในธรรมชาติ และเรื่องสรรพคุณรักษา โดยอาจจะเป็นเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง รวมทั้งผู้ประกอบการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และจะประสานไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยรังสิตด้วย
    "อยากถามกรมทรัพย์สินฯ และ รมว.พาณิชย์ว่า คิดจะปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง ให้อัพเดตเหมือนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 หรือไม่ หรืออยู่นิ่งๆ ปล่อยให้ข่าวซาไปไม่ต้องเดือดร้อน ให้ความเดือดร้อนไปอยู่ที่นักวิจัยไทย เพราะวิจัยไปก็ไม่รู้ว่าเมื่อผลิตออกมาจะไปซ้ำกับต่างชาติที่มายื่นหรือไม่ รอเวลาให้เขาฟ้องย้อนหลังเอา"
    นายวิฑูรย์กล่าวว่า พูดหลายต่อหลายครั้งว่าเรื่องนี้จะรอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาจัดการปัญหาคงไม่ได้ ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือแม้แต่ทีมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ควรออกมาทำอะไรได้แล้ว ประเด็นสิทธิบัตร ไม่ใช่แค่เรื่องกัญชา แต่ควรปฏิรูปกรมทรัพย์สินฯ ใหม่ทั้งหมด แต่เครือข่ายภาคประชาชนเรียกร้องอย่างไรก็ดูเหมือนรัฐบาลเงียบหาย ไม่มีผลตอบรับใดๆ เลย
    นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในวันที่ 16 พ.ย. เวลา 11.00 น. นายกสภาการแพทย์แผนไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และภาคีเครือข่าย จะเข้าหารือร่วมกับ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เกี่ยวกับสิทธิบัตรกัญชาว่าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างไร ที่สำนักงานอธิการบดี ดังนั้น ขอหารือเรื่องนี้ก่อน จึงจะให้ข้อมูลต่างๆ ได้ ซึ่งการหารือครั้งนี้จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ ม.รังสิตเข้าร่วมด้วย เช่น คณะเภสัชศาสตร์ ซึ่งเป็นทีมวิจัยน้ำมันกัญชาของมหาวิทยาลัย และคณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"