15 พ.ย.61- นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในวันที่ 16 พฤศจิกายน เวลา 11.00 น. นายกสภาการแพทย์แผนไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และภาคีเครือข่าย จะเข้าหารือร่วมกับ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เกี่ยวกับสิทธิบัตรกัญชาว่า จะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างไร ที่สำนักงานอธิการบดี ดังนั้น ขอหารือเรื่องนี้ก่อนจึงจะให้ข้อมูลต่างๆได้ ซึ่งการหารือครั้งนี้จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของมหาวิทยาลัยรังสิตเข้าร่วมด้วย เช่น คณะเภสัชศาสตร์ ซึ่งเป็นทีมวิจัยน้ำมันกัญชาของมหาวิทยาลัย และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า กรณีองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ไม่ยื่นฟ้องกรมทรัพย์สินทางปัญญา และขอหารือก่อนนั้นเป็นไปตามที่คาด ว่า หน่วยงานรัฐไม่ฟ้องกันอย่างแน่นอน แต่ยังมีนิติบุคคลอื่นที่กระทำได้ โดยมูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) c]t กลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช จะมีการหารือกันในการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ โดยจะมีการเสนอให้ทางเครือข่ายประกาศขึ้นเว็บไซต์เตรียมฟ้องทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยจะหาแนวร่วม ซึ่งต้องเป็นผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากสิทธิบัตรกัญชาที่ทางกรมทรัพย์สินฯ รับยื่น ทั้งๆที่ผิดมาตรา 9(1) พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 เรื่องห้ามขอสิทธิบัตรที่เป็นสารในธรรมชาติ และมาตรา 9(4) ห้ามยื่นสิทธิบัตรสรรพคุณรักษา โดยอาจจะเป็นเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง รวมทั้งผู้ประกอบการต่างๆที่เกี่ยวข้อง และในส่วนของมหาวิทยาลัยรังสิตนั้น จะมีการประสานงานไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะประกาศฟ้องร้องทันทีเลยหรือไม่ นายวิฑูรย์ กล่าวว่า คงต้องควบคู่กัน แม้ว่าขณะนี้ทาง อภ.ประกาศว่าจะมีการส่งหนังสือและหารือกับทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งกรมทรัพย์สินฯ จะเข้าพบกับทางสนช. เพื่อแจงเรื่องนี้ แต่ส่วนตัวก็ไม่เชื่อว่ากรมทรัพย์สินฯ จะยกเลิกสิทธิบัตรที่เป็นปัญหาง่ายๆ ทั้งที่เรื่องนี้พิจารณาได้ไม่ยาก
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ที่มีการสืบค้นได้ ณ ปัจจุบันพบว่าสิทธิบัตรกัญชามี 12 คำขอ แต่ยังมีสิทธิบัตรอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับกัญชาที่เราไม่รู้อีกมาก ที่สำคัญแต่ละคำขอ นั้นหากไปดูรายละเอียดบางคำขอสิทธิบัตร มีการจดสิทธิถึง 60 ข้อ แสดงว่ามีสารอะไรที่เราไม่รู้อีก อย่างสารในกัญชา ทั้งทีเอชซี(THC) และซีบีดี (CBD) อาจไปยื่นว่า ขอปริมาณเท่าไหร่ๆ ซึ่งนักวิจัยไทยหากจะพัฒนาและผลิตก็จะไม่รู้ว่าไปตรงกับสารที่ยื่นจดแล้วหรือไม่ ดังนั้น กรมทรัพย์สินฯ ต้องนำรายละเอียดตรงนี้ประกาศให้ชัดเจน แต่ที่ผ่านมาฐานข้อมูลไม่มีประสิทธิภาพ อยากถามกรมทรัพย์สินฯ รวมทั้งรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ว่า คิดจะปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง ให้อัพเดทเหมือนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 หรือ ไม่ หรืออยู่นิ่งๆ ปล่อยให้ข่าวซา ให้ความเดือดร้อนไปอยู่ที่นักวิจัยไทย เพราะวิจัยไป ก็ไม่รู้ว่าเมื่อผลิตออกมาจะไปซ้ำกับต่างชาติที่มายื่นหรือไม่ รอเวลาให้เขาฟ้องย้อนหลังเอา
นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า จริงๆ เรื่องสิทธิบัตรกัญชา เป็นเรื่องหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญา แต่ยังมีตัวอื่นๆอีก อย่างกระท่อม ที่ครม.เพิ่งผ่านวาระการประชุมก็เช่นกัน เนื่องจากทางเครือข่ายฯ เคยพบว่า ประเทศญี่ปุ่นมีการมาขอยื่นสิทธิบัตรกระท่อมเมื่อปี 2560 ในเรื่องการลดอาการปวด ซึ่งทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา ปฏิเสธว่าไม่มี แต่เราพบว่า สิทธิบัตรนั้นอยู่ในกลุ่มของ PCT ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศสำหรับการขอรับความคุ้มครองการประดิษฐ์ในประเทศสมาชิก เพื่อให้สะดวก และลดภาระของผู้ขอรับสิทธิบัตรที่ต้องการขอยื่นรับสิทธิบัตรในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งจะลดเวลาการขอสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของประเทศสมาชิก ซึ่งก็ไม่รู้ว่า จริงๆเป็นอย่างไร ดังนั้น กรมทรัพย์สินฯ ต้องชี้แจงเรื่องนี้อย่างละเอียดทั้งหมด อย่างไรก็ตามได้มีการพูดหลายต่อหลายครั้งว่า เรื่องนี้จะรอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาจัดการปัญหาคงไม่ได้ ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือแม้แต่ทีมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ควรออกมาทำอะไรได้แล้ว ประเด็นสิทธิบัตร ไม่ใช่แค่เรื่องกัญชา แต่ควรปฏิรูปกรมทรัพย์สินฯใหม่ทั้งหมด แต่เครือข่ายภาคประชาชนเรียกร้องอย่างไรก็ดูเหมือนรัฐบาล ไม่มีผลตอบลัพธ์ใดๆ เลย.