สืบสานศิลปะการแสดงกลองล้านนา
ภาคเหนือถือเป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยศิลปวัฒนธรรม การแสดง ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่รวมกลุ่มของคนทำงานด้านศิลปะแขนงต่างๆ ไว้มากมาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าศิลปินล้านนายังขาดพื้นที่เผยแพร่ผลงานดีๆ ออกมาให้สังคมรับรู้
งาน "เยือนเหมันต์ล้านนาสัมผัสคุณค่าภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม" ณ ลานอเนกประสงค์ ประตูท่าแพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันก่อน กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จัดขึ้นให้ประชาชนที่สนใจวิถีวัฒนธรรมล้านนาเข้ามาเรียนรู้และเพื่อเป็นกำลังใจให้ศิลปินล้านนา มีนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยนายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ชมการแสดงล้านนา งานนี้มีนักแสดง ศิลปินจาก 8 จังหวัด ร่วมสร้างความสุขผ่านรายการแสดงที่น่าประทับใจ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติสนใจเนืองแน่น
วีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม เยี่ยมชมการต้องลายล้านนา
ศิลปินล้านนาต้อนรับด้วยการแสดงฟ้อนสาวไหมวันทานบ บูชาแม่กาเผือก จากนั้นกึกก้องกับกลองล้านนา กลองสะบัดชัย จำนวน 19 ใบ ตามมาด้วยการแสดงทรงคุณค่า คือการขับซอ การฟ้อนดาบ ฟ้องเจิง จากศิลปินลำปาง ลำพูน ส่วนแม่ฮ่องสอนร่วมสร้างสีสันกับการฟ้อนนกกริ่งกระหร่า เต้นโต นอกจากการแสดงบนเวทีใหญ่บริเวณประตูท่าแพเปิดพื้นที่สาธิตภูมิปัญญาล้านนามากมาย ทั้งการต้องลายหรือฉลุลายล้านนา การทำจ้องหรือร่มแดง สาธิตปั้นน้ำต้นหรือคนโทน้ำจากแหล่งเรียนรู้ทางอารยธรรมเครื่องปั้นดินเผาบ้านน้ำต้น จ.เชียงใหม่ ตลอดจนศิลปะการทำหุ่นสุดประณีต
วีระ รมว.วธ. กล่าวว่า ไทยมีมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมที่สำคัญจำนวนมากที่นำมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน ต้องส่งเสริมคนท้องถิ่นรักและภูมิใจในบ้านเกิด สามารถพัฒนาศักยภาพบริหารจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมในพื้นที่ให้สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน งานเยือนเหมันต์ล้านนานี้เป็นการเปิดเวทีศิลปวัฒนธรรม สนับสนุนการสร้างงานศิลปินล้านนา และส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ รวบรวมศิลปะการแสดงพื้นบ้านมาไว้ให้ชม พร้อมสัมผัสคุณค่าภูมิปัญญาล้านนาอย่างใกล้ชิด นอกจากกิจกรรมนี้ ตนได้ประชุมมอบนโยบายงานวัฒนธรรมให้แก่เครือข่ายวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งแรกของภาคเหนือด้วย กำชับให้แต่ละจังหวัดส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาของตนเองให้มีประสิทธิภาพ
หุ่นฟ้อนแง้นศิลปหัตถกรรมสืบสานเอกลักษณ์ล้านนา
ภาสกร สุนทรมงคล ผู้ก่อตั้งคณะหุ่นช่างฟ้อน โจหน่า กล่าวว่า การเปิดเวทีแสดงทางศิลปวัฒนธรรมจะช่วยสืบทอดภูมิปัญญาด้านศิลปะการแสดง และนักแสดงมีรายได้เพิ่มขึ้น ในฐานะศิลปินล้านนา ตนได้เผยแพร่ศิลปะการแสดงหุ่นให้นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติได้ชม นอกจากแสดงที่เชียงใหม่ ยังมีโอกาสได้รับเชิญไปภาคอื่นๆ รวมถึงต่างประเทศ นอกจากเชิดหุ่น ได้นำวิธีทำหุ่นมาต่อยอดสร้างสรรค์เป็นตุ๊กตาพื้นเมือง จำหน่ายเป็นสินค้าที่ระลึกล้านนา โดยได้แรงบันดาลใจจากเครื่องเขินล้านนา งานหัตถกรรมทำจากไม้ไผ่ ถือเป็นอีกภูมิปัญญาในการใช้วัสดุพื้นถิ่น ทำโครงสร้างหุ่น โดยหุ่นผู้หญิงนำเสนอท่าทางการฟ้อนแง้น ผู้รำจะแอ่นโค้งไปด้านหลังประกอบการขับซอ แล้วยังมีฟ้อนสาวไหม ฟ้อนเล็บ ส่วนหุ่นผู้ชายจะฟ้อนดาบ ทุกขั้นตอนทำอย่างประณีต แต่มีความทนทาน ในงานเยือนเหมันต์ล้านนา ตนร่วมสาธิตทำหุ่น ยินดีถ่ายทอดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมนี้
งานปั้นต้นน้ำหรือคนโทจากบ้านน้ำต้น
ขณะที่ สมทรัพย์ ศรีสุวรรณ์ หรือ สล่าแดง ผู้อนุรักษ์การปั้นน้ำต้น นำคนโทน้ำหลายรูปทรงมาจัดแสดงในงาน พร้อมสาธิตงานปั้นถ่ายทอดภูมิปัญญาล้านนา กล่าวว่า ตนเกิดและเติบโตที่หมู่บ้านน้ำต้น อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ได้รื้อฟื้นงานปั้นน้ำต้นที่สูญหายไป น้ำต้นหรือคนโทเป็นภาชนะบรรจุน้ำดื่ม หรือใส่ดอกไม้ในแท่นบูชา และพิธีกรรมต่างๆ อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์การต้อนรับที่อบอุ่นของล้านนา มีหลักฐานการพบคนโทน้ำโบราณอายุกว่า 1,300 ปี
"กว่าจะได้น้ำต้นสักชิ้นช่างต้องมีความพยายามเริ่มจากปั้น สร้างสรรค์ลวดลาย ตนถ่ายทอดภูมิปัญญานี้ให้ผู้ที่สนใจ รวมถึงเยาวชนในภาคเหนือ ปัจจุบันต่อยอดเป็นสินค้าโอท็อป มีทั้งรูปทรงดั้งเดิม ลวดลายโบราณ และลวดลายร่วมสมัยเพื่อให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ อยากให้ภาครัฐส่งเสริมทั้งศิลปะการแสดงพื้นบ้านและภูมิปัญญาล้านนา ศิลปินและสล่ายังต้องการพื้นที่และการเก็บรวมองค์ความรู้อีกมาก" สล่าแดงแห่งบ้านแม่วางกล่าว และยินดีร่วมขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพ พร้อมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับศิลปหัตถกรรมล้านนาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |