ไปรณียบัตรส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพฯ ทรงเขียนจาก สปป.ลาว
"แสตมป์" นอกจากจะเกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารของผู้คนมาตั้งแต่อดีตแล้ว ภาพที่ปรากฏบนดวงแสตมป์ ยังมีคุณค่าในแง่ของการเชื่อมโยงเหตุการณ์ ประวัติศาสตร์สำคัญของแต่ละยุคสมัย
รวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศด้วย นับเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คนส่วนหนึ่งสนใจที่จะสะสมแสตมป์เพื่อคุณค่าทางจิตใจ และเก็บเอาไว้ให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาที่มาของแสตมป์แต่ละดวง
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ทรงสนพระทัยสะสมแสตมป์มาตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ ทรงมีแสตมป์สะสมหลายร้อยดวง ไม่เพียงแต่เป็นแสตมป์ของไทย แต่ยังมีแสตมป์จากประเทศต่างๆ ที่ทรงเสด็จ ทั้งทรงซื้อ และมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายบ้าง ซึ่งจะเห็นว่าสแตมป์นั้นมีความสำคัญ และเหมาะแก่การนำมาศึกษา
บริษัท ไปรษณีย์ ไทยจำกัด (ปณท) จึงได้ร่วมกับ สมาคมนักสะสมตราไปรษณียากรแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เตรียมจัด "งานแสดงตราไปรษณียากรโลก พ.ศ. 2561" (Thailand 2018 World Stamp Exhibition) รวบรวมแสตมป์จากทั่วทุกมุมโลก และของไทยมาจัดแสดง เพื่อเป็นการร่วมกันเผยแพร่ ส่งเสริม และยกระดับการสะสมให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตลอดจนแสดงเอกลักษณ์ของประเทศไทย ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 28 พ.ย.นี้
ไปรษณียบัตรส่วนพระองค์เมื่อครั้งเสด็จอียิปต์
นายสุรจิตร ก้องวัฒนา ที่ปรึกษาสมาคมนักสะสมตราไปรษณียากรแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า มีเรื่องราวอยู่หลายเรื่องที่ปรากฏบนดวงแสตมป์ เราควรที่จะเริ่มปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจสะสมสแตมป์กันให้มากขึ้น โดยเฉพาะเด็กๆ เพราะว่าสามารถเชื่อมโยงไปถึงการเรียนรู้สิ่งที่อยู่ในสแตมป์ได้ เช่น สแตมป์ที่มีรูปสะพานพุทธ อย่างน้อยๆ ถ้าเด็กเห็น เด็กก็จะต้องรู้ว่าสะพานพุทธสร้างเมื่อใด แล้วใช้เมื่อใด ฯลฯ ซึ่งงานนี้ก็มีส่วนสำคัญ ที่จะส่งเสริมการเรียนรู้จากแสตมป์ที่ควรชวนคนรุ่นใหม่มาศึกษา
นายสุรจิตร กล่าวต่อว่า ภายในงานจะมีไฮไลท์สำคัญที่ไม่ควรพลาด คือ การจัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินเทพยวรางกูร, การจัดแสดงไปรษณียบัตรส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพฯ จำนวน 191 ชิ้น, การประกวดแสตมป์แห่งความภาคภูมิใจของนักสะสมแสตมป์ รับรางวัลพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตอนนี้มีนักสะสมแสตมป์จากทั่วโลกตอบรับเข้าร่วมประกวดแล้วกว่า 600 ผลงานรวมมูลค่าก็หลายพันล้านบาท นอกจากนี้ยังจะมีการร่วมพูดคุยกับผู้แทนหลากหลายประเทศ เกี่ยวกับแสตมป์ และจะมีการจัดแสดง จดหมาย 3 แผ่นดิน
จดหมาย 3 แผ่นดิน รัตนโกสินทร์
ที่ปรึกษาสมาคมนักสะสมตราไปรษณียากร ให้รายละเอียดอีกว่า จดหมาย 3 แผ่นดิน เป็นการแสดงหลักฐานการบันทึกเหตุการณ์สำคัญของไทย ตั้งแต่ สมัยอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งจดหมายที่พบฉบับนี้เป็นจดหมายที่เหลืออยู่เพียงฉบับเดียวในไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2231 หรือประมาณ 330 ปี มาแล้ว แล้วก็มีจดหมายสมัยกรุงธนบุรี เป็นพระราชโองการจากจักรพรรดิเฉียนหลงฮ่องเต้ ซึ่งเอกสารฉบับนี้นับเป็นหนังสือสื่อสารระหว่างจีนและสยามที่เก่าแก่ที่สุด และสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นจดหมายของ 2 รัชกาล ได้แก่ จดหมายลายพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นจดหมายที่พระองค์ทรงเขียนตอบโต้ เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง แล้วก็จดหมายลายพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์องค์ที่ 2 ในรัชสมัยของ รัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นจดหมายที่หาชมได้ยากมาก โดยใจความในจดหมายฉบับนี้ ได้กล่าวถึง สนธิสัญญาที่ไทยได้ทำกับประเทศเดนมาร์ก และก็มีจดหมายลายพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเนื้อความในจดหมายได้กล่าวถึง การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศอินเดีย มาประดิษฐานยังประเทศไทยเพื่อให้ชาวสยามได้กราบสักการะบูชา และจดหมายที่ทรงกล่าวถึงพระราชพิธีการเปิดรถไฟท่าจีน
จดหมาย 3 แผ่นดิน อยุธยา
ขณะที่นายเมธินทร์ ลียากาศ ที่ปรึกษาสมาคมนักสะสมตราไปรษณียากรแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ฯ กล่าวว่า ในส่วนของการจัดแสดงสิ่งสะสมส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ทรงสนพระทัยในเรื่องการสะสมแสตมป์และโปสการ์ด ตั้งสมัยทรงพระเยาว์ ซึ่งการสะสมแสตมป์นับเป็นงานอดิเรกยอดนิยมในยุคนั้น ขณะทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนจิตรลดาได้ทรงสะสมแสตมป์เหมือนพระสหาย ทรงมีการแลกเปลี่ยนแสตมป์กัน และมีพระสหายทูลเกล้าฯ ถวายบ้าง พระประยูรญาติถวายบ้าง โดยแสตมป์ที่พระองค์ทรงสะสมไว้นั้นมีมากมายทั้งแสตมป์ไทยและต่างประเทศ รวมทั้งแสตมป์ชุดแรกๆ ของหลายประเทศและชุดแรกของโลก ในครั้งนี้ พระองค์ท่านได้พระราชทานไปรษณียบัตรส่วนพระองค์ จำนวน 191 ชิ้น มาร่วมจัดแสดงด้วย โดยไฮไลท์จะอยู่ที่สิ่งสะสมชิ้นพิเศษ 20 ชิ้น ที่ยังไม่เคยถูกนำไปจัดแสดงที่ไหนมาก่อน ซึ่งเป็นไปรษณียบัตรที่ทรงเขียนจ่าหน้าถึงพระองค์เองในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินยังต่างประเทศ เช่น เขียนจดหมายเหตุบรรยากาศเมื่อครั้งเสด็จงานพระราชพิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าชายวิลเลียมกับแคเธอริน มิดเดิลตัน ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ,เสด็จลาว เมื่อครั้งเปิดสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 4, เสด็จกรุงโดโดมา ประเทศแทนซาเนีย, เสด็จไคโร ประเทศอียิปต์,เสด็จมณฑลฝูเจี้ยน หรือที่เรารู้จักชื่อฮกเกี้ยน ประเทศจีน นี่ก็เป็นเพียงบางส่วนที่คัดมา ต้องดูในวันจัดแสดงจริง
นอกจากนี้ในส่วนไปรษณีย์ไทย ก็ได้ออกแบบแสตมป์ที่ระลึกชุดงานแสดงตราไปรษณียากรโลก พ.ศ. 2561 และจัดทำแสตมป์นิทรรศน์ “Stamp Journey เที่ยวทุกที่วิถีไทย” ขึ้นด้วยเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยในแต่ละภูมิภาค
ปิลันธนี สุวรรณบุบผา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวอีกว่า ได้จัดทำแสตมป์ทั้งหมด 5 แบบ นำเสนอเรื่องราวการท่องเที่ยวเมืองรอง ตามโครงการเที่ยว 55 เมืองรองของ ททท. โดยคัดเลือกแหล่งท่องเที่ยว 5 จังหวัด ใน 5 ภูมิภาค ได้แก่ 1. สะพานขาวทาชมพู จ.ลำพูน สะพานประวัติศาสตร์ที่รอดพ้นจากการถูกทิ้งระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง 2. อุทยานบัวเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร อุทยานบัวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีสายพันธุ์บัวกว่า 100 สายพันธุ์ 3. หาดทรายดำ จ.ตราด หนึ่งใน 5 หาดมหัศจรรย์ของโลกที่เกิดขึ้นจากระบบนิเวศของธรรมชาติ 4. หมู่บ้านทำกลอง จ.อ่างทอง หมู่บ้านผลิตกลองที่มีชื่อเสียงและดีที่สุดในประเทศไทย และ 5.ซุ้มประตูหิน จ.สตูล เป็นซุ้มประตูหินธรรมชาติ สัญลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ซึ่งมีความเชื่อว่าคู่รักคู่ใด ที่ได้ลอดซุ้มประตูหินนี้จะสมหวังในความรักและครองคู่กันอย่างมีความสุข โดยแสตมป์ทั้ง 5 แบบ กำหนดวันแรกจำหน่ายในวันที่ 28 พ.ย. 2561 ราคาดวงละ 3 บาท และ 15 บาท ส่วนแสตมป์นิทรรศน์ “Stamp Journey เที่ยวทุกที่วิถีไทย” เป็นนิทรรศการที่ย่อส่วนเมืองไทย เพื่อให้เที่ยวในสถานที่ต่างๆในทุกภูมิภาค แล้วก็จะมีกิจกรรมรูปแบบอินเทอร์แรคทีฟ เอาใจคนชอบเที่ยวด้วย
สำหรับงานแสดงตราไปรษณียากรโลก พ.ศ. 2561 (Thailand 2018 World Stamp Exhibition) มีจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 พ.ย. – 3 ธ.ค. ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน เข้าร่วมชมงานได้ฟรี