ต่อลมหายใจอีก60วัน สภามหา'ลัยยื่นทรัพย์


เพิ่มเพื่อน    

    ป.ป.ช.ยืดระยะเวลาบังคับใช้กฎหมาย 60 วัน ชะลอ “นายกฯ-กรรมการสภามหาวิทยาลัย” ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ระบุอาจไม่คุ้นชิน แต่ย้ำยังต้องยื่นอยู่ดี ด้าน “รมช.ศึกษาธิการ” เกรงสุญญากาศ  วอนอย่าเพิ่งลาออก แนะให้เทียบอำนาจหน้าที่ อย่าแค่ตำแหน่ง เสนอทางออกแก้ กม.-ใช้ ม.44 
    เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ตามที่ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พ.ย.61 และจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 2 ธ.ค.61 นั้น ต่อมามีกรณีที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 7 พ.ย.61 ให้เสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทบทวนการออกประกาศดังกล่าวในส่วนของตำแหน่งของนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว เห็นว่าตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยยังคงเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
    นายวรวิทย์กล่าวว่า แต่เนื่องจากเป็นตำแหน่งใหม่ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หากจะให้ประกาศฯ มีผลใช้บังคับทันทีกับผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว จะกระทบต่อการบริหารงานในมหาวิทยาลัย จึงมีมติให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.ดังกล่าว เฉพาะในส่วนของตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยไม่รวมถึงตำแหน่งอธิการบดี ทั้งในสถาบันอุดมศึกษา ในกำกับของรัฐ และสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดของรัฐ ตามข้อ 7.8.7 และข้อ 7.10.6 ของประกาศ รวมถึงตำแหน่งประธานสภาสถาบัน รองประธานสภาสถาบัน และกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า ตามข้อ 7.8.6.1 ให้ขยายระยะเวลาในการบังคับใช้ออกไปอีก 60 วัน นับแต่วันที่ 2 ธ.ค.61 และจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 31 ม.ค.62 เพื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะได้รวบรวมความคิดเห็นของบุคลากรทางการศึกษา ภาคส่วนต่างๆ ของสังคม เพื่อพิจารณาใ นรายละเอียดต่อไป
    “ตำแหน่งนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ประธานสภา รองประธานสภา และกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า เป็นตำแหน่งใหม่ กรรมการแต่ละคนอาจไม่คุ้นเคย ต้องใช้ระยะเวลา ถ้ามีกรรมการคนหนึ่งคนใดลาออก เรื่องการสรรหาคนมาทดแทนต้องใช้ระยะเวลาหนึ่ง หากบังคับใช้กฎหมายทันทีอาจมีผลกระทบต่อการบริหารงาน จึงไปดูตัวกฎหมายต่างๆ  ของมหาวิทยาลัยเบื้องต้นแล้ว เห็นว่าระยะเวลาบังคับใช้กฎหมาย 60 วัน เหมาะสมที่ทางมหาวิทยาลัยจะแก้ไขปัญหากรณีมีบุคลากรลาออก” นายวรวิทย์ กล่าว
    ทางด้าน นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า หลังจาก ป.ป.ช.ขยายเวลาบังคับใช้ประกาศ ป.ป.ช.ออกไป 60 วัน ทำให้มีเวลาที่จะไปหาทางออก และทำให้นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยมีโอกาส ขณะนี้ตนพยายามที่จะส่งข่าวไปยังนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยทุกแห่งว่าอย่าเพิ่งลาออก  รอให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กับ ป.ป.ช.ได้หาทางออกกันก่อน อย่างที่ทราบกัน ผลกระทบมากกว่าที่เราคิดไว้มาก อย่างน้อยการที่ ป.ป.ช.ยืดออกไป 60 วัน จะได้มีเวลาหารือกันมากขึ้น ซึ่งน่าเห็นใจ ป.ป.ช.เหมือนกันว่าจะหาทางออกอย่างไร เนื่องจากต้องทำตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.อย่างเดียว ดังนั้น มันต้องมาช่วยกันทั้งทางรัฐบาลและ ป.ป.ช. เช่น จะแก้ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ใหม่หรือไม่ ซึ่งก็ต้องใช้เวลา หรือบางคนเสนอให้ใช้มาตรา 44 เป็นเรื่องที่ต้องไปคุยและตกลงกัน
    “ผมคิดว่าถ้าจะแก้ต้องแก้ทั้งกระบิ จะมายกเฉพาะมหาวิทยาลัย แต่กลุ่มอื่นๆ อย่างองค์การมหาชนไม่ให้ก็จะเป็นประเด็นอีก ดังนั้นขอให้ใจเย็นนิดนึง อย่าเพิ่งลาออกตอนนี้ ถ้าลาออกกันเยอะๆ มันจะเกิดสุญญากาศ องค์ประชุมจะไม่ครบ มันจะลำบาก เพราะสภามหาวิทยาลัยต้องอนุมัติหลักสูตร ซึ่งมีการเสนอเข้าในที่ประชุมทุกครั้ง หรือตำแหน่งทางวิชาการ ที่มีการพิจารณากันทุกเดือน จะทำให้มีผลกระทบแน่นอน” นพ.อุดมกล่าว
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ช่วงเวลา 60 วันที่ยืดออกไป หากนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยยืนยันจะลาออก จะเพียงพอในการหาคนใหม่มาทดแทนหรือไม่ นพ.อุดมกล่าวว่า ตนคิดว่าไม่ทันอยู่ดี การยืด 60 วัน ทำให้คนที่คิดจะลาออกมีเวลาพิจารณามากขึ้น เพียงแต่ถ้ายังไม่พอใจสิ่งที่เราจะปรับให้ เขาก็มีสิทธิ์จะลาออกอยู่ดี ซึ่งคงเป็นช่วงท้ายๆ ในระยะเวลา 60 วัน แต่กระบวนการสรรหาใหม่เร็วสุดต้องใช้เวลา 2 เดือน อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ขอว่าอย่าเพิ่งลาออก เพราะรัฐบาลเต็มที่อยู่แล้วว่าต้องพยายามหาทางออกให้ได้
    รมช.ศึกษาธิการกล่าวว่า ตอนที่ ป.ป.ช.ทำประกาศไม่ได้มาปรึกษากับทางกระทรวงศึกษาธิการ เพราะ ป.ป.ช.ต้องทำ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยเขียนไว้กว้างๆ ว่าต้องเป็นผู้บริหารระดับสูง ส่วนเป็นใครบ้าง ป.ป.ช.เป็นผู้ตีความ ซึ่งตนคิดว่าการเทียบตำแหน่งไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องทีเดียว แต่ต้องเอาอำนาจหน้าที่เป็นหลัก สภามหาวิทยาลัยอนุมัติแต่หลักสูตรและตำแหน่งต่างๆ ไม่มีสิทธิ์อนุมัติงบประมาณ แค่เห็นชอบเพื่อส่งมาให้สำนักงบประมาณ เป็นเพียงทางผ่านเฉยๆ ไม่มีอำนาจหน้าที่อะไรเกี่ยวกับเรื่องเงินเลย แต่พอ ป.ป.ช.เทียบเอาตำแหน่งเป็นหลักทั้งที่บางตำแหน่งไม่เกี่ยวข้องเลย มันจึงเกิดผลกระทบ เป็นความปั่นป่วนวุ่นวายที่เกิดขึ้น
    นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาฯ กกอ.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเกี่ยวกับประกาศ ป.ป.ช. เรื่องกําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ในส่วนของตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ยังคงเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่ให้มีการขยายระยะเวลาในการบังคับใช้ออกไปอีก 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2561 ดังนั้นจึงจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 31 มกราคม 2562 ว่าในส่วนของการลาออกจากตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยของรัฐนั้น เป็นเรื่องภายในของมหาวิทยาลัย ไม่ต้องแจ้งมายังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งตนเข้าใจว่าหากจะมีการลาออกจริง อาจจะมีการตัดสินใจในช่วงใกล้วันที่ประกาศดังกล่าวจะบังคับใช้ เนื่องจากสภามหาวิทยาลัยจำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินงานต่างๆ  ของมหาวิทยาลัยให้เสร็จสิ้นก่อน ทั้งนี้ หากกรรมการสภามหาวิทยาลัยตัดสินใจที่จะลาออก ก็จะมีการแจ้งให้มหาวิทยาลัยรับทราบอยู่แล้ว เพื่อที่ฝ่ายบริหารจะได้เตรียมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิมาทดแทนต่อไป
    เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยลาออก จะกระทบต่อการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยหรือไม่ นายสุภัทรกล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับปฏิทินการดำเนินงานของแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งตนคิดว่าสภามหาวิทยาลัยควรจะมีการวางแผนการดำเนินงานให้ดี เช่น หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงหลักสูตรอย่างเร่งด่วน และกรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่ครบ ก็จะไม่สามารถดำเนินการได้ เป็นต้น
    ด้าน นพ.กำจร ตติยกวี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในส่วนของกรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชุดนี้ที่กำลังจะหมดวาระอีกประมาณ 2 เดือนข้างหน้านี้นั้น หากป.ป.ช.ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศดังกล่าวออกไปอีก 60 วัน ตนคิดว่าน่าจะอยู่ได้ เพราะกรรมการส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นสภาจุฬาฯ หรือที่อื่นๆ ที่ใกล้จะหมดวาระมองว่าการยื่นบัญชีทรัพย์เป็นความวุ่นวาย เนื่องจากใกล้จะหมดวาระแล้ว จึงตัดสินใจที่จะลาออกมากกว่า เพราะตนคิดว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่จะยื่นหรือไม่ยื่น อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าความวุ่นวายนี้จะยังไม่จบ เพราะมหาวิทยาลัยนอกจากจะต้องการความช่วยเหลือด้านวิชาการแล้ว ยังต้องการความช่วยเหลือจากสังคมในด้านอื่นๆ ด้วย ซึ่งประสบการณ์และแนวความคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะสามารถช่วยในการทำนายอนาคตของบัณฑิตที่นะผลิตขึ้นในแต่ละมหาวิทยาลัยได้ด้วย และหากขาดในส่วนนี้ไป จะหาคนมาทดแทนได้หรือไม่นั้น ตนคิดว่าเป็นประเด็นที่น่าปวดหัวของแต่ละมหาวิทยาลัย
    "ความคิดของการแจงทรัพย์สินมาจากข้าราชการที่ทำหน้าที่เดียว และมีรายได้ทางเดียว ในขณะที่ภาคเอกชนที่ไม่ได้มีรายรับทางเดียวเหมือนกับข้าราชการ และยังมีทรัพย์สินส่วนตัวที่ไม่ต้องการจะเปิดเผย เพราะอาจจะส่งผลต่อธุรกิจ ดังนั้นการที่จะให้นักธุรกิจภาคเอกชนมาเท่ากับข้าราชการ ผมว่ามันไม่ใช่" นพ.กำจรกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"