จีนกับญี่ปุ่นจับมือคานอิทธิพลทรัมป์ : ไทยจะได้ ‘ส้มหล่น’ อย่างไร?


เพิ่มเพื่อน    

    ทำไมจีนกับญี่ปุ่นจึงประกาศจับมือร่วมกันลงทุนในประเทศที่สาม และทำไมไทยจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าโครงการนี้เป็นประเทศแรกๆ?
    หัวข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญที่คนไทยควรจะต้องพิเคราะห์และติดตามเพื่อให้ได้ประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนสิ่งที่ผมเรียกว่า "สมการแห่งอำนาจ" อย่างเป็นรูปธรรม
    อาจารย์ปิติ ศรีแสงนามแห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนวิเคราะห์ประเด็นนี้ใน  101.World ได้น่าฟังมาก เป็นมุมมองที่สมควรจะมีการต่อยอดเพื่อนำไปสู่ยุทธศาสตร์ระดับชาติอย่างเป็นเรื่องเป็นราวให้ได้    
    อาจารย์ปิติเขียนตอนหนึ่งว่า
    “สิ่งที่ทั้งโลกจับตามองมากกว่านั้นก็คือ เราไม่เห็นการประกาศของรัฐบาลญี่ปุ่นในการเข้าไปทำโครงการในประเทศจีน และในทางตรงกันข้ามเราก็ไม่เห็นการประกาศของรัฐบาลจีนที่เข้าไปทำโครงการในประเทศญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน ทว่าทางออกอันชาญฉลาดของจีนและญี่ปุ่นคือการสร้างเวทีใหม่ โดยไปร่วมกันลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่ 3
    เมื่อตกลงกันว่าจะไปลงทุนในประเทศที่ 3 แล้ว ผลประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ คือการผลิตสินค้าที่เกิดขึ้นจากการลงทุนดังกล่าว ซึ่งจะไม่ใช่สินค้า Made in China ทั้งจีนและญี่ปุ่นจะได้แหล่งกำเนิดสินค้าที่ไม่ถูกกีดกันจากสงครามการค้า ขณะเดียวกันทั้งสองประเทศยังสามารถร่วมกันขยายอิทธิพลในระดับภูมิภาคได้ต่อไป โดยเฉพาะในภูมิภาค Indo-Pacific
    จากวิธีการที่ว่ามา จีนจะได้ประโยชน์อย่างน้อยใน 2 มิติ มิติแรกคือเป้าหมายของจีนในการเชื่อมโยง Belt and Road Initiative ซึ่งจะไม่มีวันต่อชิ้นส่วนครบหากไม่มีญี่ปุ่น ที่มีทั้งเงินทุน เทคโนโลยี  เครือข่ายกับประเทศต่างๆ และประสบการณ์การสร้างระเบียงเศรษฐกิจโดยเฉพาะในอาเซียน และมิติที่สองคือ การเข้ามาของญี่ปุ่นในโครงการที่จะไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่ 3 จะทำให้ภาพพจน์ด้านลบซึ่งมีมาแต่เดิมของ BRI ที่มักจะถูกหลายๆ ประเทศในโลกตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์เบาบางลง เพราะเที่ยวนี้จะมีญี่ปุ่นซึ่งมีมาตรฐานสูง และมีความเชี่ยวชาญอย่างยิ่งในการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหา Trust Crisis เข้ามาเป็นส่วนร่วมด้วย (อย่าลืมว่าในทศวรรษ 1970 นิสิตนักศึกษาไทยเดินขบวนต่อต้านการใช้สินค้าญี่ปุ่น แต่ในทศวรรษ 2010 นิสิตนักศึกษาไทยเดินขบวนเข้าร้านอาหารญี่ปุ่นและไปเที่ยวญี่ปุ่น)
    ส่วนญี่ปุ่นเองก็ได้ประโยชน์เช่นกัน เพราะเป็นรูปแบบการมีปฏิสัมพันธ์กับจีนที่ไม่ใช่เข้าไปในจีนโดยตรง แต่ร่วมกันไปพัฒนาประเทศที่ 3 ซึ่งไม่มากเกินไปจนเสียความสัมพันธ์กับโลกตะวันตก ขณะเดียวกันก็ทำให้ฝ่ายจีนพอใจ โดยที่ญี่ปุ่นเองก็ได้เครื่องมือใหม่ที่สามารถลดหรือสร้างดุลกับการขยายอิทธิพลของจีนในเวทีอาเซียน (อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่าเมื่อไม่สามารถปิดล้อมได้ ก็ดำเนินนโยบายในทิศทางเดียวกันแทนในรูปแบบ Engage and Contain) ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของ Indo-Pacific ได้ด้วย  ที่สำคัญกว่านั้นคือ ญี่ปุ่นเองก็ได้ความสัมพันธ์กับจีนไปใช้เป็นแต้มต่อ (Leverage) ในการไปเจรจาต่อรองกับประเทศในโลกตะวันตกได้อีกด้วย
    ความร่วมมือในเวทีใหม่ (New Stage Cooperation) ของจีนและญี่ปุ่น ทำให้ทั้งคู่ได้ประโยชน์ร่วมกัน หรือ Win-Win ด้วยกันทั้งคู่ แต่ก็มีคนที่อยู่เงียบๆ แต่กินเรียบหมด นั่นคือประเทศที่ 3 ที่ทั้งจีนและญี่ปุ่นเลือกที่จะไปลงทุน ซึ่งจากการพบกันในการประชุมครั้งนี้ ทั้ง 2 ประเทศมีความเห็นตรงกันว่า โครงการแรกที่จะร่วมมือกันเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่ 3 คือ การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ  (Smart City) ที่จังหวัดชลบุรี ของประเทศไทย โดยจะเป็นเงินลงทุนที่มาจาก Japan Bank for  International Cooperation (JBIC) ร่วมกับ China Development Bank”
     ท่านสรุปว่า
    “คำถามที่สำคัญที่สุดต่อจากนี้คือ เมื่อส้มกำลังจะมาหล่นที่ประเทศไทย แล้วประเทศไทยเตรียมความพร้อมในการรับส้มหล่นลูกนี้ดีพอรึยัง อย่าให้ส้มต้องหล่นและกลิ้งไปจากไทยนะครับ เสียของแย่เลย”
    ผมเห็นพ้องอย่างยิ่งเลยครับว่า ถ้าไทยเราไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงนี้ เราก็จะเสียโอกาสอย่างใหญ่หลวง จังหวะอย่างนี้อาจจะไม่หวนกลับมาให้เราแก้ตัวง่ายๆ อีกก็ได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"