นับวันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยิ่งรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอุณหภูมิที่สูงขึ้นของโลก ที่มาจากผลของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นำไปสู่ภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก เพราะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และสิ่งแวดล้อมบนโลกอย่างมาก ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้นก็คือ การพัฒนาประเทศ พัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งแวดล้อมหรือการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ และพฤติกรรมของมนุษย์ ดังนั้นจึงต้องมีการแก้ไข การหาแนวทางในการป้องกัน เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับโลกและมวลมนุษย์จำนวนมากในอนาคต
จากข้อมูลสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2558 (COP21) ข้อสรุปหนึ่งที่สำคัญ คือ ไทยได้แสดงเจตจำนงในการวางเป้าหมายว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายหลังปี 2563 ให้ได้ร้อยละ 20-25 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะปล่อย 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในปี 2573 ดังนั้น จึงต้องพยายามลดการปล่อยลงให้ได้ 111-139 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในทุกภาคส่วน
โดยในส่วนของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจจึงได้หันมาให้ความสนใจกับการลดก๊าซเรือนกระจก โดยได้เกิดธุรกิจซื้อขายแบบใหม่ คือ ตลาดคาร์บอนเครดิตแบบสมัครใจ ที่เกิดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการที่สมัครใจ ที่นับว่าเติบโตและได้รับความสนใจอย่างมากจากภาคธุรกิจในวงกว้าง ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต หรือสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะมีผู้ที่เกี่ยวข้องคือ ประเทศที่พัฒนาแล้วหรืออุตสาหกรรมต่างๆ ที่ไม่สามารถลดก๊าซคาร์บอนได้ จึงต้องเข้าไปซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศที่กำลังพัฒนาหรืออุตสาหกรรม ที่มีการปล่อยคาร์บอนในปริมาณที่น้อย ซึ่งมีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทยที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ
ล่าสุด องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) (อบก.) ร่วมกับกลุ่มมิตรผล, ธนาคารกสิกรไทย, บมจ.การบินไทย, โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ, บริษัท สแครทช์ เฟิร์สท์, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมลงนามการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ประจำปี 2561 ภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Program: T-VER) เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มีนโยบายจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยตั้งเป้าหมายระยะสั้นลดให้ได้ร้อยละ 7-20 ภายในปี พ.ศ.2563 และในระยะยาวร้อยละ 20-25 ภายในปี พ.ศ.2573
พลเอกเอกชัย จันทร์ศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก ดังนั้น ทางภาครัฐจึงต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ร่วมถึงการสนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาผ่านมาตรการและกลไกต่างๆ โดยที่ไม่ส่งผลเสียต่อการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศในด้านอื่นๆ ดังนั้น ที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันซื้อขายคาร์บอนเครดิต ทำให้ตารางคาร์บอนเป็นกลไกที่จะช่วยส่งเสริมองค์กรที่มีศักยภาพลดการปล่อยก๊าซเรือนกกระจก และในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้องค์กรที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วยตนเอง สามารถประเมินและเข้าสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยก๊าซที่ปล่อยออกไป ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ประเทศไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
ด้านนางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการ อบก. กล่าวว่า อย่างที่ทราบกันดีว่าปัญหาภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นทุกขณะ ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบในแง่ของฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และฝนตกนอกฤดูกาล เป็นต้น ในฐานะสมาชิกรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพิธีสารเกียวโต เราตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ในฐานะองค์กรที่สนับสนุนและส่งเสริมการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแก่ภาคส่วนต่างๆ จึงได้พัฒนาโครงการ “ลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ โดยสามารถนำปริมาณการลด/ดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง ที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งภายใต้โครงการ T-VER นี้ เรียกว่า “TVERs” ไปขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศได้ ทั้งนี้ อบก.ได้กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการพัฒนาโครงการ ระเบียบวิธีการในการลดก๊าซเรือนกระจก (Methodology) การขึ้นทะเบียนและการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก
ผอ.อบก.กล่าวอีกว่า เพื่อให้บรรลุตามนโยบายรัฐที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 6-20% ภายในปี 2563 และระยะยาวลดลง 20-25% ภายในปี 2573 โดยประเทศไทยที่กำหนดไว้ว่าใน 1 ปี ควรจะลดได้ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในภาพรวมของทั้งประเทศ ซึ่งในการติดตามประเมินในทุกปี ใน 2 ปีที่ผ่านมา ไทยสามารถลดได้ถึง 48 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็นผลมาจากการทำโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ที่องค์กรอื่นๆ ได้มีส่วนร่วมและช่วยกัน ซึ่งการลงนามร่วมกันในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในโครงการ T-VER เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยจุดประกายให้ทุกภาคส่วนของประเทศหันมาสนใจในการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยความสมัครใจ และการซื้อขายคาร์บอนเครดิตก็เป็นส่วนหนึ่งของความสมัครใจด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ไม่เพียงเฉพาะองค์กรหรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ทาง อบก.ยังหวังให้ผู้ประกอบรายเล็กเข้ามามีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย โดยที่ไม่ต้องผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการพัฒนาโครงการ ระเบียบวิธีการในการลดก๊าซเรือนกระจก การขึ้นทะเบียนและการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับเวทีโลก เทียบเท่าประเทศญี่ปุ่นและจีน แต่ในด้านกฎหมายที่ยังไม่มีการบังคับใช้ว่าอุตสาหกรรม ธุรกิจ ผู้ประกอบหรือบุคคลใดต้องดำเนินการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ หรือการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญ เพราะมีผลต่อการตัดสินใจในการลงทุน ในการดูว่าองค์กรมีส่วนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือไม่ ซึ่งทางกระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็กำลังพิจารณาร่วมกันในการหาแนวทางแก้ไข ดังนั้นการให้ตลาดคาร์บอนเครดิตเติบโตก็ต้องอยู่ที่ความตระหนักของแต่ละคนด้วย
ผอ.อบก.กล่าวอีกว่า สำหรับผลการดำเนินงานโครงการ T-VER ของกลุ่มมิตรผลที่ผ่านมา มีผู้มาซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม จำนวน 26 องค์กร ประกอบด้วย หน่วยงานภาคเอกชน จำนวน 15 องค์กร ภาครัฐ จำนวน 9 องค์กร และรัฐวิสาหกิจ จำนวน 2 องค์กร มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER รวมทั้งสิ้นกว่า 200,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือคิดเป็นประมาณ 90% ของตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยตามมาตรฐาน T-VER จาก 5 ประเภทโครงการ ได้แก่ ชีวภาพ ชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ และการนำความร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้วัตถุดิบด้านพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยังเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้พัฒนาโครงการ อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดขยายตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศ โดยปัจจุบันมีมูลค่าการซื้อขายกว่า 6.2 ล้านบาท
"กลุ่มมิตรผลนับเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่นำร่องและกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนรายอื่นๆ อบก.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยไปถึงเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกตามที่วางไว้ ในระดับบุคคลก็สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตไปชดเชยได้ โดยสามารถศึกษาการซื้อขายได้ในเว็บไซต์ http://www.tgo.or.th" ผอ.อบก.กล่าว
ด้านภาคอุตสาหกรรม กฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล ผู้ขายคาร์บอนเครดิตรายใหญ่ของประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทได้มีการพัฒนาต่อยอดคุณค่าจากอ้อยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในทุกกระบวนการผลิตด้วยแนวคิด Value Creation เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำไปสู่การต่อยอดสู่ธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้า เอทานอล วัสดุทดแทนไม้ และ Bio-Based สู่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเรามีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองรวม 489,217 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งได้มาจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ของโรงไฟฟ้ามิตรผล ไบโอเพาเวอร์ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี และหากในอนาคตผู้ประกอบการภาคธุรกิจหรือภาคส่วนต่างๆ ร่วมใจกันซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการหรือกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ก็จะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญที่ทำให้มีผู้พัฒนาโครงการหรือกิจกรรมมากขึ้นด้วย
ในส่วนภาคธุรกิจการเงินและบริการ นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย ตัวแทนภาคเอกชนที่ร่วมลงนามซื้อคาร์บอนเครดิตจากกลุ่มมิตรผล และเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของประเทศที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรที่ไม่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า ธนาคารตระหนักถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ซึ่งทางธนาคารอาจจะไม่สามารถทำการลดก๊าซเรือนกระจกได้ด้วยตนเอง แต่ในการประกอบธุรกิจก็ต้องการให้สภาวะสิ่งแวดล้อมอยู่ได้อย่างยั่งยืน จึงได้เข้ามาทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนเป็นศูนย์ด้วยการสนับสนุนคาร์บอนเครดิตจาก บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (ด่านช้าง) จำกัด กว่า 1 แสนตัน อีกทั้งยังส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการทางการเงินผ่านแอปพลิเคชัน K PLUS ซึ่งช่วยลดการเดินทาง ลดการใช้กระดาษ อันเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย
“นอกจากนี้ทางธนาคารยังได้กำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของธนาคารลงร้อยละ 20 ภายในปี 2563 เทียบกับปีฐาน 2555 ซึ่งในเบื้องต้นธนาคารสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 8 จากปีฐาน 2555 และจะพยายามดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้” ปรีดีกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |