จำลองสตูดิโอทรงงานเสมือนจริงจากพระตำหนัก Vellara
ภาพของสุภาพสตรีท่านหนึ่งกำลังนั่งวาดเขียนงานศิลปะบนผืนผ้าใบอยู่ริมหน้าต่างของห้อง ข้างกายถูกรายล้อมด้วยสัตว์เลี้ยง โดยบนไหล่ข้างหนึ่งมีนกบินมาเกาะ ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งมีสุนัขตัวใหญ่นั่งเฝ้าใกล้ชิด เป็นภาพที่ฉายถึงชีวิตความเป็นอยู่ของ "หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร" พระธิดาพระองค์เดียวของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต และหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ (เทวกุล) บริพัตร ขณะพำนักอยู่ที่พระตำหนัก Vellara ในเมือง Annot ประเทศฝรั่งเศส
หม่อมเจ้ามารศีทรงอาศัยอยู่ที่เมือง Annot มาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี อันเป็นสถานที่ที่แวดล้อมไปด้วยดอกไม้ ลำธาร และสัตว์เลี้ยงนานาชนิด ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในการสร้างสรรค์ผลงานภาพเขียนของพระองค์ที่ทรงให้ความสนใจศึกษามาตั้งแต่ครั้งพระชันษา 30 ปี ทั้งยังทรงเป็นจิตรกรหญิงชาวไทยที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในแวดวงศิลปะ เนื่องจากผลงานของท่านสะท้อนถึงความหลากหลายของตัวงานและเอกภาพทางจิตวิญญาณ
ภาพหม่อมเจ้ามารศีฯ ขณะทรงงาน มีสัตว์เลี้ยงอยู่รอบกาย
นิทรรศการภาพเขียนฝีพระหัตถ์ “Beauty and Ugliness : Aesthetic of Marsi (ความงามและความน่าเกลียด : สุนทรียศิลป์แห่งมารศี)” จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า โดยมูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นการจัดแสดงในประเทศไทยครั้งที่ 3 หลังจากที่เคยจัดมาแล้วเมื่อปี 2553 และปี 2556 เป็นนิทรรศการครั้งแรกหลังจากพระองค์ถึงชีพิตักษัยเมื่อปี 2556 โดย ผศ.ดร.ศุภชัย อารีรุ่งเรือง ผู้รับหน้าที่ภัณฑารักษ์ ได้ใช้แนวทางการทำวิจัยด้านศิลปะมาศึกษาผลงาน เพื่อไขสู่ปรัชญาที่ซ่อนไว้ในงานศิลปะของพระองค์
ผศ.ดร.ศุภชัย อารีรุ่งเรือง กล่าวว่า ความแตกต่างในการจัดนิทรรศการภาพจิตรกรรมของพระองค์ในครั้งนี้ อยู่ที่การเลือกหยิบมุมมองเกี่ยวกับการตีความเรื่องสุนทรียศาสตร์ในผลงาน สุนทรียศาสตร์ที่เราเข้าใจนั้นมีแต่ความงาม แต่สุนทรียศาสตร์ของพระองค์ท่านยังมีเรื่องของความน่าเกลียดผสานอยู่ด้วย สะท้อนปรัชญาชีวิตและความตาย ซึ่งเป็นผลงานอันโดดเด่นในช่วงพระชันษา 50-60 ปี แตกต่างอย่างมากกับผลงานในช่วงเริ่มต้นชีวิตศิลปินของท่านหญิงที่ทรงวาดก้อนหินสไตล์พู่กันจีน ธรรมชาติ และสถาปัตยกรรมที่ได้อิทธิพลมาจากความรุ่งเรืองแห่งยุคเรเนซองส์ โดยครั้งนี้นำเสนอผลงานจิตรกรรม 40 ชิ้นนำมาจากฝรั่งเศสทั้งหมด มีการตีคำจำกัดความของผลงานท่านออกมาเป็น 4 คำ ได้แก่ ความงาม (Beauty), ความน่าเกลียด (Ugliness), เส้นทางการทำงานศิลปะของหม่อมเจ้ามารศี (Chronology of Marsi and Art History และสัจจะ (Truth)
ผลงานศิลปะจากคอลเลคชั่น Beauty
สำหรับบรรยากาศนิทรรศการ ภายในห้องแรกซึ่งเป็นโถงทางเข้าหลักของงาน คือพื้นที่สำหรับจัดแสดงแนวคิดหลักของการจัดงาน มีประวัติของท่านหญิงมารศี และพระปณิธานของท่านหญิงกับงานศิลปะที่ทรงเขียนด้วยลายพระหัตถ์เป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “ศิลปะสะท้อนชีวิตและความตาย ฉันจะใช้ความสามารถของฉันถ่ายทอดออกมา” นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับเวทีเสวนาและการทำกิจกรรมตลอดนิทรรศการ รวมถึงภาพถ่ายขนาดใหญ่ของท่านหญิงในขณะที่ทรงใช้ชีวิตอยู่ในเมือง Annot เป็นภาพที่สื่อให้เห็นความเป็นท่านหญิงมารศีกับชีวิตและศิลปะ
เมื่อเข้ามาในห้องที่ 2 ในธีมสีแดงมารูน คือห้องที่นำเสนอเรื่องความงาม เพื่อสร้างความเข้าใจและตีความผลงานด้านความงามในรูปแบบของหม่อมเจ้ามารศี ผ่านสัญลักษณ์เป็นกลุ่มภาพนก ดอกไม้ สัตว์เลี้ยง คน รวมถึงตัวบทวรรณกรรม เป็นต้น ซึ่งคำว่า Beauty ในความหมายของท่านหญิง คือสัตว์นานาชนิด ส่วน Ugliness นั้นคือมนุษย์ ภัณฑารักษ์ให้คำอธิบายเอาไว้อย่างนั้น ทางเข้าห้อง Beauty ถูกกั้นไว้ด้วยสเตนเลสมิลเลอร์บานใหญ่ เมื่อผู้ชมเดินมาตรงนี้ก็จะเห็นภาพตัวเองที่สะท้อนบิดเบือนจากความเป็นจริง ก่อนจะนำสายตาไปสู่ภาพต่างๆ ที่จัดแสดงภายในห้องนี้
ชมผลงานด้านความงามสื่อผ่านสัญลักษณ์ดอกไม้
ห้องที่ 3 โทนสีม่วงก่ำ ถูกแบ่งเป็นสองส่วน กั้นด้วยตู้ไม้เก่าขนาดใหญ่ สร้างแรงปะทะให้ผู้ชมรู้สึกตะลึง พร้อมกับการได้ชมสิ่งของจัดแสดงที่เป็นแรงบันดาลใจของหม่อมเจ้ามารศี ทั้งแผ่นเสียง สมุดหนังสือ ตุ๊กตา หินต่างๆ ภัณฑารักษ์บอกว่า ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าตุ๊กตาแต่ละตัวที่วางในตู้แสดง ท่านทรงได้จับแต่งองค์ทรงเครื่องหมด เพราะท่านโปรด ส่วนด้านหนึ่งจัดแสดงผลงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ภาพสัญลักษณ์ของความน่าเกลียด ความตาย ความอัปลักษณ์ของรูปกายที่ไม่จีรัง โครงกระดูก ภาพครึ่งคนครึ่งสัตว์ มุมหนึ่งของห้องคือตู้กระจกร้าวที่สะท้อนให้เห็นถึงแง่มุมของความอัปลักษณ์ ด้านบนจัดแสดงวรรณกรรมต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่องานของท่านหญิง อีกด้านจัดแสดงเส้นทางศิลปะของหม่อมเจ้ามารศี ที่แสดงเนื้อหาพัฒนาการในด้านการสร้างสรรค์งานศิลปะของท่าน ด้วยการเทียบลำดับเวลาของเหตุการณ์ ศิลปิน ปรากฏการณ์ทั้งในประเทศไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโลก เป็นการสร้างการเรียนรู้ให้เข้าใจว่างานของท่านจัดอยู่ในพื้นที่ประวัติศาสตร์ศิลป์ ที่ทำให้เกิดการกระตุ้นให้สนใจศึกษาเปรียบเทียบงานในเชิงลึกต่อไป
หนึ่งในผลงานสำคัญจากคอลเลคชั่น Truth
ภัณฑารักษ์กล่าวอีกว่า จากการศึกษางานตามไทม์ไลน์ของพระองค์ ทำให้พบว่าช่วง 10 ปีแรกเป็นช่วงของการเรียนรู้และการฝึกฝน ชิ้นงานจึงค่อนข้างมีขนาดเล็ก ในงานมีกลิ่นอายของภาพสไตล์ตะวันออกและมีภาพเขียนจีน ซึ่งท่านได้ทรงศึกษาอย่างเชี่ยวชาญเป็นต้นแบบ ต่อมาในช่วง 10 ปีที่สอง เริ่มมีภาพคนและสีสันเติมเข้ามามากขึ้น ชิ้นงานมีขนาดใหญ่ขึ้น และบางครั้งมีขนาดใหญ่กว่า 2 เมตร ในช่วงที่ท่านมีพระชันษา 40-50 ปี ภาพจะสะท้อนเรื่องสัจธรรมของชีวิตออกมาอย่างชัดเจน ทั้งเรื่องความตาย ความเสื่อมสลายของร่างกาย และความไม่จีรังยั่งยืน
และในห้องสุดท้ายเป็นโทนสีเขียว สื่อให้เห็นถึงความเป็นธรรมชาติและความหมายของสัจจะ (Truth) แสดงเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งที่หม่อมเจ้ามารศีได้ทรงพิสูจน์ให้เห็น “สัจจะ” ในเส้นทางเลือกที่จะเป็นศิลปิน จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต และผลงานของท่านยังแสดงให้เห็นถึง “สัจธรรม” ของชีวิตมนุษย์ที่มีทั้งความรัก ความสุข ความตาย นอกจากนี้ ภายในห้องดังกล่าวยังจำลองสตูดิโอทรงงานของหม่อมเจ้ามารศีที่พระตำหนัก มีขาตั้งภาพ เปียโน กรงนก อุปกรณ์สำหรับวาดภาพ รวมถึงภาพสเกตช์บนกระดาษไขที่ไม่เคยจัดแสดงมาก่อน นอกจากนี้ยังมีมุมจัดแสดงภาพยนตร์สั้น มุมจำหน่ายสินค้าที่ระลึกจากนิทรรศการ และมุมกิจกรรมสำหรับเด็ก
เสพงานศิลป์แล้ว มาแวะมุมจำหน่ายสินค้าที่ระลึกจากนิทรรศการ
สนใจชมนิทรรศการ “ความงามและความน่าเกลียด : สุนทรียศิลป์แห่งมารศี” จัดแสดง ณ ห้องนิทรรศการ 5-8 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 7 พ.ย.-23 ธ.ค.2561 เปิดให้เข้าชมฟรี นอกจากนี้ มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ขอเชิญร่วมฟังเสวนา “ผู้หญิงกับงานศิลปะ” กิจกรรมประกอบนิทรรศการภาพวาดฝีพระหัตถ์หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธู์ บริพัตร ความงามและ ความน่าเกลียด : สุนทรียศิลป์แห่งมารศี วันสาร์ที่ 17 พ.ย. เวลา 13.00 น. ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |