หอสมุดเนียลสัน เฮส์ บูรณะฟื้นฟูคุณค่าของอาคารแล้วเสร็จ เปิดอย่างเป็นทางการ
ครั้งสุดท้ายที่หอสมุดเนียลสัน เฮส์ ได้รับการบูรณะอย่างจริงจังเกิดขึ้น เมื่อช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือผ่านมาประมาณ 70ปี แล้ว ทำให้ในปี 2559 สมาคมหอสมุดเนียลสัน เฮส์ จึงได้ตัดสินใจปิดอาคารหอสมุดเก่าแก่รูปทรงสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิกอันทรงคุณค่า ย่านบางรัก เพื่อทำการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ โดยใช้เวลานานถึง 18 เดือน พร้อมกับระดมผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากร ทีมงานสถาปนิกและนักออกแบบทำงานกันอย่างหนัก เพื่อฟื้นฟูคุณค่าของอาคารหอสมุดอันทรงคุณค่าแห่งนี้ ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2464 และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตั้งแต่ พ.ศ.2544 ได้กลับมาโอ่โถง สง่างาม น่าชื่นชมอีกครั้ง
การบูรณะมีทั้งการซ่อมแซม ต่อเติม ปรับปรุงสวนสวยด้านหน้าอาคาร และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ และเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 ทางหอสมุดเนียลสัน เฮส์ ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ พร้อมกับประกาศว่า หอสมุดแห่งนี้จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมของชุมชนย่านบางรัก เพื่อให้ผู้คนที่ได้มาสัมผัส ได้ตระหนักถึงความทรงคุณค่าของสิ่งเก่า ตลอดจนเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่เข้ามาใช้บริการและชุมชนโดยรอบเกิดการรักการอ่านอย่างยั่งยืน โดยในพิธีเปิดได้มี คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน พระธิดาคนเล็กในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ร่วมงาน และนำเสวนาในหัวข้อ "การแสวงหาคุณค่าของสิ่งเก่าและสิ่งใหม่" พร้อมแนะนำหนังสือเล่มโปรดของคุณใหม่
คุณใหม่ สิริกิติยา เจนเซน
คุณใหม่ สิริกิติยา เจนเซน กล่าวว่า บทบาทการทำงานในสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เป็นเรื่องการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ซึ่งประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าตึกนี้เป็นอาคารสวยงามควรค่าแก่การอนุรักษ์อย่างเดียว แต่อยู่ที่ตึกเหล่านี้มีความหมายอะไรกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของไทย จะทำอย่างไรให้ตึกเหล่านี้มีชีวิตชีวา มีจิตวิญญาณ เชื่อมโยงกับผู้คนยุคปัจจุบัน และให้ประวัติศาสตร์มีความต่อเนื่องเป็นศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ขอให้กำลังใจคณะกรรมการบริหารหอสมุดฯ องค์กรเอกชนที่ร่วมบูรณะจนเสร็จ กรมศิลปากรหน่วยงานเดียวทำไม่ไหว อยากเห็นการทำงานลักษณะนี้ในสถานที่อื่นๆ
" เคยมาห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ 2-3 ครั้งไม่ได้สนใจแค่สถาปัตยกรรม แต่สนใจความรู้สึกของผู้สร้างทำให้อาคารนี้เกิดขึ้น หอสมุดเก่าแก่แห่งนี้มีหลายอย่างเป็นจุดร่วมของสังคม เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างประสบการณ์ มีสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบัน และส่งต่อสู่อนาคต ที่สำคัญต้องดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม" คุณใหม่ สิริกิติยา กล่าว
คุณใหม่ สิริกิติยา เยี่ยมชมภายในหอสมุด โดยนลิน วนาสิน ให้ข้อมูล
คุณใหม่ สิริกิติยา ยังเล่าเรื่องการทำงานกับประวัติศาสตร์ไทยผ่านโครงการศึกษาวังหน้าว่า วังหน้ามีความสำคัญตั้งแต่รัชกาลที่ 1-รัชกาลที่ 3 อดีตพื้นที่วังหน้ายิ่งใหญ่ รวมพื้นที่สนามหลวง ม.ธรรมศาสตร์เกือบทั้งหมด และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ปัจจุบันพื้นที่ที่เหลืออยู่มีเพียง 33% การทำโครงการนี้เสนอประวัติศาสตร์วังหน้าผ่านงานสถาปัตยกรรมและใช้เทคโนโลยีทันสมัยเชื่อมโยง เนรมิตภาพวังหน้าในอดีต ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าใจมากขึ้น
การเสวนาครั้งนี้ คุณใหม่ สิริกิติยา แนะนำหนังสือเล่มโปรดเป็นวรรณกรรมอมตะเรื่อง "East of Eden" โดย John Steinbeck และ "Palaces for the People" โดย Eric Klinenberg คุณใหม่ สิริกิติยา กล่าวว่า East of Eden เสนอเกี่ยวกับความดีและความชั่ว แสดงให้รู้ว่า เราไม่ได้เป็นคนไม่ดี แต่การอยู่ในสถานการณ์ที่ยากอาจปรับเปลี่ยนนิสัยของเรา หนังสือที่ชอบท้าทายสิ่งที่เรียน เช่นเดียวกับการทำงานประวัติศาสตร์ การอ่านสำคัญ ไม่เฉพาะหนังสือประวัติศาสตร์ แต่ต้องอ่านวรรณกรรมยุคนั้น ดูหนังสมัยนั้น ชมจิตรกรรมฝาผนัง เพราะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์อีกชนิดหนึ่ง
สองเล่มโปรดเรื่อง "East of Eden" และ "Palaces for the People"
สำหรับเบื้องหลังการบูรณะหอสมุด นลิน วนาสิน ประธานคณะกรรมการบริหารหอสมุดเนียลสัน เฮส์ เผยว่า อาคารหอสมุดอายุกว่า 96 ปี ต้องใช้งบประมาณบูรณะ 12 ล้านบาท เหตุปิดบูรณะใหญ่ พบว่าพื้นอาคารพุพัง ผนังมีความชื้นสะสม แม้จะซ่อมแซมแล้วก็กลับมาเป็นอีกในระยะเวลารวดเร็ว ขั้นตอนบูรณะเชิญผู้เชี่ยวชาญมาศึกษาโครงสร้างและดูใต้อาคาร เนื่องจากพิมพ์เขียวหายไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการเก็บข้อมูล บันทึกความชำรุด จากนั้นออกแบบแก้ไขตามหลักวิชาการ
" ทุกอย่างเปลี่ยนผันตามกาลเวลา เราไม่คิดว่าจะฟื้นฟูกลับมาเหมือนเดิม 100% แต่บูรณะเพื่อแสดงคุณค่าและตระหนักความหมายของสิ่งที่พบเจอ เราซ่อมแซมส่วนที่ผุพัง ลอกสีและทำความสะอาดปูนปั้นที่ถูกทาสีทับหลายรอบจนความคมชัดลวดลายหายไป สมัยก่อนในห้องหลังคาทรงโดมมีประตูชัยตรงกลาง เราทำการศึกษาจากภาพเก่า แต่อาจถูกทำลายไปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 การบูรณะได้ทำกลับคืนมา รวมถึงจัดแสดงสีดั้งเดิมของเสา" นลิน กล่าว
แหล่งค้นคว้าความรู้มีหนังสือให้บริการ 17,000 เล่ม
ปัจจุบันหอสมุดเนียลสัน เฮส์ เปิดบริการแล้ว มีหนังสือให้บริการกว่า 17,000 เล่ม โดยเฉพาะหนังสือหายาก หนังสือเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ห้องสมุดสะสมแต่แรก ทุกเดือนจะมีวรรณกรรมร่วมสมัยเพิ่มเติม นอกจากนั่งอ่านในห้องสมุด สมาชิกสามารถยืมหนังสือกลับบ้านได้ นลินกล่าวว่า อดีตสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ แต่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีสมาชิกชาวไทยกว่า 40% เพราะครอบครัวคนไทยต้องการให้ลูกหลานเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ปัจจุบันมีสมาชิกรายปี 550 คน
นลินกล่าวทิ้งท้ายว่า แม้พฤติกรรมคนอ่านเปลี่ยน เพราะโซเชียลมีเดีย แต่ยังมีแฟนคลับกลุ่มคนรักหนังสือ ชอบอ่านหนังสือกระดาษมากกว่าอีบุ๊ก อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริหารหอสมุดฯ วางแผนหาสมาชิกเพิ่มให้ห้องสมุด เพราะหลายคนยังไม่รู้จักห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ หรือไม่กล้าเข้าคิดว่าเป็นมิวเซียม ที่นี่สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้รายวัน มีกิจกรรมด้านศิลปะ วัฒนธรรม คอนเสิร์ต เวิร์กช็อป ละคร และงานขายหนังสือ อนาคตจะขยายกิจกรรมด้านการศึกษาอีกด้วย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |