เอกชน 2 ยักษ์ใหญ่ "ซีพี-บีทีเอส" ผนึกพันธมิตรยื่นซองชิงสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินตามคาด ผู้ว่าฯ รฟท.วางไทม์ไลน์เปิดซองคุณสมบัติ-เทคนิค-การเงิน ม.ค.62 รู้ตัวผู้ชนะ เซ็นสัญญาภายใน 31 ม.ค.62
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตามที่ รฟท.ได้เปิดขายเอกสารการคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544.36 ล้านบาทไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน - 9 กรกฎาคม 2561 ซึ่งมีบริษัทที่ให้ความสนใจเข้าซื้อเอกสารการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จำนวน 31 ราย หลังจากนั้นได้จัดให้มีการประชุมชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจไปเมื่อวันที่ 23-24 กรกฎาคม 2561 และกำหนดรับซองข้อเสนอราคาในวันที่ 12 พ.ย.61
ซึ่งมีกลุ่มบริษัทเข้ายื่นข้อเสนอจำนวน 2 ราย ประกอบด้วย 1.กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย), บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย), บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย)
2.กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย), บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน), China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน), บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย), บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
โดยมีเอกสารประกอบ คือ หลักประกันซองพร้อมกับซองข้อเสนอ มูลค่า 2,000 ล้านบาท, หนังสือมอบอำนาจ (เอกสารความเป็นตัวตนของผู้ยื่น), รายการเอกสารที่บรรจุในซอง (List รายการเอกสาร) ที่ไม่ปิดผนึก และใบเสร็จรับเงินซื้อซองของผู้ยื่นข้อเสนอ อีกทั้งต้องชำระค่าธรรมเนียมการประเมินข้อเสนอให้แก่การรถไฟฯ เป็นจำนวนเงิน 2 ล้านบาท และผู้ที่ยื่นเสนอผ่านการประเมินข้อเสนอจะต้องวางหลักประกันสัญญาที่ออกโดยธนาคารให้แก่การรถไฟฯ ในวันที่เข้าทำสัญญาร่วมทุนเป็นมูลค่า 4,500 ล้านบาท เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาร่วมลงทุนของเอกชนคู่สัญญา
นายวรวุฒิกล่าวว่า หลังจากรับซองประมูล คณะกรรมการตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 ซึ่งมีตนเป็นประธานจะเริ่มขั้นตอนการพิจารณา โดยพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 (คุณสมบัติ) วันที่ 13-19 พ.ย.61 (7 วัน) พิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 (เทคนิค) วันที่ 20 พ.ย.-11 ธ.ค.61 (22 วัน) พิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 (การเงิน) วันที่ 12-17 ธ.ค.61 (6 วัน) ซึ่งจะทราบผลว่ารายใดเป็นผู้ชนะประมูล จากนั้นวันที่ 18 ธ.ค.61-1 ม.ค.62 (15 วัน) จะเป็นการเจรจาต่อรองและปรับปรุงร่างสัญญา, วันที่ 2-14 ม.ค.62 (13 วัน) ส่งอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญา, วันที่ 15-17 ม.ค.62 นำเสนอผลการคัดเลือกต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณา และนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในช่วงวันที่ 18-28 ม.ค.62 เป้าหมายลงนามสัญญาภายในวันที่ 31 ม.ค.62
"ถือว่ามีการแข่งขันเพราะมีผู้เสนอ 2 กลุ่ม ซึ่งเป็น 2 กลุ่มที่ใหญ่ ส่วนกรณีที่จะมีการหาพันธมิตรเพิ่มหลังได้รับคัดเลือกแล้ว สามารถทำได้โดยจะต้องเสนอให้ รฟท.อนุมัติ และจะต้องไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงหรือกระทบต่อสัดส่วนโครงสร้างของผู้ถือหุ้นหลักเดิม ซึ่งการเข้ามาเพิ่มอาจเป็นการเข้ามารับช่วงงาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเข้าถือหุ้นก็ได้"
นายวรวุฒิกล่าวอีกว่า กรณีที่มีผู้ผ่านคุณสมบัติหรือเทคนิคเพียงกลุ่มเดียว คณะกรรมการมาตรา 35 จะพิจารณาว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่ ซึ่งในเงื่อนไขไม่ได้กำหนดว่าจะต้องยกเลิกประมูล ดังนั้นขึ้นกับการพิจารณา ทั้งนี้ตัวแปรในการตัดสินคือเงื่อนไขรายใดเสนอขอรับการอุดหนุนจากรัฐน้อยที่สุด และหลังจากได้ตัวผู้ชนะและลงนามสัญญาแล้ว เอกชนจะต้องออกแบบรายละเอียดเพื่อเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพิ่มเติมต่อไป ขณะที่ รฟท.พร้อมส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดได้ภายในเดือน ก.พ.62
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า บริษัทได้ยื่นเอกสารประกวดราคาในนามกิจการร่วมค้า (Consortium) และพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ (Strategic Partner) ขณะนี้ยังไม่แบ่งเรื่องของการลงทุนที่ชัดเจน แต่ก็ได้พิจารณาในเบื้องต้นไว้แล้ว เช่น อิตาลีอาจจะเป็นในเรื่องของการเดินรถ บำรุงรักษา, CRCC ของจีนอาจจะเป็นเรื่องของการก่อสร้างรางและระบบมากกว่า ส่วนตัวรถไฟก็อาจจะเป็นซีเมนส์และฮุนได สำหรับผู้ถือหุ้นหลักของการเข้าร่วมประกวดราคาในครั้งนี้ แบ่งเป็นซีพี 70%, บีอีเอ็มและ ช.การช่าง 15%, CRCC 10% และอิตาเลียนไทย 5% ทั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้พันธมิตรที่สนใจเข้าร่วมเพิ่มเติมหากบริษัทเป็นผู้ชนะการประกวดราคาในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ยินดีหากจะมี ปตท.หรือบริษัทอื่นๆ ของไทยมาร่วมลงทุนด้วย แต่ขณะนี้ยังเป็นช่วงเริ่มต้นของการประมูล ดังนั้นแน่นอนว่าหากเราชนะจะดึงหลายส่วนมาร่วมลงทุนด้วย
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เปิดเผยว่า เป็นการมายื่นในกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR) โดยสัดส่วนถือหุ้นรถไฟเชื่อมสามสนามบินมีดังนี้ บีทีเอสถือหุ้น 60% ส่วนซิโน-ไทยและราชบุรีโฮลดิ้งถือคนละ 20% ส่วนกรณีหากชนะการประมูลครั้งนี้จะมีกลุ่มพันธมิตรเข้ามาร่วมด้วยหรือไม่นั้น ต้องดูว่าทีโออาร์หรือสัญญาเปิดช่องหรือไม่ ขณะนี้ยังมีแค่สามรายเท่านั้น การมายื่นซองวันนี้มีความมั่นใจมาก ไม่อย่างนั้นคงไม่มายื่น ที่ผ่านมาทำงานหนักมา 4-5 เดือน คิดว่าทำทุกอย่างพร้อมและใช้มืออาชีพระดับโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ย. กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR) เป็นผู้ยื่นซื้อรายแรก เมื่อเวลา 11.11 น. ส่วนกิจการร่วมค้า (Consortium) และพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ (Strategic Partner) ยื่นซองเป็นรายที่สองในเวลา 14.03 น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |