ธีระวัฒน์บี้อธิบดี ล้มรับจดทะเบียน สิทธิบัตรกัญชา


เพิ่มเพื่อน    

    "สนธิรัตน์" ชี้ยังไม่มีใครได้รับจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชา ระบุบริษัทต่างชาติแค่ยื่นเรื่อง ต้องรอตรวจสอบขั้นตอนพิจารณาอีก 5 ปี "กรมทรัพย์สินทางปัญญา" วอนอย่ากังวล อ้าง กม.เขียนชัดไม่รับจดสารสกัดจากกัญชา "กก.ปฏิรูปด้าน สธ." ซัดผิดตั้งแต่รับจดทะเบียน เหตุกัญชายังเป็นยาเสพติดผิดกฎหมายอยู่ แนะใช้อำนาจอธิบดียกเลิกทันที "ปธ.บอร์ด อภ." หวั่นโรงงานสกัดสารกัญชาทางการแพทย์มูลค่า 120 ล้านสะดุด
    เมื่อวันที่ 12 พ.ย. นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (รมว.พณ.) กล่าวถึงกรณีการยื่นจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติของบริษัทต่างชาติในประเทศไทยว่า ขณะนี้ยังไม่มีใครได้รับจดสิทธิบัตรหรือได้รับการคุ้มครองแต่อย่างใด โดยตามขบวนการขั้นตอนอยู่ในส่วนของการประกาศโฆษณา 90 วันเพื่อเปิดให้มีการคัดค้าน หากพ้นระยะเวลาก็เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบต่อไป
    นายสนธิรัตน์กล่าวว่า เหตุที่มีการรับยื่นขอจดสิทธิบัตรนั้น ตามหลักสากลทั่วไปหรือกฎหมาย หน่วยงานที่ดูแลจะปฏิเสธการยื่นคำร้องเพื่อขอจดสิทธิบัตรไม่ได้ ดังนั้นหน่วยงานอย่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่รับหน้าที่ดูแลในเรื่องนี้ก็ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนและกฎหมาย เพื่อตรวจสอบไปตามปกติ แต่เมื่อพ้นระยะเวลาโฆษณาก็จะไปสู่กระบวนการตรวจสอบ หากมีการคัดค้านก็ต้องพิจารณาตามหลักฐานเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งใช้ระยะเวลา 5 ปีในการพิจารณา
    "ตามกฎหมายของไทยแล้ว ไม่สามารถจดสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองสารสกัดที่มาจากพืชหรือสัตว์ได้  ดังนั้นการขอยื่นคุ้มครองสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาของบริษัทดังกล่าว จึงไม่สามารถที่จะรับจดสิทธิบัตรเพื่อขอรับการคุ้มครองได้ หากบริษัทดังกล่าวจะนำไปยื่นที่ต่างประเทศก็เป็นขบวนการขั้นตอนที่สามารถทำได้ จึงไม่ต้องการให้ประชาชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกังวลในเรื่องนี้ ยังสามารถวิจัย พัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ต่อประเทศได้ต่อไป" นายสนธิรัตน์กล่าว
    รมว.พาณิชย์ยืนยันพร้อมจะสนับสนุนหากกัญชาสามารถสร้างประโยชน์แก่ประเทศหรือเป็นพืชเศรษฐกิจได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่สามารถรองรับได้ ซึ่งต้องมีความชัดเจน และเมื่ออนาคตมีความชัดเจนทางกฎหมายจริง ก็เห็นสมควรที่จะต้องสนับสนุน พัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมให้ได้ โดยนายกรัฐมนตรีก็ให้ความสำคัญในการศึกษาผลประโยชน์จากกัญชา และยังมอบหมายให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาว่าจะพัฒนาและต่อยอดในการใช้ประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง อีกทั้งให้ศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องและจะได้ดำเนินการแก้ไขต่อไป โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่จะได้รับโดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง
    "นักวิจัยไทยยังสามารถนำการประดิษฐ์ เช่น ตำรับยา สารสังเคราะห์ชนิดใหม่ หรือวิธีการพัฒนาสายพันธุ์พืชกัญชาจากการวิจัยมาขอจดสิทธิบัตรได้อีกด้วย อันจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ยาในอนาคต กรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ดูแลเรื่องนี้จะดำเนินการตามกฎหมายสิทธิบัตรด้วยความรอบคอบรัดกุมและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และยินดีเปิดรับข้อมูลและหลักฐานทางวิชาการจากทุกภาคส่วนเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา เพื่อให้ระบบสิทธิบัตรของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และจะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ" รมว.พาณิชย์กล่าว
    ขณะที่นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า สารสกัดจากกัญชาซึ่งเป็นสารสกัดจากพืชจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตร มาตรา 9 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่าสารสกัดจากธรรมชาติไม่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีใครเป็นเจ้าของสิทธิในสารสกัดจากกัญชาตามธรรมชาติตามกฎหมายสิทธิบัตร ทุกคนในไทยมีสิทธิ์ที่จะวิจัยและนำมาใช้ประโยชน์ได้
    "ข้อกังวลว่าการปลดล็อกกฎหมายเพื่อให้มีการวิจัยและพัฒนาการใช้กัญชาทางการแพทย์ของไทยจะไม่มีประโยชน์ เนื่องจากมีบริษัทต่างชาติได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติแล้ว  เป็นการเข้าใจผิด เพราะสารสกัดจากกัญชาที่เอาไปต้มเอาไปกลั่นจนได้สารออกมา กรมฯ ไม่รับจดอยู่แล้ว กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่าจดไม่ได้" อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญากล่าว
    วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข โดย นพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุขเป็นประธาน พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน  ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการปฏิรูปฯ หารือเกี่ยวกับประเด็นสิทธิบัตรกัญชา โดยใช้เวลากว่า 2 ชม.
    ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า ในการปฏิรูปหน้าที่หนึ่งคือ ทำอย่างไรให้คนไทยได้ประโยชน์จากการใช้สมุนไพร ซึ่งกรณีกัญชาถือเป็นพืชที่มีสารสำคัญในธรรมชาติที่สามารถนำมาใช้บำบัดรักษาโรคได้ คณะกรรมการปฏิรูปฯ จึงเห็นว่าต้องมีความชัดเจนในเรื่องนี้เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย เนื่องจากการรับการยื่นคำขอสิทธิบัตรกัญชา เมื่อพิจารณาแล้วมีความผิดชัดเจนตั้งแต่ ม.9 (1) ห้ามยื่นสิทธิบัตรสารธรรมชาติในกัญชา และ ม.9 (4) ห้ามยื่นสิทธิบัตรที่เป็นการถือสิทธิในการใช้บำบัดโรค แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญากลับฝ่าฝืนตรงนี้ ดังนั้นคณะกรรมการปฏิรูปฯ เห็นว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องมีความชัดเจนกว่านี้
    "ได้เห็นคลิปที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกมาแถลง บอกปฏิเสธการรับคำขอสิทธิบัตรไม่ได้ ส่วนตัวผมมีความเห็นว่า 1.ไม่ควรรับจด เพราะเป็นยาเสพติดผิดกฎหมายในประเทศไทย ตราบใดที่ พ.ร.บ.ยังไม่ได้แก้ไขเป็นอย่างอื่น 2.พ.ร.บ.สิทธิบัตร ม.9 (1) ระบุว่าสารสกัดจากพืชรับจดสิทธิบัตรไม่ได้ การรับจดจึงผิดกฎหมายนี้ด้วย และ 3.เมื่อกรมฯ ไปรับการยื่นขอจดสิทธิบัตรเอาไว้แล้วจะมีทางออกอย่างไร" ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว
    กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขรายนี้ระบุว่า ขอแนะนำให้ใช้อำนาจอธิบดียกเลิกในขั้นตอนขอจดทะเบียนไปก่อน แทนที่จะปล่อยให้ไหลไปตามกระบวนการขั้นตอน ที่สำคัญเรื่องนี้ไม่ต้องคิดมากเลย เพราะผิดตั้งแต่ต้นก็ต้องเป็นโมฆะตั้งแต่ต้นแล้ว ซึ่งถ้าไม่ได้ข้อสรุปจริงๆ ทั้งองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ กพย.ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลควรยื่นฟ้องศาลเพื่อขอความเป็นธรรมเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นก็จะทำการศึกษาหรือสกัดสารกัญชาทางการแพทย์ไม่ได้เพราะติดสิทธิบัตร
    "ที่บอกว่าไม่ส่งผลกระทบใดๆ จริงๆ ไม่ใช่ เพราะหากพิจารณาตัวกฎหมาย พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ จะทราบทันทีว่ามี ม.36 ระบุว่าได้รับการคุ้มครองแล้ว แม้จะยังไม่ได้รับเลขสิทธิบัตร ดังนั้นในระยะเวลา 5 ปีที่เป็นช่วงการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีความใหม่หรือไม่นั้น แต่ช่วงระยะเวลานี้ก็ถือว่าได้รับการคุ้มครองไปแล้ว ซึ่งก็ไม่มีประโยชน์ ถามว่าใครจะมาวิจัยพัฒนาอีก เพราะเสี่ยงว่าจะทำไปเพื่ออะไร เนื่องจากใครจะยืนยันว่าเมื่อกฎหมายให้ใช้ทางการแพทย์ได้ และมีการพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ทางการแพทย์ที่มีการควบคุม แต่สุดท้ายติดสิทธิบัตร ที่ลงทุนไปทั้งหมดใครรับผิดชอบ อันนี้ไม่ใช่เสียหายแค่เรื่องงบประมาณ แต่จะเสียหายตรงผู้ป่วยเสียโอกาสการรักษาด้วย" กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขรายนี้กล่าว 
    ส่วน นพ.โสภณกล่าวว่า ในฐานะประธานบอร์ด อภ. ขณะนี้ได้มอบให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะจากถ้อยคำแถลงออกมาก็ยังไม่มั่นใจว่าจะส่งผลกระทบหรือไม่อยู่ดี อย่างตอนนี้บอร์ด อภ.อนุมัติงบไปแล้ว 120 ล้านบาท แม้งบจะยังไม่ได้ใช้ แต่ตามขั้นตอนผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะต้องไปแจงต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่องการใช้งบดังกล่าว เพราะมีการเปลี่ยนแปลงใช้งบ เดิมเป็นงบผลิตยาทั่วไป แต่เปลี่ยนมาใช้ในเรื่องโรงงานสกัดสารกัญชาทางการแพทย์ ส่วนเครื่องสกัดสารกัญชาที่จะนำเข้าจากต่างประเทศนั้นใช้งบ 8 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำทีโออาร์ ซึ่งหากซื้อเข้ามาแล้วใช้ไม่ได้ก็คงต้องนำมาใช้สกัดอย่างอื่น ซึ่งทำได้แต่ไม่ดีเท่าสกัดสารกัญชา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"