จีนกับญี่ปุ่นเดือดร้อนเพราะทรัมป์!


เพิ่มเพื่อน    

    เมื่อวานนี้ ผมอ้างถึงบทวิเคราะห์ของอาจารย์ปิติ ศรีแสงนาม แห่งคณะรัฐศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยประเด็นการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในทางที่ดีขึ้น เพราะแรงกดดันจากนโยบายสหรัฐ ภายใต้โดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีผลต่อประเทศไทยด้วย
    สอดคล้องกับข้อสังเกตในคอลัมน์นี้เกี่ยวกับการไปเยือนจีน ระหว่าง 25-26 ตุลาคมที่ผ่านมา ของนายกฯ ชินโซะ อาเบะ ซึ่งทำให้เกิดการวิพากษ์กันอย่างกว้างขวาง
    บทวิเคราะห์ของอาจารย์ปิติในเว็บไซต์ 101.world แสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง ท่านมองว่าการเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในคราวนี้ จึงถือเป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่ง เพราะเป็นการยืนยันว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนและญี่ปุ่น จะกลับเข้าสู่ระดับปกติอย่างเป็นทางการ คำถามที่สำคัญคือ เพราะอะไรการกลับมาสานสัมพันธ์ในครั้งนี้จึงเกิดขึ้น 
    “คำตอบคือ ทั้ง 2 ประเทศ ในนาทีนี้กำลังวิตกกังวลในเรื่องเดียวกัน นั่นคือ วิตกกังวลในเรื่องของแนวคิดแบบชาตินิยม (Nationalism), แนวคิดนิยมความรุนแรง (Radicalism) , ความเกลียดกลัวชาวต่างชาติ (Xenophobia) และความนิยมการค้าแบบคุ้มกัน (Protectionism) ของผู้นำจากอีกซีกโลก ที่ทำให้เกิดภาวะสงครามการค้า โดยผลกระทบจากสงครามการค้าทำให้ทั้ง 2 ประเทศ คือจีนและญี่ปุ่น กำลังตกที่นั่งลำบาก เพราะการหดตัวของมูลค่าการค้า และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ” อาจารย์ปิติเขียน
    ในช่วงเวลาเดียวกันกับการเยือนจีนอย่างเป็นทางการของ Abe อาจารย์ปิติมีโอกาสเดินทางไปร่วมประชุมวิชาการ East Asian Summit and East Asian Cooperation International Forum 2018 ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเวลาเพียง 2 วันก่อนนายกฯ ญี่ปุ่นเยือนจีน และงานนี้ก็เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสถาบันคลังสมอง (Think Tank) ของจีน คือ Chinese Academy of Social Sciences (CASS) และสถาบันวิจัยของอาเซียนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น คือ Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) 
    “ตลอดการประชุม นักวิชาการจาก ASEAN+6 จำนวน 16 ประเทศ ต่างกังวลกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสงครามการค้า และทุกฝ่ายสนับสนุนการสร้างความร่วมมือระหว่างกันในรูปแบบที่สร้างสรรค์และรับผิดชอบ 
    หนึ่งในงานวิจัยที่น่าสนใจ นำเสนอโดย Professor Lin Guijun แห่ง Academy of China Open Economy Studies มหาวิทยาลัย University of International Business and Economics ประเทศจีน นำเสนอผลกระทบจากสงครามการค้าต่อ 15 ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในระดับโลกของเอเชีย (Global Value Chains : GVCs) ที่จะเสียหายในมูลค่ามหาศาล หากสงครามการค้ายังคงดำเนินต่อไป” ตอนหนึ่งของบทความอาจารย์ปิติเล่า
    ท่านบอกว่านี่คือผลที่เป็นรูปธรรมที่แสดงให้เห็นว่า สงครามการค้าทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด กลายเป็นจีน (มูลค่ากว่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) และรองลงมาคือคนที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม อย่างญี่ปุ่น ที่มูลค่าความเสียหายมากกว่า 1.68 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 
    “ต้องอย่าลืมว่าญี่ปุ่นเสียหายหนัก เพราะญี่ปุ่นคือผู้ที่คุมห่วงโซ่มูลค่าการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในห่วงโซ่ GVCs ที่ควบคุมโดยญี่ปุ่น ญี่ปุ่นพึ่งพาวัตถุดิบขั้นกลางจากจีนถึงร้อยละ 29 และพึ่งพาอาเซียนถึงร้อยละ 59 (ข้อมูล ณ ปี 2015 โดย UIBE)” อาจารย์ปิติเสริม 
    อาจารย์วิเคราะห์ว่า เมื่อมีคู่กรณีเดียวกันคือ สหรัฐริเริ่มสงครามการค้าภายใต้นโยบาย ‘America First’ ที่ต้องการสร้างกำแพงภาษีเพื่อดึงเงินลงทุนและการย้ายฐานการผลิตกลับไปตั้งในสหรัฐ (Reshoring Investment) สถานการณ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นจึงไม่แตกต่างกับ ศึกเซ็กเพ็ก (Battle of Chibi) หรือยุทธการผาแดง ในวรรณคดีเรื่อง ‘สามก๊ก’ 
    ที่ทั้งเล่าปี่ แห่งจ๊กก๊ก และซุนกวน แห่งง่อก๊ก ที่ต่างก็ต้องแย่งชิงอำนาจซึ่งกันและกัน แต่คราวนี้ต่างก็มีศัตรูคนเดียวกัน นั่นคือ โจโฉ แห่งวุยก๊ก ที่กำลังจะยกทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีนมาบุกแคว้นกันตั๋งของซุนกวน 
    ไม่ต่างจากสงครามการค้าในครั้งนี้ ที่ทำให้ทั้งจีนและญี่ปุ่นมีความสูญเสียรวมกันไม่ต่ำกว่า 5.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เล่าปี่จึงต้องส่งสุดยอดกุนซืออย่างขงเบ้ง ให้ไปช่วยซุนกวนจัดทัพรับศึกโจโฉที่ผาแดง จนสามารถต้านทานและได้รับชัยชนะต่อกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีนได้ 
    “ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็น ประธานาธิบดี Xi Jinping ส่งนายกรัฐมนตรี Li Keqiang ไปเยือนโตเกียวเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และหลังจากนั้นนายกรัฐมนตรี Abe ก็เดินทางเยือนจีนในช่วงปลายเดือนตุลาคม และการเปรียบเทียบกับสามก๊กก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะสำหรับผู้นำในเอเชียตะวันออก และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ยุทธพิชัยสงครามสามก๊ก คือสิ่งที่ผู้นำของประเทศในภูมิภาคนี้อ่านและเรียนรู้ รวมทั้งนำมาปรับใช้กันอยู่แล้วตลอดทั้งห้วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา” อาจารย์ปิติบอกและเสริมต่อว่า 
    จะเห็นได้ว่า ถึงเวลาแล้วที่จีนและญี่ปุ่นต้องยอมระงับความขัดแย้งและร่วมมือกันอีกครั้ง เพื่อรักษาการค้าแบบเสรีและห่วงโซ่อุปทานการผลิตในเอเชียให้เดินหน้าต่อไป แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ ญี่ปุ่นกับจีนจะมีปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบใดที่ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน และในขณะเดียวกัน ก็ไม่เกิดแรงต่อต้านจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ 
    แรงต้านภายในก็คือ จากคนจีนและคนญี่ปุ่น ซึ่งมีประวัติศาสตร์ที่ขัดแย้งกันมาโดยตลอด และทำให้หลายๆ ครั้งยังไม่สามารถวางใจระหว่างกันได้อย่างสนิทใจนัก ส่วนแรงต้านภายนอกคือ การคำนึงถึงความสัมพันธ์ของทั้งจีนและญี่ปุ่น ซึ่งต่างก็มีพันธมิตรอื่นๆ ในเวทีอื่นๆ อีกด้วย
    แน่นอนว่า การเปิดตัวของนายกฯ ญี่ปุ่นในจีนจะต้องยิ่งใหญ่ ไม่ต่างจากที่ขงเบ้งต้องปราบการท้าทายฝีมือโดยเหล่ากุนซือของซุนกวน เมื่อคราวยอมนำตนเข้าไปช่วยศึกที่ผาแดง ดังนั้นการเดินทางไปเยือนจีนของนายกฯ ญี่ปุ่น จึงไปพร้อมกับกองทัพนักธุรกิจญี่ปุ่นจำนวนหลายร้อยคน และแน่นอนว่าทางจีนก็ต้องต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ 
    นั่นทำให้เราได้เห็นภาพการเจรจาธุรกิจของนักธุรกิจจีน ร่วมกับนักธุรกิจญี่ปุ่น จำนวนมากกว่า 1,400 คน ก่อนจะประกาศความสำเร็จในการปิดการเจรจาทางธุรกิจไปได้มากกว่า 500 ดีล ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็งัดเทคโนโลยีของตนมาประชันกันเต็มที่
    นอกจากนี้ ความร่วมมือในรูปแบบของ Bilateral Swap Arragement มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ทั้ง 2 ประเทศตกลงกันว่า หากใครคนใดคนหนึ่งเพลี่ยงพล้ำ ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติทางการเงิน อีกประเทศจะส่งเงินทุนสำรองไปเพิ่มให้ในรูปแบบของการ Swap เงินตราระหว่างกัน
    (พรุ่งนี้ : ประเทศไทยเราจะได้ “ส้มหล่น” หรือไม่?)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"