12พ.ย.61- เมื่อเวลา 15.00 น. ที่โรงพยาบาล(รพ.) พระราม 2 พญ.วัลลภา ไชยมโนวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)พระราม 2 นพ.พีระ คณานวัตน์ ศัลยแพทย์ทั่วไป และที่ปรึกษาประจำ รพ. พระราม 2 โดยพญ.วัลลภา แถลงข่าวข้อเท็จจริงกรณีสาวถูกน้ำกรดสาด ภายหลังผู้อำนวยการกองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) เดินทางมาตรวจสอบ ว่า จากเหตุการณ์ รพ.พระราม 2 รับคนไข้หญิงไทยอายุ 38 ปี ซึ่งเข้ามาในโรงพยาบาลในลักษณะเดินกึ่งวิ่งมาจากด้านล่างของโรงพยาบาลบริเวณทางลาดขึ้นไปที่ห้องฉุกเฉินบริเวณชั้น 2 เวลาตี 5 เศษถึง6 โมงเช้าของวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 แต่เนื่องจากคนไข้ไม่เคยมาที่รพ.พระราม 2 จึงวิ่งผ่านห้องฉุกเฉินด้านหน้าไปบริเวณ OPDและลงไปที่ชั้นใต้ดินของโรงพยาบาล จนพบพนักงานเคลื่อนย้ายผู้ป่วยของโรงพยาบาล ซึ่งอยู่บริเวณชั้นใต้ดินของโรงพยาบาล จึงสอบถามคนไข้และพาคนไข้เข้ามาที่ห้องฉุกเฉินบริเวณประตูหลังซึ่งอยู่หน้าลิฟท์
พญ.วัลลภา กล่าวว่า ขณะที่คนไข้เข้าไปที่ห้องฉุกเฉินได้ร้องบอกเจ้าหน้าที่พยาบาลที่ห้องฉุกเฉินว่าช่วยด้วย ปวดแสบปวดร้อน พยาบาลห้องฉุกเฉินจึงรีบเข้าช่วยปฐมพยาบาลคนไข้พร้อมสอบถามอาการ ทราบว่าคนไข้ถูกสามีสาดน้ำร้อนเข้าหน้าในขณะนอน พยาบาลจึงได้ทำการปฐมพยาบาล พร้อมวัดสัญญาณชีพ ผลความดันปกติ ชีพจรปกติ การหายใจปกติ ออกซิเจนในเลือดปกติ จากนั้นได้โทรรายงานแพทย์ที่ปรึกษาทางศัลยกรรม นพ.พีระ คณานุวัฒน์ พร้อมแจ้งอาการและสัญญาณชีพให้ทราบ นพ.พีระ สั่งให้ทำแผลคนไข้ และรับไว้เป็นผู้ป่วยใน เพื่อให้ยาระงับปวดและสังเกตอาการ แต่คนไข้ได้แจ้งปฏิเสธการรักษาเป็นผู้ป่วยใน พร้อมทั้งบอกความต้องการที่จะไปรักษาตามสิทธิประกันสังคมของตน ซึ่งอยู่ที่ รพ.บางมด และประสงค์ขอเดินทางไปเอง
“ทางรพ.พระราม 2 ได้โทรแจ้งที่รพ.บางมด แต่ไม่สามารถติดต่อผู้ตรวจการณ์ของรพ.บางมดได้ในขณะนั้น จึงขอสายคุยกับพยาบาลห้องฉุกเฉิน และแจ้งว่าจะมีคนไข้คนดังกล่าวไปที่รพ. จากนั้น รพ.พระราม 2 ได้นำส่งคนไข้ขึ้นรถแท็กซี่ไปรพ.บางมดตามความประสงค์ประมาณ 6 โมงเช้า รพ.พระราม 2 ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง และขอยืนยันว่าได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดตามมาตรฐานรพ.ในการดูแลคนไข้ และขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของคนไข้ในการสูญเสียครั้งนี้ “ ผอ.รพ.กล่าว
นพ.พีระ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ส่งข้อมูลไปยังสบส.แล้ว มีกล้องวงจรปิด ซึ่งเก็บข้อมูลมาหมด เห็นหน้าคนไข้ และมีลูกสาววิ่งตามเข้ามา และร้องขอความช่วยเหลือว่าปวดแสบปวดร้อน เหมือนถูกน้ำร้อน หรืออะไรสาดมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ทำบัตรบอกว่า ยังไม่ต้องทำบัตร ฉุกเฉินได้เลย อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ เมื่อเห็นเป็นรอยแดง เรายังบอกไม่ได้ว่า โดนน้ำกรด น้ำร้อน หรือเปลวไฟ ส่วนบริเวณห้องฉุกเฉินติดกล้องไม่ได้ เพราะต้องเปิดเสื้อผ้าทำแผลผู้ป่วย
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีหลักฐานอย่างไรเพื่อยืนยันว่าไม่ได้ปฏิเสธรักษา นพ.พีระ กล่าวว่า การปฏิเสธรักษานั้น จริงๆเป็นเรื่องการพูดคุยระหว่างเจ้าหน้าที่พยาบาลและคนไข้ ส่วนสาเหตุการเสียชีวิต ตนยังไม่ทราบ เพราะข้อมูลนี้จะเป็นข้อมูลจากทายาทโดยธรรมเท่านั้นจะรับทราบ
ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่ผิวหนังไหม้ระดับ 3 ทำให้เสียชีวิตได้หรือไม่ นพ.พีระ กล่าวว่า เสียชีวิตได้ อย่างหากรวดเร็วเพราะเสียเกลือแร่ หรือการติดเชื้อเข้ากระแสเลือด แต่ต้องใช้เวลานาน 3-4 วัน ส่วนกรณีนี้ลักษณะของแผลไม่เป็นเหตุให้เสียชีวิต ซึ่งหากเป็นผิวหนังไหม้ระดับ 3 จิ้มแผลจะไม่เจ็บเลย เพราะชาไปหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับคลิปวิดีโอที่มาในรพ. ต้องขออนุญาตเปิดเผยไม่ได้ ยกเว้นญาติมาเซ็นรับไป หรือทายาทโดยธรรมมีสิทธิขอข้อมูล หรือภาพได้ แต่ต้องขอที่ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้สื่อข่าวถามว่า ณ วันนั้นได้เก็บค่ารักษาหรือไม่ นพ.พีระ กล่าวว่า ไม่ได้เก็บสักบาท
“จากคลิปวิดีโอที่ผมตอบโต้ไปเมื่อวันก่อน เมื่อกลับมาบ้านผมก็ได้รับการสั่งสอนจากภรรยาว่า ไม่มีประโยชน์ในการตอบโต้ ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงออกมา ผมคงไม่ฟ้องร้องใครที่ทำให้รพ.พระราม 2 เสียชื่อเสียง อย่างไรก็ตาม เราทุกคนในรพ.เสียใจที่เกิดเรื่อง เพราะเกินความคาดคิด เพราะลักษณะที่เราเห็น ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต ซึ่งก็อยากทราบสาเหตุเหมือนกัน โดยมีหลายครั้งที่มารพ.พระราม 2 แล้วเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่เมื่อชันสูตรก็จะทำให้ทราบข้อเท็จจริง” นพ.พีระ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางเจ้าหน้าที่ สบส. ได้มาตรวจสอบและขอข้อมูลอะไรบ้าง นพ.พีระ กล่าวว่า ได้ขอข้อมูล 3 อย่าง คือ สำเนาเวชระเบียน สำเนาตารางเวรของผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ และสำเนาคลิปวิดีโอ ซึ่งก็ต้องรอการพิจารณา เพราะไม่ว่าอะไรก็ตามเมื่อมีการร้องเรียนในรพ.ทุกแห่ง ก็จะมีเจ้าหน้าที่ลงมาตรวจสอบและขอข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการ สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ลงไปตรวจสอบรพ. 2 แห่ง คือ รพ.พระราม 2 และรพ.บางมด โดยได้ข้อมูลหลักฐานต่างๆทั้งหมด อาทิ เวชระเบียนคนไข้ หลังจากนี้จะส่งมอบเรื่องให้อนุกรรมการฯพิจารณา ว่า มีความผิดอะไรหรือไม่ ซึ่งหากพบว่ามีความผิดตามพ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ ก็จะส่งให้ทางแพทยสภาต่อไป คาดว่าจะใช้เวลา 1 สัปดาห์นับจากนี้ หากมีความผิดจริงก็จะผิดในเรื่อง ม.36 เรื่องรองรับผู้ป่วยกรณีส่งต่อ ทั้งนี้ หากเข้าข่ายเคสฉุกเฉินจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |