"บิ๊กตู่" เกาะติดน้ำท่วมภาคใต้ สั่งทุกหน่วยเร่งให้การช่วยเหลือ จัดอำนวยความสะดวกจราจรและตั้งโรงครัวพระราชทาน กำชับห้ามเพิกเฉยประชาชน "รมว.เกษตรฯ" ตั้งศูนย์เฉพาะกิจสำรวจความเสียหายพื้นที่การเกษตร พร้อมจ่ายชดเชยตามระเบียบ "ปภ." ระบุ "ประจวบฯ-ชุมพร" 11 อำเภอ 19,674 ครัวเรือนยังประสบอุทกภัย
เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.จะออกเดินทางเพื่อไปร่วมงานวันรำลึกครบรอบ 100 ปี การยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 และพิธีเปิดการประชุม Paris Peace Forum ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 11-12 พ.ย.นี้ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha" ระบุว่า สั่งให้ทุกหน่วยงานดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้และขอให้ประชาชนติดตามข่าวสาร
"ก่อนจะเดินทางไปฝรั่งเศสคืนนี้เพื่อเข้าร่วมประชุม Paris Peace Forum ผมได้สั่งการย้ำให้ทุกหน่วยงานดูแล ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ภาคใต้อย่างเต็มกำลัง ขอให้ทุกคนติดตามข่าวสาร ดูแลตัวเองด้วยนะครับ" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
ต่อมานายกฯ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจอีกครั้งว่า ตนเองถึงฝรั่งเศสเรียบร้อยแล้ว และล่าสุดได้รับรายงานว่าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์กับชุมพรยังคงมีน้ำท่วมอยู่
"ผมได้สั่งการให้หน่วยงานเร่งระบายน้ำช่วยเหลือประชาชน และอำนวยความสะดวกด้านการจราจร และสำหรับที่ชุมพรได้มีการจัดตั้งโรงครัวพระราชทานที่ศูนย์ราชการ อ.เมืองฯ กับที่ มทบ. 44" นายกฯ ระบุ
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้รับรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่สาธารณรัฐฝรั่งเศสว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้เกษตรจังหวัดรวบรวมข้อมูลความเดือดร้อนของเกษตรกรในพื้นที่น้ำท่วมเพื่อรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดทราบทุกระยะ และเป็นแกนกลางประสานหน่วยเกษตรในพื้นที่ ร่วมกันทำงานเป็นทีมลงไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย เช่น การระบายน้ำ การช่วยเหลือด้านพืช สัตว์ ประมง ฯลฯ
นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า นอกจากนี้ได้เตรียมการชดเชยช่วยเหลือตามระเบียบทางราชการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดรายได้ที่ผลผลิตเสียหายด้วยความรวดเร็ว และหากจำเป็นต้องจัดซื้อจัดจ้างวัสดุเพื่อซ่อมแซมสาธารณประโยชน์ด้านการเกษตรหรือชลประทาน จะต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส เมื่อประสบปัญหาอุปสรรคที่เกินกำลังของพื้นที่ให้ขอรับการสนับสนุนไปยังส่วนกลางโดยทันที เช่น เครื่องมืออุปกรณ์สูบน้ำ นักวิชาการ สัตวแพทย์ เสบียงสัตว์ เครื่องจักรกล พันธุ์พืช เป็นต้น
"นายกฯ กำชับให้ดูแลพี่น้องเกษตรกรที่เดือดร้อนอย่างเต็มที่ ห้ามเพิกเฉยหากมีการร้องขอความช่วยเหลือ โดยประชาชนสามารถแจ้งความต้องการไปยังผู้นำท้องถิ่น เพื่อประสานไปยังหน่วยราชการระดับอำเภอและจังหวัดให้ลงไปแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
ขณะที่นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้ส่งข้อความด่วนที่สุดผ่านแอปพลิเคชันไลน์ถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ รวมทั้งหัวหน้าหน่วยราชการกระทรวงเกษตรในจังหวัดทุกจังหวัด ผู้รับทราบผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) และนายอำเภอทุกจังหวัด เรื่องการดูแลช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วม
เนื้อหาระบุว่า ตามที่ได้เกิดพายุฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้เกิดน้ำท่วมในจังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรีนั้น ขอให้ปลัด กษ.และหัวหน้าหน่วยราชการ กษ.ทุกระดับได้กำชับให้ข้าราชการ กษ.ทุกสังกัดที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดที่ประสบอุทกภัย ให้มุ่งมั่นและตั้งใจลงไปดูแลช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วมตามแนวทาง 8 แนวทาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 8 แนวทางดังกล่าวมีอาทิ ให้เกษตรจังหวัดได้ประสานกับชลประทานจังหวัด พัฒนาที่ดิน ประมง และปศุสัตว์ รวมทั้งหน่วยงานกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ เพื่อสนธิกำลังร่วมกันเป็นทีมงานเดียวกันลงไปสำรวจความเดือดร้อนของเกษตรกรด้านต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือตามภารกิจของแต่ละกรมหรือแต่ละหน่วย โดยไม่ควรแยกหน่วยกันทำงาน เพราะอาจจะทำให้การช่วยเหลือเกษตรกรล่าช้า ซ้ำซ้อน และไม่มีเอกภาพ ในทางตรงข้ามการทำงานในรูปแบบทีมเดียวกันนั้นจะช่วยแบ่งเบาภารกิจซึ่งกันและกันได้ เป็นต้น
นายสำราญ สาราบรรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า รมว.เกษตรฯ สั่งการด่วนให้ทุกหน่วยงานเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยภาคใต้ จึงให้เกษตรจังหวัดที่มีสถานการณ์ฝนตกชุกในภาคใต้เปิดศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยด้านการเกษตรฯ เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจะเร่งให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ประสบอุทกภัยทันทีที่น้ำลด
"ตามระเบียบกระทรวงการคลัง เมื่อผู้ว่าราชการประกาศเขตภัยพิบัติ เจ้าหน้าที่จะสำรวจความเสียหาย หากพื้นที่การเกษตรเสียหายอย่างสิ้นเชิงจะได้รับเงินช่วยเหลือตามระเบียบ โดยข้าวได้รับ 1,113 บาทต่อไร่ พืชไร่ 1,148 บาทต่อไร่ พืชสวนและอื่นๆ 1,690 บาทต่อไร่ ซึ่งครัวเรือนละหนึ่งได้รับไม่เกิน 15 ไร่" รรท.อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าว
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.สั่งการให้หน่วยทหารของกองทัพบกในพื้นที่ที่มีอุทกภัย จัดตั้งจุดบริการประชาชนส่วนหน้าบริเวณที่ใกล้กับจุดที่มีน้ำท่วมวิกฤติมากที่สุด โดยมีเจ้าหน้าที่ทหาร จิตอาสา พร้อมยานพาหนะ หน่วยเสนารักษ์ และจัดการบริการอื่นๆ ตามสถานการณ์ เพื่อให้การดูแลประชาชนอย่างเต็มที่จนกว่าพื้นที่ดังกล่าวจะพ้นสถานการณ์วิกฤติ และเข้าสู่ขั้นตอนการฟื้นฟูหลังน้ำลด รวมทั้งให้ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกเข้าไปกำกับดูแลและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน และคลี่คลายสถานการณ์น้ำให้เป็นไปโดยรวดเร็วและเหมาะสมที่สุดด้วย
ด้านนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว 1 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี และยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 2 จังหวัด คือ ประจวบคีรีขันธ์และชุมพร รวม 11 อำเภอ 78 ตำบล 601 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 19,674 ครัวเรือน 46,315 คน
นายชยพลกล่าวว่า ประจวบคีรีขันธ์น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางสะพานน้อย อำเภอบางสะพาน อำเภอทับสะแก และอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ รวม 18 ตำบล 129 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,500 ครัวเรือน 10,000 คน เสียชีวิต 1 ราย ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง
ส่วน จ.ชุมพร น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปะทิว อำเภอสวี อำเภอเมืองชุมพร อำเภอหลังสวน อำเภอทุ่งตะโก อำเภอท่าแซะ และอำเภอละแม รวม 60 ตำบล 472 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 16,174 ครัวเรือน 36,315 คน เสียชีวิต 2 ราย โรงเรียน 65 แห่ง ถนน 690 สาย สะพาน 56 แห่ง พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับผลกระทบ 4,235 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |