ร่างกายของมนุษย์เราเมื่อผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนานตามกาลเวลา ก็มักจะเกิดความแปรปรวนของระบบต่างๆ ตามความเสื่อมลงของช่วงอายุ ซึ่งอาการที่พบมากในผู้สูงอายุ คือ อาการเดินเซ ความทรงจำแย่ลง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ซึ่งหลายคนคงคิดว่าเป็นอาการของโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคสมองเสื่อม แต่ความจริงแล้วมีภาวะอาการทางสมองชนิดหนึ่งที่ทำให้มีอาการตามนี้ และสามารถรักษาหายได้คือ ภาวะโพรงน้ำในสมองโต
พญ.ปฏิมา วีณะสนธิ แพทย์ด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า สมองของเรามีช่องสี่ช่องด้านใน ที่เรียกว่า โพรงน้ำสมอง ให้น้ำในสมองและไขสันหลังไหลผ่านถึงกันได้ และมีการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด โดยการสร้างและการดูดซึมจะต้องสมดุลกัน เพื่อให้ระดับความดันของน้ำในสมองเป็นปกติ แต่หากความสมดุลระหว่างการสร้างและการดูดซึมน้ำเข้าสู่กระแสเลือดเสียไป จะทำให้เกิดภาวะโพรงน้ำในสมองโต โดยโพรงสมองที่โตขึ้นจะค่อยๆ ขยายตัวขึ้นช้าๆ และส่งผลต่อเนื้อเยื่อสมอง จนก่อให้เกิดอาการผิดปกติแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ความดันในโพรงสมองก็ยังเป็นปกติ ซึ่งภาวะนี้พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อมประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์
คุณหมอระบุว่า อาการของภาวะนี้จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ มีอาการเดินผิดปกติ เดินช้า ก้าวขาไม่ออก ยกขาไม่พ้นจากพื้น เดินซอยเท้า การทรงตัวไม่ดี เดินลำบาก และเดินเซ เวลาเดินต้องกางขากว้างเพื่อช่วยพยุงตัว ล้มบ่อย การเดินแย่ลงอย่างช้าๆ จนอาจเดินไม่ได้เลยในท้ายที่สุด นอกจากนี้ยังมีอาการสมองเสื่อม สมาธิสั้น เฉื่อยชา ไม่ค่อยสนใจ รวมทั้งมีความจำที่แย่ลง อาการจะค่อยเป็นค่อยไปในช่วงระยะเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี และในระยะท้ายผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาปัสสาวะราด เริ่มต้นจะมีปัสสาวะบ่อย กลั้นไม่อยู่ อาจปัสสาวะออกมาโดยไม่บอก หรือปัสสาวะราดออกมาโดยเข้าห้องน้ำไม่ทัน บางครั้งไม่สามารถควบคุมการถ่ายอุจจาระได้
ทั้งนี้ การวินิจฉัยโรคสามารถพิจารณาจากอาการผิดปกติร่วมกับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง CT หรือแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง MRI ว่ามีการขยายตัวใหญ่ขึ้นของโพรงสมอง โดยไม่สัมพันธ์กับความเหี่ยวของสมองหรือไม่ หากพบรอยโรคแพทย์จะทำการทดสอบ เจาะระบายน้ำออกมา 30-50 ซีซี และประเมินอาการผู้ป่วยหลังการเจาะน้ำไขสันหลัง โดยเฉพาะการเดินว่าดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งถ้าดีขึ้นก็ช่วยสนับสนุนการวินิจฉัย และก็มีแนวโน้มสูงว่าหลังผ่าตัดฝังท่อระบายน้ำเข้าสู่ช่องท้องอาการจะดีขึ้นจริง โดยการผ่าตัดฝังท่อระบายน้ำ ส่วนใหญ่มักจะเป็นการผ่าตัดฝังท่อระบายน้ำจากโพรงสมองเข้าสู่ช่องท้อง หรือผ่าตัดฝังท่อระบายน้ำจากช่องไขสันหลังเข้าสู่ช่องท้อง เป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างปลอดภัย โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและผลข้างเคียงจากการผ่าตัดต่ำ แต่ความเสี่ยงจากการผ่าตัดมักไม่ใช่ความเสี่ยงของการผ่าตัดโดยตรง แต่มักเป็นความเสี่ยงอันเนื่องจากการมีโรคต่างๆ ของผู้สูงอายุ โดยการรักษาภาวะนี้ได้ผลดี 70-90 เปอร์เซ็นต์ หลังจากผ่าตัดแล้ว สมองจะสามารถส่งคำสั่งมาควบคุมขาให้เดินได้ดีขึ้น แต่ผู้ป่วยสูงอายุที่เดินไม่ได้มาเป็นเวลานานจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
ดังนั้นการทำกายภาพบำบัดจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต้องทำอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายเดือนจึงจะเริ่มเห็นผล อาการต่างๆ ที่ค่อยๆ ดีขึ้นอย่างช้าๆ รวมทั้งอาการสมองเสื่อมก็จะดีขึ้นอย่างช้าๆ ข้อสำคัญคือทุกคนในครอบครัวต้องช่วยกันระวังการล้ม และอุบัติเหตุต่างๆ ฝึกการปัสสาวะให้เป็นเวลา และฝึกบริหารสมองเพื่อชะลอการเสื่อมของสมอง
ทั้งนี้ หากพบอาการเดินผิดปกติของผู้สูงอายุอาจเกิดจากโรคอื่นๆ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคเข่าเสื่อม โรคกระดูกสันหลัง นอกจากนี้ยังมีอาการหลงลืมของโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งโรคต่างๆ เหล่านี้สามารถพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ จึงทำให้การวินิจฉัยภาวะน้ำเกินในโพรงสมองทำได้ลำบาก ดังนั้นหากมีอาการของโรคสมองเสื่อม หรือเดินเซ ควรรีบพบแพทย์เพื่อประเมินว่าเกิดจากภาวะโพรงน้ำในสมองโตหรือไม่ ช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างทันท่วงที.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |