ศาลปค.สูงสุดสั่ง'สตช.' ชดใช้สลาย'พันธมิตรฯ'


เพิ่มเพื่อน    

ศาลปกครองสูงสุดสั่ง สตช.ชดใช้ม็อบพันธมิตรฯ รายละ 7 พันถึง 4 ล้านบาท จากเหตุสลายชุมนุม 7 ต.ค.51 ชี้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ใช้แก๊สน้ำตาคุณภาพต่ำยิงไม่ถูกวิธี พร้อมยกฟ้องสำนักนายกฯ ตร.จ่อตั้งคณะทำงานปฏิบัติตามคำพิพากษา "ประทิน" เตรียมยื่นศาล รธน. วินิจฉัย "พธม.-กปปส." ชุมนุมชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
    เมื่อวันที่ 31 มกราคม ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ. 280/2556 หมายเลขแดงที่ อ.1442/2560 ในคดีที่นายชิงชัย อุดมเจริญกิจ กับพวกรวม  250 คน ผู้ฟ้องคดี และนายกร เอี่ยมอิทธิพล กับพวกรวม 11 คน ผู้ร้องสอด ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กรณีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 ทำให้ผู้ชุมนุมได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน โดยคดีนี้ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ อันเป็นการกระทำละเมิดแก่ผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอด และมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอด จำนวน 254 ราย
    โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าการกระทำของผู้ชุมนุมเป็นการกระทำเพื่อขัดขวางไม่ให้นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีเข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ไม่ใช่การก่ออาชญากรรมโดยแท้ จึงไม่อาจปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมทั้งหมดด้วยวิธีการเดียวกับการจับกุมผู้กระทำความผิดอาญาได้ แต่หากการชุมนุมเป็นไปโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ทำให้ผู้อื่นเกิดความเกรงกลัว สตช.และสำนักนายกรัฐมนตรี ย่อมมีอำนาจหน้าที่ระงับยับยั้งได้ โดยต้องปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมตามกฎหมายระเบียบ และขั้นตอนวิธีการที่เหมาะสม ไม่ว่าการชุมนุมจะเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
    อีกทั้งหลังเกิดเหตุ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งรับฟังได้เป็นที่ยุติตามที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่โต้เถียงกันว่า ก่อนการใช้แก๊สน้ำตาเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้แต่อย่างใด และยังมีการให้ถ้อยคำของกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความชำนาญเฉพาะด้านมายืนยันในความไม่เหมาะสมในวิธีการสลายการชุมนุมและการใช้แก๊สน้ำตาอีกด้วย 
    พยานหลักฐานดังกล่าวจึงมีน้ำหนักมั่นคงให้รับฟังได้ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของ สตช.มีข้อบกพร่องในขั้นตอนการเตรียมการหารถดับเพลิงมาใช้ในการสลายการชุมนุม และมีข้อบกพร่องในวิธีการยิงแก๊สน้ำตาโดยยิงในแนวตรงขนานกับพื้น ซึ่งไม่เป็นไปตามวิธีการที่ถูกต้องที่ต้องยิงเป็นวิถีโค้ง ประกอบกับแก๊สน้ำตาที่นำมาใช้เป็นแก๊สน้ำตาที่ซื้อมาเป็นเวลานาน จึงมีประสิทธิภาพต่ำ จึงต้องใช้แก๊สน้ำตาจำนวนมากเกินกว่าที่จะใช้โดยปกติทั่วไป ทำให้เกิดความปั่นป่วนชุลมุน เกิดความเสียหายต่อผู้ชุมนุมมากเกินกว่าผลตามปกติที่เกิดจากการใช้แก๊สน้ำตาที่มีประสิทธิภาพดีและยิงโดยวิธีการที่ถูกต้อง และยังส่งผลเสียหายไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่มาช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ 
ชี้ สตช.ละเมิดผู้ชุมนุม
    ซึ่งไม่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติจะรู้ถึงข้อบกพร่องของขั้นตอนในการเตรียมการหารถดับเพลิงมาใช้กับผู้ชุมนุมก่อนการใช้แก๊สน้ำตาและข้อบกพร่องในประสิทธิภาพของแก๊สน้ำตาที่ทำให้ต้องยิงแก๊สน้ำตาเป็นจำนวนมากหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อบกพร่องดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของนายชิงชัยกับพวก แต่ละรายจึงเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย สิทธิและเสรีภาพ จึงเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สตช.จึงต้องรับผิดต่อผู้ได้รับความเสียหาย
    ส่วนสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2  ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า แม้นายกรัฐมนตรีจะเป็นหัวหน้ารัฐบาล มีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่ง และการกระทำละเมิดดังกล่าวจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากมติคณะรัฐมนตรีที่ให้มีการจัดประชุมแถลงนโยบายที่รัฐสภา แต่มติดังกล่าวเป็นไปตามปกติ เพื่อให้การแถลงนโยบายของรัฐบาลดำเนินการไปได้เท่านั้น หน่วยงานที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องคือ สตช. สมควรติดตามสถานการณ์และเตรียมการเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจึงไม่ได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการในการสลายการชุมนุมแต่อย่างใด แต่อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของ สตช. อีกทั้งเมื่อเริ่มประชุมแล้วเกิดความเสียหาย ย่อมเป็นอำนาจประธานรัฐสภาที่จะสั่งปิดการประชุมเพื่อยุติเหตุการณ์  ดังนั้น นายกฯ และสำนักนายกรัฐมนตรีจึงไม่ได้กระทำละเมิด
    "ในส่วนของค่าเสียหายนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า กรณีสืบเนื่องจากการชุมนุมบางส่วนมีลักษณะทำให้ผู้อื่นเกรงกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ สตช. ผู้ถูกฟ้องร้องคดีที่ 1 ที่ต้องระงับยับยั้งการกระทำดังกล่าว เมื่อพิจารณาพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำละเมิดแล้ว เห็นว่าค่าเสียหายที่ศาลปกครองชั้นต้นกำหนดตั้งแต่ 8 พันบาทเศษถึง 5 ล้านบาทเศษ สูงเกินส่วน สมควรลดค่าเสียหายลงร้อยละ 20 จึงมีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ สตช.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายชิงชัยกับพวกแต่ละรายจำนวนตั้งแต่ 7,120 ถึง 4,152,771.84 บาท พร้อมดอกเบี้ย และยกฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น" ศาลปกครองสูงสุดระบุ
    ด้านนายตี๋ แซ่เตียว หนึ่งในผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า พอใจมากที่ศาลให้ความยุติธรรม เพราะที่ผ่านมาชีวิตการครองตัวลำบากมาก ไม่สามารถประกอบอาชีพอะไรได้ เนื่องจากยังมีการอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย ซึ่งเป็นผลกระทบจากการสลายการชุมนุม ทำให้ภรรยาต้องประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวเพียงคนเดียว อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ได้ทำให้รู้สึกกลัวและไม่กล้าที่จะไปชุมนุมทางการเมืองอีก หากอนาคตการบริหารบ้านเมืองเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง จะออกมาต่อสู้อีก
    ส่วนนายชิงชัยกล่าวยอมรับคำพิพากษาว่า แม้ว่าค่าสินไหมที่ได้รับเทียบไม่ได้กับสิ่งที่สูญเสียไป ทุกวันสภาพร่างกายยังไม่ปกติ ต้องไปพบแพทย์ตรวจติดตามเป็นระยะ และไม่ได้รู้สึกกลัวกับการชุมนุม หากเห็นว่ามีการบริหารบ้านเมืองที่ไม่ถูกต้องจะไปร่วมเคลื่อนไหวอีก
    นายบุญธานี กิตติสินโยธิน ทนายความ กล่าวว่า หลังจากนี้ ทาง สตช.ต้องชดใช้ให้กับผู้เสียหายตามคำพิพากษาภายใน 60 วัน ส่วนกรณีที่ศาลยกฟ้องในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทางผู้เสียหายคงต้องยอมรับ เพราะเป็นคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดแล้ว
ตั้งคณะทำงานชดใช้
    ขณะที่ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ต้องรอคำพากษาอย่างเป็นทางการจากศาล เพราะยังไม่ทราบรายละเอียดของคำพิพากษาว่าให้ดำเนินอย่างไรบ้าง ยืนยันว่า สตช. เคารพในคำพิพากษาและพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยทันทีที่ได้รับคำพิพากษาจากศาล จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาปฏิบัติตามขั้นตอนตามคำพิพากษา หลังจากนี้จะมีการหารือกับผู้บังคับบัญชาอีกครั้งว่าจะต้องคณะทำงานกี่ชุด ประกอบด้วยชุดใดบ้าง โดยจะมีการประชุมหารือกันว่าปฏิบัติอย่างไร ใช้งบประมาณส่วนไหนมาใช้ 
    "สำหรับการไล่เบี้ยกับผู้ที่สั่งการและผู้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ต้องไปดูในรายละเอียดว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่นั้นเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่อย่างสมเหตุสมผลอย่างเหมาะสมมากน้อยเพียงใดหรือไม่ ต้องดูพฤติเหตุและพฤติการณ์ รวมทั้งลักษณะของการกระทำ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบทุกท่านก็ปฏิบัติตามหน้าที่ ตั้งใจที่จะปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่เกิดความเสียหายกับบ้านเมือง ส่วนจะไปกระทบหรือละเมิด รวมทั้งรอนสิทธิใคร ซึ่งจะต้องมีการสืบสวนสอบสวนเพื่อหารายละเอียดที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามระเบียบของ สตช." พล.ต.อ.วิระชัยกล่าว
     ที่ศาลรัฐธรรมนูญ กลุ่มยุติธรรมภิวัฒน์ นำโดยพล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ, นายประยงค์ ชัยศรี, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายชัยวัฒน์ สินสุวงศ์, พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภพ, พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุวรรณ ซึ่งได้เดินทางมาเพื่อจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยว่าการต่อสู้ภาคประชาชนที่ผ่านมา ทั้งพันธมิตรฯ องค์การพิทักษ์สยาม และ กปปส. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ปรากฏว่าเอกสารยังไม่ครบ จึงจะมายื่นอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 5 ก.พ.นี้     
    โดยนายประยงค์เปิดเผยว่า ทางกลุ่มต้องการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการออกมาต่อสู้เรียกร้องของภาคประชาชนนั้น กระทำภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือตำรวจและอัยการยังกระทำต่อผู้ที่ชุมนุมอย่างไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ขณะนี้อัยการได้ฟ้องร้อง และ กปปส.เพิ่ม ทั้งที่ประชาชนต่อสู้เรียกร้องทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ และรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่าสิ่งที่ผู้ชุมนุมได้กระทำไปนั้น ทำไปในขอบเขตและภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ยังถูกดำเนินคดี แสดงว่าองค์กรอื่นไม่ยอมผูกพันคำสั่งของรัฐธรรมนูญ ทั้งที่กฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติเอาไว้อย่างชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 27 และมาตรา 216 วรรคห้า ซึ่งคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญย่อมผูกพันรัฐ ผูกพันศาล ฉะนั้นตนในนามกลุ่มยุติธรรมภิวัฒน์ จึงมีความประสงค์ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรองรับอีกครั้งหนึ่งถึงการต่อสู้ภาคประชาชน ว่าได้กระทำการภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้อีกครั้ง
    เมื่อถามว่า จุดประสงค์ที่มาเพื่อให้เป็นผลในคดีอื่นใช่หรือไม่ นายประยงค์กล่าวว่า ใช่ รวมไปถึงคดีที่ยังไม่ดำเนินการ ที่กำลังจะถูกฟ้อง ฉะนั้นการที่อัยการยังนำคดีไปฟ้องต่อศาล แสดงว่าไม่ยอมผูกพันตามรัฐธรรมนูญ เท่ากับเป็นการละเมิดต่อศาลและประชาชน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"