‘ทษช.’ได้วิชาจาก‘แม้ว-ปู’


เพิ่มเพื่อน    

  ย้ายพรรคฝุ่นตลบ! ลูกชายเฮียตือทั้ง 2 คนทิ้งบ้านเก่าซบ "ภูมิใจหนู" ส่วนเพื่อไทยก็แตกพรรครายวัน "หญิงหน่อย" ปัดเป็นต้นเหตุความขัดแย้ง โทษรัฐธรรมนูญเอื้อให้มีพรรคใหม่ง่าย จับตาพรรคไทยรักษาชาติ ลูกสาวเยาวเรศเผยสะสมประสบการณ์จากคำสั่งสอนของ "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" ขณะที่พรรคเพื่อชาติได้หัวหน้าแล้ว "บิ๊กเสื้อแดง" เจ้าของห้างอิมพีเรียล "หมวดเจี๊ยบ" วีนแตก! อัด "ธนาธร" เด็กอมมือวิจารณ์แม้วฆ่าตัดตอน

    นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เปิดเผยเมื่อวันเสาร์ว่า นายภราดร กับ นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล 2 อดีต ส.ส.อ่างทอง ได้เข้ามายื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ชทพ.เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนทั้ง 2 คนจะไปอยู่สังกัดใดตนไม่ทราบ คงจะชัดเจนในเร็วๆ นี้ 
    เขากล่าวว่า เบื้องต้นทราบว่าทั้งนายภราดรและนายกรวีร์จะเข้ามาลาผู้ใหญ่ของ ชทพ.ที่เป็นที่เคารพในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ตนในฐานะที่อยู่ทำงานการเมืองร่วมกับครอบครัวปริศนานันทกุลมานานนับตั้งแต่เป็นพรรคชาติไทย มาจนถึงเป็นพรรคชาติไทยพัฒนาก็ได้แต่เสียดาย แต่ด้วยความที่ทำงานร่วมกันมานาน การจากกันในคราวนี้จึงไม่เกิดเป็นความขัดแย้งขึ้น เพราะเข้าใจเหตุผลการตัดสินใจของทั้ง 2 คน
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 12 พ.ย.นี้ นายภราดรและนายกรวีร์ บุตรชายทั้ง 2 ของนายสมศักดิ์  ปริศนานันทกุล อดีตแกนนำพรรค ชทพ.ที่ประกาศวางมือจากพรรค จะเดินทางไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยในเวลา 10.00 น. โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเดินทางมาต้อนรับด้วยตัวเอง รวมถึงนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ พรรค ชทพ. ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของทั้งนายภราดรและนายกรวีร์ ที่ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยก่อนหน้านี้มาร่วมต้อนรับด้วย
    คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าว แกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนเตรียมลาออก เนื่องมาจากความไม่พอใจการบริหารงานของตนเองว่า  การย้ายพรรคของอดีต ส.ส.เป็นเรื่องธรรมดา ที่สมาชิกเป็นผู้กำหนดอนาคตของตัวเอง โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่มีเงื่อนไขและกติกาเอื้อให้มีพรรคการเมืองใหม่ง่ายขึ้น ขอยืนยันไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งภายในพรรค สมาชิกบางส่วนมีความเห็นไม่ตรงกันซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาของพรรคการเมือง ไม่ขอประเมินสาเหตุถึงการตกเป็นเป้าโจมตี ไม่รู้สึกหนักใจ
       เธอกล่าวถึงกรณีรัฐบาลเตรียมปลดล็อกให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวได้ในช่วงปลายปีว่า ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะกฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวได้ตั้งแต่ตุลาคมปีที่แล้ว แต่ คสช.กลับมีคำสั่งห้ามดำเนินการ ทำให้ผู้แทนไม่สามารถลงพื้นที่รับฟังปัญหาเพื่อนำมาแก้ไขได้ ประชาชนจึงเป็นฝ่ายเสียโอกาส และกระบวนการสร้างนโยบายไม่ได้มาจากประชาชนโดยสมบูรณ์ พรรคเพื่อไทยไม่ได้กังวลว่าจะหาเสียงทันหรือไม่ ที่รัฐบาลได้วางปฏิทินเลือกตั้งในวันที่ 24  กุมภาพันธ์ 2562 อาจทำให้การเลือกตั้งเลื่อนได้ยาก และคาดหวังว่าการเลือกตั้งยังคงเกิดขึ้นได้ตามโรดแมปที่รัฐบาลและ คสช.วางไว้
ปฏิเสธเป็นนอมินี
    ด้านนายเกรียง กัลป์ตินันท์ อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยไปร่วมงานกับพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ว่า เหตุผลที่ตัดสินใจเช่นนี้เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย ทำให้พรรคซึ่งได้ ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้งเยอะจะไม่ได้ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เมื่อตั้งใจจะลง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อก็จำเป็นต้องย้ายไปพรรคที่เน้น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่ออย่างพรรคไทยรักษาชาติ ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าสมาชิกพรรคเพื่อไทยไปร่วมพรรคไทยรักษาชาติจะเป็นนอมินีกันนั้น ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักษาชาติไม่เกี่ยวข้องกัน เมื่อตนลาออกจากพรรคเพื่อไทยไปร่วมพรรคไทยรักษาชาติ พรรคเก่าพรรคใหม่ก็ไม่เกี่ยวข้องกันเป็นการตัดสินใจส่วนตัว
    เมื่อถามถึงกระแสข่าวสาเหตุที่แกนนำพรรคเพื่อไทยลาออกเพราะมีความขัดแย้งกับคุณหญิงสุดารัตน์ นายเกรียงปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง การทำงานที่ผ่านมาไม่มีความขัดแย้ง ทำงานร่วมกันก็กินข้าววงเดียวกันแล้วจะทะเลาะกันได้อย่างไร
    ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทยว่า ขณะนี้สมาชิกพรรคยังมีความกังวลต่อกระแสข่าวการยุบพรรค แม้พรรคเพื่อไทยยังยืนยันต่อสู้ แต่ก็มี ส.ส.บางส่วนแสดงความคิดเห็นว่าควรย้ายพรรคเพื่อความปลอดภัย ในส่วนของอดีต ส.ส.กทม.ฝั่งตะวันออก พรรคเพื่อไทย ที่มีความใกล้ชิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ มีอาทิ นายวิชาญ มีนชัยนันท์, นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ, น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะย้ายไปร่วมงานกับพรรคไทยรักษาชาติเช่นกัน 
    น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ ลูกสาวนางเยาวเรศ ชินวัตร นายทะเบียนพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า แม้จะเคยเป็นคนรุ่นใหม่ของพรรคเพื่อไทยและทำงานอยู่ในพรรคมานาน ก็ไม่ได้ลำบากใจที่จะมาเป็นคู่แข่งกันในวันนี้ เพราะจุดยืนของพรรคมุ่งเน้นการทำงานของคนรุ่นใหม่ แม้คนรุ่นใหม่หลายคนจะลาออกจากพรรคเพื่อไทยมาอยู่พรรคไทยรักษาชาติ เป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่ได้เป็นการแย่งฐานเสียง ทั้งนี้พรรคไม่ใช่เป็นเพียงพรรคของคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่เป็นพรรคที่มีความคิดทันสมัย
    ถามว่า ในฐานะที่เป็นลูกหลานตระกูลชินวัตร จะมีการชี้แจงสังคมอย่างไรในการแยกตัวจากพรรคเพื่อไทย น.ส.ชยิกาตอบว่า คนเขียนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันตั้งใจให้การเมืองไทยมีพรรคการเมืองขนาดเล็ก คนที่อยากทำหน้าที่เพื่อประชาชนจึงต้องหาช่องทาง ซึ่งในส่วนตัวได้สะสมประสบการณ์การสั่งสอน จากนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
'สงคราม' หัวหน้าเพื่อชาติ
    ด้านนายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ โฆษกพรรค ทษช.กล่าวว่า พรรค ทษช.กับ พท.มีนโยบายที่ต่างกันแล้ว ซึ่งพรรคได้เตรียมที่จะเร่งจัดการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง รวมไปถึงเร่งหาสมาชิกพรรคซึ่งมีหลายคนสนใจร่วมงานกับเรา พร้อมระบุว่าไม่กังวลว่านโยบายจะทับซ้อนกับพรรคอนาคตใหม่ การเดินไปสู่ถนนสายประชาธิปไตยในเรื่องของนโยบายเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะเป็นคนเลือก
    ขณะที่รายงานข่าวจากพรรคเพื่อชาติ ภายใต้การสนับสนุนของนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายยงยุทธ ติยะไพรัช เปิดเผยว่า สำหรับการดำเนินการเตรียมตัวเลือกตั้งของพรรคเพื่อชาติที่จะมีการเลือกกรรมการบริหารพรรคในวันที่ 23 พ.ย.นี้ ขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่านายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อดีตรมช.พาณิชย์ในรัฐบาลพลังประชาชน ที่ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มทุนคนเสื้อแดงจะมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ เนื่องจากมีความเกี่ยวพันกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งถือเป็นมวลชนหลักของพรรคมาโดยตลอด 
    ทั้งนี้ หากนายสงครามมาเป็นหัวหน้าพรรคก็ไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรมวลชนเพิ่มเติม และขณะนี้นายสงครามก็ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้ว โดยจะเปิดตัววันที่ 11 พ.ย.นี้ ที่ห้างอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว เวลา 11.45 น. 
    ส่วนนายทนง พิทยะ อดีต รมว.การคลังในรัฐบาลไทยรักไทย ที่มีข่าวจะมาเป็นหัวหน้าพรรคในตอนแรกนั้น ได้ขอช่วยงานนโยบายทางเศรษฐกิจของพรรคในเบื้องหลังแทน ประกอบกับคนในครอบครัวไม่อยากให้มานำทัพเต็มตัว เพราะจะต้องเจอแรงเสียดทานทางการเมืองสูง 
    สำหรับยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคเพื่อชาตินั้น ชัดเจนว่าจะส่งผู้สมัครลงครบ 350 เขต โดยเป้าหมายหลักต้องการคะแนนเสียงอย่างน้อยเขตเลือกตั้งละ 3,000 คะแนน เพื่อเปลี่ยนเป็นจำนวน ส.ส. อย่างน้อย 15 คน แต่ถ้าได้เขตละ 6,000 คะแนน ก็จะได้ ส.ส.สูงถึง 30 คน ส่วนเขตไหนถ้าผู้สมัครมีคะแนนนิยมมากพอก็จะพยายามผลักดันให้ชนะการเลือกตั้งในเขตนั้นไป โดยการคัดเลือกผู้สมัครจะมองคนที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่มีคะแนนนิยมส่วนตัวมากก่อน อาทิ กลุ่ม ส.จ., กลุ่ม อบต. เป็นต้น ขณะนี้มีผู้เสนอตัวมาจำนวนมากและอยู่ระหว่างพิจารณา ทั้งหมดจะชัดเจนในวันที่ 23 พ.ย.
    วันเดียวกันนี้ เฟซบุ๊กชื่อ กรุงเทพ กรุงเทพ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า "นายกฯ ทักษิณห่วงใยชาวสวนยาง" โดยระบุว่า "ขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถึงกับเคยหักหน้าเนวิน ชิดชอบ คัดค้าน แนวคิดแทรกแซงราคายางของกระทรวงเกษตรฯ และกร้าวใส่กลุ่มนายหน้าว่า เลิกเอาเปรียบชาวสวนยาง ถ้าทำไม่ได้จะล้มระบบนายหน้าทันที ลั่นอดีตอาจจะทำได้แต่ตอนนี้ห้ามเด็ดขาด ประกาศอยู่เคียงข้างเกษตรกรชาวสวนยาง และจะจับตาดูปัญหาทุกระยะ"
เขียนไม่ครบ
    "เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2545 นายกฯ ทักษิณยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการตั้งบริษัทยางพารา 3  ประเทศ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ว่ากำลังอยู่ระหว่างการจดทะเบียนบริษัทและหาผู้จัดการใหญ่ ซึ่งจะเร่งดำเนินการ จากนั้นจะมีกระบวนการและหากจำเป็นต้องเหมายางหมดทั้ง 3 ประเทศเลย แล้วรัฐบาลขายเอง ระบบนายหน้าก็คือจบ ซึ่งบอกแล้วว่านายหน้าต้องปรับตัว ถ้าปรับตัวไม่ได้ก็ต้องหมดอาชีพ เกษตรกรไม่ต้องห่วงวันนี้เราได้กำไรมาตลอด หลังจากที่รัฐบาลเข้ามาและผมจะอยู่ข้างเกษตรกรล้านเปอร์เซ็นต์"
    อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กกรุงเทพ กรุงเทพ ไม่ได้อธิบายถึงสาเหตุราคายางพาราตกตลอดกาล ว่าเป็นเพราะเดิมทีซัพพลายที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไทยซึ่งเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่ส่งออกยางมากที่สุดในโลกเคยผลิตยางได้ประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี จากพื้นที่ปลูกในภาคใต้เป็นส่วนใหญ่
     แต่ผลจากนโยบายเพิ่มพื้นที่ปลูกยางในภาคเหนือและภาคอีสาน 1 ล้านไร่ของรัฐบาลทักษิณเมื่อ  พ.ศ.2547-2549 ประกอบกับราคายางที่สูง จึงมีผู้ลงทุนปลูกยางเกือบทั่วประเทศ ในปี 2556 ไทยผลิตยางได้ประมาณ 4.1 ล้านตันต่อปี เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า โดยไม่มีการจัดโซนนิงและควบคุมปริมาณให้เหมาะสม ในขณะที่จีนซึ่งเป็นผู้ใช้ยางพารามากที่สุดในโลก เปลี่ยนบทบาทจากผู้ซื้อมาเป็นผู้ผลิตเอง  จีนเริ่มปลูกยางเองทั้งในประเทศ และในเวียดนาม ลาว กัมพูชา ทำให้ราคายางพาราตกลงมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และไม่มีรัฐบาลไหนสามารถแก้ปัญหาได้    
    ร้อยโทหญิง สุณิสา ทิวากรดำรง สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากฝากถึงนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ได้ตอบคำถามการสัมภาษณ์ของสื่อออนไลน์แห่งหนึ่งถึงแนวคิดและแนวทางการทำงานการเมือง โดยมีคำให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า นายธนาธรได้วิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศของรัฐบาลในอดีตที่ประกาศทำสงครามกับยาเสพติด จนทำให้มีคนล้มตายจำนวนมากนั้น อันที่จริงนายธนาธรในวันนั้นก็เป็นเด็กคนหนี่ง ที่ฟังข่าวจากสื่อแล้วเชื่อตามโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าเรื่องราวจริงๆ คืออะไร ใครอยู่เบื้องหลังและเป็นคนสร้างปัญหาจนทำให้คนตาย ซึ่งก็คงไม่มีใครอยากเห็นคนไทยด้วยกันตาย แต่นายธนาธรคงจะอ่านแต่ข่าวที่ออกมาเท่านั้น
ห้ามแตะนายใหญ่
     "คำพูดของคุณธนาธรนั้นสวนทางกับคำพูดที่ประกาศตัวว่าเป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งสังคมคาดหวังว่าจะได้ยินได้ฟังแต่เรื่องที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน คุณธนาธรควรจะเอาเวลาไปอธิบายว่าพรรคของคนรุ่นใหม่มีนโยบายที่ดีอย่างไร แล้วจะลงมือทำได้จริงหรือไม่และด้วยวิธีใด ที่สำคัญจุดยืนของพรรคอนาคตใหม่เกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยเป็นอย่างไรกันแน่ เช่นควรจะสนับสนุนนักร้องที่ไปทำงานให้รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจหรือไม่ ดังนั้นคุณธนาธรควรรีบไปอธิบายแฟนคลับของพรรคตัวเองให้เข้าใจก่อน ก็จะดีกว่ามานั่งวิพากษ์วิจารณ์คนนั้นคนนี้"
      ร.ท.หญิง สุณิสากล่าวอีกว่า ในเมื่อวันนี้นายธนาธรมีความตั้งใจผันตัวเองจากการเป็นนักธุรกิจเข้ามาสู่การเป็นนักเมืองอย่างเต็มตัวแล้ว ก็ควรวางตัวให้เหมาะสม ควรพูดจาให้น่าเชื่อถือ และควรจะทำตัวให้สมกับเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ ซึ่งก้าวพ้นไปจากการเมืองที่ใช้วาทกรรมเอาดีใส่ตัวฝ่ายเดียว แต่ควรจะคิด พูด และเดินหน้าไปสู่อนาคตใหม่ดีกว่า
    ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกกลุ่มสามมิตร เผยว่า ความนิยมของพรรคพลังประชารัฐเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ กกต.ประกาศรับรองความเป็นพรรคแล้ว ทั้งนี้เชื่อว่าเมื่อกลุ่มสามมิตรเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 พ.ย. พรรคจะยิ่งคึกคักขึ้น เพราะพรรคจะเริ่มพบปะพี่น้องประชาชน หาสมาชิก และจะมีนโยบายต่างๆ ออกมาด้วย  อีกทั้งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร เป็นผู้ที่มีประสบการณ์สูงในการหาเสียงเลือกตั้ง ดังนั้นเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศจะให้ความไว้วางใจพรรคพลังประชารัฐ
    ที่โรงภาพยนตร์ไอแมกซ์ สยามพารากอน มีการจัดงานเอกซ์คลูซีฟทอล์ก อยากเห็นเมืองไทยดีกว่านี้ โดยมีผู้ร่วมเสวนาเข้าร่วมกิจกรรม อาทิ นางกาญจนา หงษ์ทอง นักเขียนและพิธีกร, นายอรรฆรัตน์ นิติพน หรือก้อง เจ้าของรายการอายุน้อย 100 ล้าน, นายกรุณพล เทียนสุวรรณ หรือเพชร อาชีพนักแสดง,    น.ส.พรรณี วีรานุกูล หรืออัยย์ อดีตนักร้อง, นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งบริษัทตลาดดอทคอม และนายภูมิใจ ตั้งสง่า หรือดีเจภูมิ 
    โดยคำถามที่น่าสนใจคือ อยากเห็น "ลุงตู่" อยู่ต่อหรือไม่ นายกรุณพลกล่าวว่า "ให้อยู่ทำซากอะไร  แต่ถ้าสามารถกลับมาได้ตามครรลองของระบบ ไม่ผิดกฎหมาย ก็กลับมาได้ และยอมรับได้ แต่ส่วนตัวไม่อยากให้กลับมาแล้ว" เช่นเดียวกับนางกาญจนาที่ระบุว่า "ถ้าจะกลับมาต้องเป็นไปตามกติกา ถ้าได้รับเลือกก็กลับมาได้ จะเป็นใครก็ได้ขอให้มาตามระบบ" ขณะที่นายอรรฆรัตน์กล่าวว่า "ถ้ากลับมาในฐานะของเสียงส่วนใหญ่ ก็ต้องเคารพ"
เสียศรัทธาเพราะนาฬิกา
    ด้านนายภาวุธกล่าวว่า "ผู้นำที่ดีอาจเสียเพราะคนรอบข้าง ผมเคยมีศรัทธา แต่พอเจอเรื่องนาฬิกาเข้าไปก็เสียศรัทธา แม้เห็นอยู่ว่าลุงตู่พยายามทำ พยายามรับฟังประชาชน แต่ถือความเป็นพี่เป็นน้องมากเกินไป ถ้ากลับมาต้องมีคนเข้าไปช่วยงานให้เยอะ และถ้าจะกลับมาต้องชนะการเลือกตั้ง มีจุดยืนมองประเทศก่อน ไม่ใช่เคารพพี่ เอาพี่มาวางไว้หน้าประชาชน"
    น.ส.พรรณีกล่าวว่า "ประชาชนทุกคนโหยหาการเลือกตั้ง ต้องการให้อยู่ในกฎกติกา อยากให้ใครอยู่ อยากให้ใครได้ต้องไปเลือกตั้ง คาดหวังได้แต่อย่าให้ใจทั้งหมดกับการเมือง เพราะการเมืองไม่แน่นอน  และฝากไว้กับผู้สมัครทุกพรรคทุกนโยบาย ให้เมตตาประชาชนด้วยหัวใจ มองเห็นประโยชน์ของประเทศและประชาชนก่อน"
    ในเวทีเดียวกันนี้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าอนาคตใหม่ กล่าวว่า "ผมอยากเห็นการคมนาคมที่ดี สิทธิในการเข้าถึงคมนาคม ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งหลังการเลือกตั้งจะทำไม่ได้เลยถ้าเรายังยอมให้เกิดรัฐประหารขึ้นในทุกๆ 8 ปี ใช้ รธน.ฉบับละ 4 ปี มี รมว.ศธ. 22 คน เฉลี่ยทำงานกันคนละ 12  เดือน ผมผ่านความพยายามรัฐประหารมาแล้ว 5 ครั้ง ความหวังสวยหรูจะทำไม่ได้เลยถ้าหยุดยั้งวงจรรัฐประหารไม่ได้ วันนี้ไม่ว่าคุณจะเคยสวมเสื้อสีอะไร ขอให้ออกมารวมตัวกัน โดยการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเป็นเพียงก้าวแรกไม่ใช่ก้าวสุดท้าย"
    "ผมโชคดีเกิดในครอบครัวที่มีฐานะ และเรียนรู้ว่าความไม่โปร่งใสจะทำลายตัวเอง เมื่อผมตัดสินเล่นการเมืองได้ลาออกจากทุกตำแหน่งในบริษัท และไม่เคยกลับไปแตะต้องธุรกิจที่เคยเป็นของตัวเองสักครั้ง ถ้าคนในครอบครัวขอให้ขัดนโยบายหรือให้ช่วยเหลือธุรกิจ ก็จะปฏิเสธ เพราะผมมองประชาชนเป็นหลัก ต้องการสร้างมาตรฐานใหม่ เชื่อว่าครอบครัวเข้าใจในจุดยืนและจะไม่ขอในเรื่องแบบนี้" นายธนาธรกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"