มาร์คชนะทุลักทุเล ‘หมอวรงค์’ยอมรับความพ่ายแพ้ยืนยันร่วมสู้ในประชาธิปัตย์ต่อ


เพิ่มเพื่อน    

 

ประกาศผลหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ "มาร์ค" เข้าวินทุลักทุเล 67,505  คะแนน ส่วน "หมอวรงค์" แพ้หวุดหวิดแค่หมื่นคะแนน ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ เข้าที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรคอีกครั้ง 11 พ.ย.นี้
     เมื่อเวลา 12.55 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ วันเสาร์ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรค แถลงถึงผลการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคว่า รายงานผลจากคณะกรรมการการเลือกตั้งของพรรค (กกต.พรรค) ที่ส่งถึงตน สรุปผลการหยั่งเสียงมีดังต่อไปนี้
     นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้สมัครหมายเลข 1 ได้ 67,505 คะแนน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ผู้สมัครหมายเลข 2 ได้ 57,689 คะแนน และนายอลงกรณ์ พลบุตร ได้ 2,285 คะแนน จากยอดผู้มาใช้สิทธิ์  127,479 คน คิดเป็นร้อยละ 16 ของยอดสมาชิกพรรคทั้งหมด ซึ่งตนขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะการหยั่งเสียง
    นายชุมพล กาญจนะ ประธานคณะกรรมการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า สาเหตุที่ประกาศผลล่าช้าเพราะระบบไอทีต้องประมวลผล โดยใช้เวลาหลายชั่วโมง ทั้งนี้ กกต.พรรคทั้ง 5 คนทำงานเสร็จเมื่อ 06.00 น.ของวันเสาร์ ก่อนที่จะเชิญว่าที่หัวหน้าพรรคทั้ง 3 คนมาหารือเพื่อความรอบคอบ และทำความเข้าใจจนสามารถประกาศผลได้อย่างชัดเจน ส่วนเรื่องร้องเรียนจะทำเป็นข้อสังเกตเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ ทั้งนี้ทุกอย่างถือได้ว่ายุติและบรรลุผลแล้ว โดยเชื่อว่าความสามัคคีภายในพรรคจะกลับมายิ่งกว่าเดิมแน่นอน   
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประกาศผลอย่างเป็นทางการ ผู้สมัครทั้ง 3 คนได้จับมือและกอดกัน     
    จากนั้นนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขอขอบคุณสมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ทุกคนที่มีส่วนร่วมในกระบวนประวัติศาสตร์ของพรรคในครั้งนี้ ที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศรับทราบถึงกระบวนการประชาธิปไตยภายในพรรค เพราะถือเป็นสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นกับพรรคการเมืองไทย 
    "ผมมีความตื้นตันใจเวลาที่ได้เห็นหลายคนทุ่มเทและมีส่วนร่วม ผมเห็นผู้สูงอายุเดินแทบไม่ไหวแต่ยังให้ลูกหลานประคองตัวเพื่อมาลงคะแนนหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ ทั้งหมดเป็นกำลังใจให้พวกเราชาวประชาธิปัตย์ได้เดินไปข้างหน้าต่อไป" นายอภิสิทธิ์กล่าว
ยอมรับความพ่ายแพ้
    ด้าน นพ.วรงค์เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "ผลการหยั่งเสียงออกมาแล้วครับ ผมได้รับ  57,689 คะแนน คุณอภิสิทธิ์ 67,505 คะแนน ผมยอมรับความพ่ายแพ้ครับ ยังยืนยันที่จะร่วมมือกับผู้ชนะครับ เพื่อพรรคประชาธิปัตย์และประเทศของเรา"
      ส่วนนายอลงกรณ์เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเช่นกันว่า "ขอแสดงความยินดีกับท่านหัวหน้าพรรคอภิสิทธิ์ ในชัยชนะการหยั่งเสียงระบบไพรมารีที่ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกพรรคมากที่สุด  และคุณหมอวรงค์ที่ได้คะแนนจำนวนมาก แม้ไม่ชนะก็ควรค่าแก่ความภูมิใจ และขอบคุณทุกคะแนนที่มอบให้ผมครับ และขอบคุณสมาชิกพรรคที่ร่วมในการลงคะแนนไพรมารีครั้งนี้ทุกคน ตลอดจนคณะกรรมการบริหารพรรค กกต.พรรค และเจ้าหน้าที่พรรครวมทั้งอดีต ส.ส. คณะกรรมการสาขาพรรคและทีมหมูป่าประชาธิปัตย์ยุคใหม่ที่ทุ่มเททำงานจนลุล่วงภารกิจของพรรคครับ"
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 11 พ.ย.นี้ พรรคประชาธิปัตย์จะจัดการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ จำนวน 41 คนตามข้อบังคับพรรค โดยในที่ประชุมจะมีผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนโหวตจำนวน 305 คน ประกอบด้วย 1.อดีตหัวหน้าพรรค 2.กรรมการบริหารพรรค 3.อดีต ส.ส. 4.อดีตรัฐมนตรี 5.ประธานสาขาพรรค และ 6.ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ลงสมัครในนามพรรค 
      อย่างไรก็ตาม คะแนนโหวตจะมีน้ำหนักต่างกัน โดยแบ่งตามกลุ่มโหวต 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มอดีต ส.ส.จากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดปี 2554 มีน้ำหนักที่ร้อยละ 70 รวม 143 คน และ 2.กลุ่มอื่นๆ อาทิ อดีตรัฐมนตรี อดีต กก.บห.พรค และตัวแทนประธานสาขาพรรค หรือตัวแทนท้องถิ่น มีน้ำหนักร้อยละ 30 ทั้งนี้เกณฑ์การตัดสินจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนหรือผู้รับรองในที่ประชุมใหญ่เกินกึ่งหนึ่ง หรือเท่ากับ 153  คน
    สำหรับ กก.บห.นั้นประกอบไปด้วย 1.หัวหน้าพรรค 2.รองหัวหน้าพรรคดูแลรับผิดชอบพื้นที่ภาคต่างๆ 5 ภาค คือ เหนือ กลาง อีสาน ใต้ และ กทม. รวม 5 คน 3.รองหัวหน้าภาคตามภารกิจงาน 8  ด้าน รวม 8 คน 4.เลขาธิการพรรค ซึ่งหัวหน้าพรรคคนใหม่จะเป็นผู้เสนอ 5.รองเลขาธิการพรรค รวม 6  คน โดยเลขาฯ ใหม่จะเป็นผู้เสนอ  
    6.เหรัญญิกพรรค 7.นายทะเบียนพรรค 8.โฆษกพรรค 9.ตัวแทนสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ภาคละ 1 คน รวม 5 ภาค 10.ตัวแทนจากสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ส่งในนามพรรค 2 คน 11.ตัวแทนของผู้บริหารส่วนท้องถิ่น 3 คน และ 12.กรรมการบริหารพรรคอื่นๆ อีก 8 คน   
'ไอติม' เน้นนโยบายพรรค
    นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนเข้ามาทำงานในพรรค ไม่ได้เข้ามาในฐานะที่เป็นหลานใคร แต่ต้องการเข้ามาทำงานการเมือง ส่วนการหยั่งเสียงในพรรคเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้รับเลือกจากสมาชิกพรรคทั่วประเทศให้เป็นหัวหน้าพรรค ถือเป็นบริบทใหม่ในการทำงาน เป็นตัวแทนของประชาชนได้อย่างหนักแน่น 
    เขากล่าวว่า ในอนาคตพรรคไม่ควรถูกตั้งคำถามจากสังคมว่ายังมีนโยบายเสรีนิยมประชาธิปไตยหรือไม่ โดยพรรคจะแสดงถึงจุดยืนดังกล่าวอย่างหนักแน่น นอกจากการเปิดให้สมาชิกเลือกหัวหน้าพรรค ในอนาคตต้องเปิดให้สมาชิกแสดงความเห็นได้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการเสนอนโยบาย เปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค และทำให้โปร่งใสในประเด็นเงินบริจาคพรรค ในอนาคตประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมของผู้สูงวัย และมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงเหมือนกับทั่วโลก พรรค ปชป.มีนโยบายเข้ามาเสริมศักยภาพของมนุษย์ และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
    "ส่วนตัวผมไม่อยากคำนวณตัวเลขผลการเลือกตั้ง ไม่อยากทำนายว่าประชาชนจะเลือกใคร ขอใช้เวลาไปทำนโยบายทางการเมือง โดยเฉพาะการเกณฑ์ทหารให้เป็นระบบสมัครใจ 100 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่สำคัญคือจะทำให้เป็นความจริงได้อย่างไร"
    นายพริษฐ์กล่าวว่า จากการคำนวณตัวเลขที่กองทัพต้องการกำลังคนได้เพียงพอในการเกณฑ์ทหารแต่ละปีจะลดจำนวนคนได้อย่างไร ซึ่งมองว่าเป็นไปได้เพราะขณะนี้ยังมีสัดส่วนของทหารรับใช้  และสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนวิชาชีพทหาร กรณีทหารเกณฑ์ต้องไม่มองเป็นประเด็นการเมือง อย่ามองทหารเป็นศัตรู โดยวิธีการจูงใจในระบบสมัครใจจะต้องทำให้อาชีพทหารเกณฑ์มีรายได้เพียงพอ และมีความก้าวหน้าในอาชีพ รวมถึงลดความรุนแรงในระบบเกณฑ์ทหาร
    นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากการทำโพลหน้าหน่วยเลือกตั้งส่วนใหญ่มากกว่า 90% สมาชิกมาเพื่อเลือกนายอภิสิทธิ์ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีสมาชิกพรรคจำนวนมากและเป็นพื้นที่เกษตรกร ก็มีความมั่นใจต่อการแก้ไขปัญหาราคาพืชผลการเกษตรของนายอภิสิทธิ์ โดยเฉพาะแม้อยู่ระหว่างการเป็นฝ่ายค้านหรือไม่มีอำนาจ ก็ยังมอบหมายหน้าที่ให้พรรคดูแลราคาพืชผลการเกษตรด้วยการติดตามกระทุ้งฝ่ายรัฐ ทั้งราคาข้าวโพดที่ปัจจุบันนี้ประกันไว้ที่หน้าโรงงานในราคา 8 บาท ก็จากการแถลงข่าวให้ข้อมูลของพรรคประชาธิปัตย์ และโครงการช่วยเหลือเกษตรกรสับปะรดในหลายจังหวัดก็ริเริ่มให้ดำเนินโครงการโดยอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ 
      ส่วนบุคคลอื่นนั้นแม้จะน่าชื่นชม แต่ว่าสมาชิกยังไม่ค่อยรู้จักและไม่มั่นใจมากนักต่อประสบการณ์และบารมี และที่สำคัญคือ สมาชิกส่วนใหญ่ยังไม่อยากเปลี่ยนม้ากลางศึกก่อนจะถึงการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"