ส่อเค้ายืดเวลาใช้‘ประกาศป.ป.ช.’


เพิ่มเพื่อน    

 ผลการหารือ "ป.ป.ช.-วิษณุ" สรุปเบื้องต้นให้จบก่อน 2 ธ.ค. อาจต้องเลื่อนบังคับใช้ประกาศ ป.ป.ช.ออกไปก่อน ขณะที่ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันบุกให้กำลังใจ ป.ป.ช. แฉปัจจุบันมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งซ่องสุมกำลังทางวิชาการ-ผลประโยชน์ในหมู่ผู้บริหาร จนร่ำรวยกันทั่วหน้า


    นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.) กล่าวภายหลังเข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือเรื่องปัญหาการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้ในประกาศ ป.ป.ช.ฉบับล่าสุดว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเนื่องจากอยู่ระหว่างรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย และการหารือครั้งนี้เป็นการหารือทั่วไปในข้อกฎหมาย โดยนายวิษณุได้สอบถามถึงการกำหนดตำแหน่งในประกาศของ ป.ป.ช.จะมีการแก้ไขปัญหาอย่างไร ส่วนใหญ่เป็นประเด็นข้อกฎหมาย เช่น ยื่นภายในกำหนดกี่วัน หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตำแหน่งใดบ้างที่ต้องยื่น 
    ส่วนกรณีที่นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยเตรียมจะลาออกนั้น ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากต้องนำความเห็นต่างๆ เสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้พิจารณา คาดว่าจะดำเนินการแก้ปัญหาได้ทันก่อน 2 ธ.ค.ซึ่งเป็นวันที่ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ แต่หากไม่ทันก็ต้องขยายเวลาการบังคับใช้จากวันที่ 2 ธ.ค.ไปก่อนแล้วค่อยดูแนวทางอีกครั้ง เนื่องจากเรื่องนี้เป็นประเด็นปัญหาพอสมควร เราจึงต้องรับฟังความเห็นจากหลายทาง โดยทั้งหมดอยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
      "ทางออกเบื้องต้นอาจจะมีการขยายเวลาออกไปก่อน ส่วนจะเป็นระยะเวลาเท่าไรนั้นยังไม่ทราบ  ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะใช้เวลาศึกษาหาทางออกนานเท่าไร และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะแก้ไขหรือไม่แก้ไขประกาศดังกล่าวเนื่องจากยังต้องศึกษารายละเอียด"
       ผู้สื่อข่าวถามว่า ประกาศ ป.ป.ช.ครอบคลุมถึงสมเด็จพระสังฆราชที่ทรงดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จะดำเนินการอย่างไร นายนิวัติไชยตอบว่า มีกระแสข่าวอยู่เหมือนกัน เป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณา 
    ถามว่า มีความเป็นไปได้ที่จะใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาหรือไม่ รองเลขาฯ ป.ป.ช.ตอบว่าไม่ทราบ อยู่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะพิจารณา
    นายสมชัย ศรีสุทธิยากร รักษาการแทนคณบดี สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเสนอทางออกของการแก้ไข 3 ทาง คือ การชะลอการใช้ประกาศจากที่จะมีผลตั้งแต่ 1 ธ.ค.ออกไปอีกระยะหนึ่ง อาจจะ 3-6 เดือน ช่วยบรรเทาอาการตื่นตระหนกลาออกแบบกะทันหัน จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถประชุมสภามหาวิทยาลัยในช่วงนี้ได้ สามารถทำให้กรรมการสภาจำนวนหนึ่งมีเวลาในการตระเตรียมเอกสาร และประเมินความพร้อมของตนว่าจะลาออกหรือไม่ 
    ในขณะที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็สามารถเตรียมทาบทามบุคคลอย่างไม่เป็นทางการมาเป็นกรรมการสภา เพื่อให้มีกระบวนการสรรหาคนใหม่ หลังจากการลาออกมีช่องว่างของเวลาน้อยที่สุด ในกรณีนี้สามารถแก้ปัญหาระยะสั้นได้ แต่ต้องประเมินถึงผลกระทบระยะยาว
       แนวทางที่ 2 การแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.ให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับนิยามคำว่า "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" และ "ผู้บริหารระดับสูง" ว่ามีความหมายครอบคลุมหรือไม่ครอบคลุมยังตำแหน่งลักษณะใดบ้าง ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ฝ่ายคณะรัฐมนตรีในฐานะผู้ใช้อำนาจบริหารต้องปรึกษาหารือกับ ป.ป.ช. เพื่อให้ ป.ป.ช.เสนอเรื่องผ่าน ครม.นำเข้าสภานิติบัญญัติฯ ก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมาย หลังจากนั้น ป.ป.ช.จึงออกประกาศแก้ไขประกาศ กระบวนการดังกล่าวน่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน  ซึ่งอาจไม่ทันในรัฐบาลนี้ และกว่าจะดำเนินการได้กรรมการสภาคงลาออกทั้งประเทศแล้ว
        และแนวทางที่ 3 การใช้อำนาจพิเศษ ม.44 ของ คสช.ในการประกาศให้ยกเว้นการบังคับใช้ประกาศของ ป.ป.ช.ในบางตำแหน่ง ซึ่งสามารถทำได้เลยแต่ต้องทำก่อนวันที่ 1 ธ.ค.61 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศ ป.ป.ช.มีผลใช้บังคับ จะช่วยยุติปัญหาดังกล่าวได้ แต่ต้องยอมให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่าร่างกฎหมายไม่รอบคอบจนเป็นปัญหา ทำให้ต้องใช้อำนาจพิเศษอยู่ร่ำไป
         "ทุกทางขึ้นอยู่กับใจของ คสช., ครม.และ ป.ป.ช.ว่าจะเห็นปัญหาและเห็นว่าจะใช้แนวทางใดในการแก้ไข ส่วนประชาชนอย่างเราแค่ทำใจ ส่วนผมหากประกาศมีผลใช้บังคับ คงเตรียมใจเป็นกรรมการสภาหากมีการทาบทามมา เพราะพร้อมยื่นทรัพย์สิน"
    ที่สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของชาติ (ภตช.) นำโดย น.ส.ภคอร จันทรคณา รองเลขาธิการ ภตช.และโฆษกพรรคไทยศรีวิไลย์ พร้อมคณะ ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.เพื่อให้กำลังใจและขอให้คงประกาศ ป.ป.ช.เรื่องกำหนดตำแหน่งของเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา  103 พ.ศ.2561 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ไม่ต้องแก้ไข
       โดย น.ส.ภคอรกล่าวว่า ตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากข้าราชการมหาวิทยาลัย พนักงานมหาวิทยาลัย อดีตกรรมการสภามหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของอธิการบดี  รองอธิการบดี นายกสภา-กรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่ง ว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันงบประมาณแผ่นดิน ทุจริตการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ มีฐานะที่ร่ำรวยผิดปกติ 
    ซึ่งช่วง 5 เมษายน 2561 ภตช.ได้ยื่นเสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ออกประกาศกำหนดตำแหน่งเพิ่มเติมเกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สิน เพราะเป็นตำแหน่งที่สามารถหาประโยชน์ได้ ให้คุณให้โทษได้  อาทิ นายกสภา-กรรมการสภามหาวิทยาลัย, รองอธิบดี, รองเลขาธิการ, รองปลัดกระทรวง ฯลฯ และ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ป.ป.ช.ได้ออกประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องกำหนดตำแหน่งของเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา  103 พ.ศ.2561 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งกำหนดให้นายกสภา-กรรมการสภามหาวิทยาลัย, รองอธิการบดี, รองอธิบดี, รองเลขาธิการ, รองปลัดกระทรวง, กรรมการ สปสช. ฯลฯ ต้องยื่นชี้แจงบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภายใน 30 วัน จากนั้นจึงมีข่าวว่าจะมีนายกสภา-กรรมการสภามหาวิทยาลัย, กรรมการ สปสช.จะลาออกเนื่องจากไม่อยากชี้แจงบัญชีทรัพย์สิน และต่อมาเมื่อวันที่ 7  พฤศจิกายน 2561 ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีข้อสรุปเห็นด้วยที่จะให้ รองอธิการบดีชี้แจงบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ด้วยความยินดี แต่ในส่วนของนายกสภา-กรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วย ไม่สามารถชี้แจงบัญชีทรัพย์สินได้เพราะยุ่งยาก จึงจะลาออกจากตำแหน่งจำนวนมากหรือทั้งหมดถ้า ป.ป.ช.ยังไม่ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว
     นายสาวภคอรกล่าวว่า ตำแหน่งนายกสภา-กรรมการสภามหาวิทยาลัย, กรรมการ สปสช.อื่นๆ มีความสำคัญมาก สามารถให้คุณให้โทษต่ออธิการบดีหรือฝ่ายบริหารได้ ถ้าไม่ใช่พวกเดียวกันก็ทำงานไม่ได้ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งซ่องสุมกำลังทางวิชาการ ผลประโยชน์ในหมู่ผู้บริหาร กรรมการสภามหาวิทยาลัย ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐตั้งแต่ 1.5 หมื่นล้านบาท ลดหลั่นกันไปตามขนาดของมหาวิทยาลัย ความนิยม ผู้บริหารแต่ละท่านเงินเดือนร่วม 3-7 แสนบาทต่อเดือน  ไม่รวมค่ากรรมการหลักสูตร ไม่นับเงินที่เอาไปทุจริตกัน ข้อสังเกตนายกสภา-กรรมการสภามหาวิทยาลัย, อธิการบดี, รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยดังๆ บางแห่งจะมีฐานะร่ำรวยมากกว่านายกรัฐมนตรีหลายเท่าตัว ซึ่งถือว่าแต่ละตำแหน่งมีจุดเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชัน
     "สิ่งที่น่าตกใจมากคือ บุคคลสำคัญระดับปรมาจารย์ทางกฎหมายอย่างนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. และ 60 สมาชิกของ คสช.พ่วงนายกสภามหาวิทยาลัย-กรรมการสภามหาวิทยาลัยกว่า 8 แห่ง  กลับจะหนีการตรวจสอบไม่ยอมยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. อีกทั้งกรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะลาออกยกคณะ หรือแม้แต่กรรมการสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยของสงฆ์ ก็จะลาออกเช่นกัน ซึ่งกรรมการสภามีพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ระดับพระราชาคณะชั้นพราหมณ์ ขึ้นไปเป็นกรรมการ ก็จะชิ่งไม่ชี้แจงบัญชีทรัพย์สิน เป็นแบบนี้แล้วประเทศไทยจะยึดถือผู้ใหญ่ ครู อาจารย์ พระได้อย่างไร"
    น.ส.ภคอรกล่าวว่า แม้กระทั่งความโปร่งใสเบื้องต้นยังไม่สามารถทำตัวเป็นแบบอย่างให้เยาวชน  นักเรียน นักศึกษา ครู ผู้ใต้บังคับบัญชาได้เลย ยิ่งในส่วนของ สนช.แม้แต่ตัวนายพรเพชร วิชิตชลชัย  ประธาน สนช.พร้อมพวก ก็จะไม่ยอมให้ ป.ป.ช.เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะ นี่ขนาดคนร่างกฎหมายยังทำตัวไม่โปร่งใส แล้วจะให้ประชาชนเชื่อถือได้อย่างไร.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"