กกพ.อั้นไม่อยู่ ขึ้นค่าเอฟที 4.30 สตางค์/หน่วย เป็นครั้งแรกในรอบ 16 เดือน ชี้ราคาต้นทุนเชื้อเพลิงผันผวนระดับสูง ส่งผลเรียกเก็บกับประชาชน 3.6396 บาท/หน่วย หลังเทเงินอุดหนุนหมดหน้าตัก 1.03 หมื่นล้านบาท
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติให้เรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) สำหรับการเรียกเก็บงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2562 เพิ่มขึ้นจากงวดก่อน 4.30 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเป็นการขึ้นค่าเอฟทีครั้งแรกในรอบ 16 เดือน เป็นผลมาจากปัจจัยราคาเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าถีบตัวสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 3.6396 บาทต่อหน่วย จาก 3.5966 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
"การปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นไปตามที่คาดการณ์ในการพิจารณาค่าเอฟทีครั้งก่อน แต่ กกพ.ก็มีมติให้นำเงินสะสมจากการเรียกเก็บค่าเอฟทีที่ผ่านๆ มา จำนวน 3,298 ล้านบาท รวมกับเงินบริหารเอฟที ซึ่งมีที่มาจากส่วนลดและค่าปรับจากผู้ประกอบการ จำนวน 5,547 ล้านบาท และการเรียกเม็ดเงินลงทุนจากการไฟฟ้าที่ไม่ได้ลงทุนตามแผนอีก จำนวน 1,522 ล้านบาท เพื่อนำมาชดเชยต้นทุนการผลิตไฟฟ้า รวมเป็นเงิน 10,367 ล้านบาท" นางสาวนฤภัทรกล่าว
โฆษก กกพ. กล่าวว่า หาก กกพ.ไม่นำเงินที่สะสมไว้มาใช้อุดหนุนค่าเอฟทีในงวดดังกล่าว จะส่งผลให้ค่าเอฟทีท่ามกลางความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง จะต้องเรียกเก็บกับประชาชนเพิ่ม 8.10 สตางค์ต่อหน่วย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าไปบริหารจัดการ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน และเอื้อต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมด้วย
ขณะเดียวกันยังประสานงานกับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในการศึกษา วิเคราะห์ การลดสัดส่วนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) และประสานงานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการพิจารณาแหล่งผลิตไฟฟ้าที่มีความเหมาะสม ได้แก่ การเพิ่มปริมาณการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และพิจารณาผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำ เพื่อสนับสนุนการปรับตัวให้กับภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมในประเทศ รวมทั้งการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน
นางสาวนฤภัทรกล่าวอีกว่า จากการคาดการณ์ราคาเชื้อเพลิงจะยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และยืนอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าในระยะต่อไปยังคงอยู่ในภาวะขาขึ้น รวมทั้งในช่วงสิ้นปีนี้จะมีการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (ซีโอดี) ของไฟฟ้าจากโซลาร์ราชการ และพลังงานทดแทนอื่นๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยต่อต้นทุนเชื้อเพลิงด้วย ขณะที่ กกพ.ก็ใช้เงินสะสมไปหมดแล้ว ซึ่งหากค่าเอฟทีขึ้น ต้องดูว่าในช่วงนั้นมีเงินสะสมเพิ่มเติมหรือไม่เพื่อจะนำมาอุดหนุนค่าเอฟที
สำหรับการคาดการณ์ปัจจัยราคาเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้าในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2562 เทียบกับงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2561 ซึ่งประกอบด้วย ราคาก๊าซ ได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 286.83 บาทต่อล้านบีทียู มาเป็น 299.50 บาทต่อล้านบีทียู เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น +12.67 บาทต่อล้านบีทียู, ราคาน้ำมันเตา ได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 15.69 บาทต่อลิตร มาเป็น 16.86 บาท/ลิตร เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น +1.17 บาทต่อลิตร
ราคาน้ำมันดีเซลได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 19.68 บาทต่อลิตร มาเป็น 23.16 บาท/ลิตร เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น +3.48 บาทต่อลิตร, ราคาถ่านหินนำเข้า ได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 2,583.04 บาทต่อตัน มาเป็น 2,697.40 บาทต่อตัน เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น +114.36 บาทต่อตัน และการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.73 บาทต่อหน่วย มาเป็น 1.81 บาทต่อหน่วย เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น +0.08 บาทต่อหน่วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |