วิษณุ-ปปช.ถกแจงทรัพย์สิน แฉมหา’ลัยผลประโยชน์อื้อ


เพิ่มเพื่อน    

  "วิษณุ" ยังไม่ได้คุยกับ ป.ป.ช.ผ่าทางตันประกาศ ป.ป.ช.ให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยแสดงบัญชีทรัพย์สิน แต่คาดสัปดาห์หน้าได้ข้อยุติ "วัชรพล" ยันต้องทำตามกฎหมาย ขณะที่กองเชียร์ยันปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งผลประโยชน์ขนาดใหญ่ หากผู้บริหารไม่มีธรรมาภิบาล สามารถคอร์รัปชันได้อย่างง่าย "พิชาย" อึ้ง ผู้บริหารสถานศึกษาแตกตื่นเกินจริง ไล่! ใครลาออกก็ให้ลาออกไปแล้วค่อยสรรหาใหม่

    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ไปหารือกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภายหลังเกิดปัญหากรรมการสภามหาวิทยาลัยและอีกหลายองค์กรทยอยลาออก เนื่องจากไม่ต้องการยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามประกาศ ป.ป.ช.ว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกับ ป.ป.ช. แต่ได้มีการนัดแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้พบ เพราะทาง ป.ป.ช.ยังไม่สะดวก ต้องเตรียมข้อมูลบางอย่าง ซึ่งไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องพูดคุยกับประธาน ป.ป.ช.เท่านั้น แล้วแต่ว่าจะมอบหมายใครมา และกรณีนี้มีคำถามเยอะประมาณ 10 ข้อ
    ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีพระเถระชั้นผู้ใหญ่และองคมนตรีที่เข้าไปเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยจำเป็นต้องยื่นตามประกาศ ป.ป.ช.นี้ด้วยหรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า ตามในกฎหมายถ้าดำรงตำแหน่งต้องยื่น ต่อข้อถามว่า จะต้องแก้ในส่วนไหนบ้าง นายวิษณุปฏิเสธ โดยบอกว่า ไม่ขอตอบ เพราะเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. และเรากำลังจะคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน
    เมื่อถามอีกว่า ได้หาทางออกไว้แล้วใช่หรือไม่ รองนายกฯ กลับตอบว่า "ได้เตรียมทางเข้า” เมื่อถามย้ำว่า มีแนวโน้มที่จะใช้มาตรา 44 อีกครั้งในการแก้ไขกฎหมายนี้หรือไม่ เขาบอกว่า ไม่เคยคิดเรื่องนั้น เพราะอยู่ที่ ป.ป.ช.จะมีวิธีการอย่างไร อำนาจอยู่ที่ประธาน ป.ป.ช.จะวินิจฉัย 
    ขณะที่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า ป.ป.ช.อยู่ระหว่างรอฟังความเห็นจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ (ทปอ.) รวมทั้งรอหารือกับนายวิษณุ ที่กำลังประสานวันเวลากันอยู่ จะพยายามให้ได้ข้อยุติภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยได้มีเวลาตัดสินใจแบบไม่กระชั้นชิด เพราะกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ธ.ค.นี้ 
    "สิ่งที่ ป.ป.ช.ดำเนินการนั้น เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่กำหนดให้ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงที่ใช้อำนาจปกครองทางบริหารต้องแสดงความโปร่งใส ป.ป.ช.จึงดำเนินการไปตามขั้นตอน"
วอนอย่าเพิ่งออก
    เมื่อถามว่า นอกจากตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยแล้ว ยังกระทบถึงมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่มีพระเถระผู้ใหญ่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย รวมถึงตำแหน่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วย พล.ต.อ.วัชรพลแจงว่า ป.ป.ช.กำลังพิจารณาผลกระทบจากประกาศดังกล่าวว่า ส่งผลกระทบกับบุคคลเฉพาะกลุ่ม หรือคนจำนวนมาก เรื่องนี้ต้องดูองค์รวมว่ามีผลกระทบมากน้อยเพียงใด ยืนยัน ป.ป.ช.พร้อมฟังความเห็นทุกฝ่าย
    ด้าน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมองในแง่ดีว่าเราต้องมีกติการ่วมกัน ซึ่ง ป.ป.ช.ทำตามหน้าที่และก็มีความอิสระ แต่เจตนาดีก็ไม่ได้มีผลดีเสมอไปกับทุกภาคส่วน เวลานี้ก็เกิดผลขึ้นทันทีในภาคมหาวิทยาลัย คือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยที่เป็นบุคคลภายนอกส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชน ซึ่งแม้จะบอกว่ามีอำนาจทางปกครอง แต่ไม่ใช่อำนาจเฉพาะ เพราะเขาเข้ามาช่วย ไม่ได้มาแสดงอำนาจ และเมื่อมีกฎนี้ออกมา ซึ่งกฎอาจจะชอบด้วยกฎหมาย แต่กรรมการสภาฯ ก็ได้แสดงความจำนงว่าไม่ขอร่วมสังฆกรรมกับกฎนี้และขอลาออก ทั้งนี้ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะเกิดผลเสียกับมหาวิทยาลัย
        “ผมจึงอยากขอร้องว่าอย่าเพิ่งลาออก ตอนนี้รัฐบาลพยายามแก้ปัญหานี้อยู่ ภายใต้กรอบของกฎหมาย"
    รมว.ศึกษาธิการกล่าวว่า เรื่องนี้มีฝ่ายสนับสนุนว่าดี เพราะจะได้มีการตรวจสอบ เนื่องจากมองว่ากรรมการสภาฯ มีอำนาจหน้าที่ในการถอดถอนใครต่อใครได้ ซึ่งความจริงก็ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ แต่ถ้าจะกำกับการให้เขาทำงานได้ดี โดยให้แสดงทรัพย์สินก็เป็นวิธีการหนึ่ง แต่ปัญหานี้ก็ต้องคุยในแง่ของกฎหมายว่าจะดำเนินการเช่นไร โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีจะคุยร่วมกับ ป.ป.ช.
           ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ ทปอ.อยู่ระหว่างร่างหนังสือและตรวจสอบถ้อยคำเพื่อแจ้งมติของ ทปอ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ ทปอ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ ขอให้ทบทวนการยื่นบัญชีทรัพย์สินของนายกฯ และกรรมการสภาฯ โดยคาดว่าจะสามารถยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช. ในวันที่ 9 พ.ย.
แฉผลประโยชน์อื้อ
    นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) ประจำ มศว เปิดเผยถึงการล่าชื่อสนับสนุนการแสดงบัญชีทรัพย์สินของฝ่ายบริหารและสภามหาวิทยาลัยว่า เนื่องจากความกังวลใจของพวกเราคือปัญหาธรรมาและทุจริตคอร์รัปชันนำมาซึ่งการผูกขาดอำนาจ และนำไปสู่การจัดสรรพวกของตนเองสู่ตำแหน่งบริหาร โดยเฉพาะการสรรหาคณบดี ส่งผลให้ได้คณบดีที่อธิการคุมได้ ไม่ใช่คนที่สามารถพัฒนางานวิชาการอย่างอิสระได้ ทำให้คุณภาพวิชาการสูญเสียไป แม้ว่าจะมีการประกันคุณภาพการศึกษา ก็เป็นการประกันในกระดาษเท่านั้น ไม่ใช่ของจริง ส่งผลให้อุดมศึกษาเราตกต่ำลง
    "การไม่เป็นธรรมาภิบาลทำให้คนทำงานที่ไม่ใช่พวกของฝ่ายบริหารอยู่ไม่ได้ คนที่มีความสามารถจึงต้องจากมหาวิทยาลัยไป ก็ส่งผลต่อความอ่อนแอเช่นกัน ลำพังโกงกินอย่างเดียวมันก็มีทุกที่ แต่การโกงกินที่ในอุดมศึกษา มันส่งผลต่อการศึกษาของเยาวชนไทย และคือการทำลายอนาคตของชาติอย่างนึกไม่ถึง และสถาบันที่เราคิดว่าเป็นเสาหลักของสังคม เมื่อเกิดปัญหาเราก็สูญเสียสถาบันที่จะใช้เป็นที่อ้างอิงเหมือนในอดีตจะไม่มีแล้ว เพราะพวกโกงกินก็จะพึ่งการเมือง"
    เขากล่าวว่า สภามหาวิทยาลัยถืออำนาจนิติบัญญัติ ตุลาการ และบริหาร อยู่ในองค์กรเดียวเลย อำนาจล้นฟ้ามากจะบรรจุใคร จะเอาใครออก จะอุทธรณ์ร้องทุกข์ ก็มาที่นี่ เมื่อมีอำนาจล้นฟ้า แต่ไม่ยอมให้ถูกตรวจสอบหมายความว่าอย่างไร ขนาด สกอ.ก็ยังบอกว่าตัวเองคุมสภามหาลัยไม่ได้ เขาบอกต้องไปศาลปกครองเท่านั้น แต่ก่อนไป กพอ.ได้ แต่พอออกนอกระบบแล้วไม่ได้แล้ว ร้องศาลปกครองก็ 7-8 ปี ถ้าถูกไล่ออกก็หมดอนาคต เลย และยิ่งออกนอกระบบ ให้ออกง่ายมาก แค่ไม่ต่อสัญญาจ้างก็จบ อ้างอะไรไม่ได้เลย
    นอกจากนี้ นพ.สุธีร์ยังเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ และเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก Suthee Rattanamongkolgul ระบุข้อความว่า ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งผลประโยชน์ขนาดใหญ่ที่สามารถจะทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างง่ายดาย เป็นแหล่งผลประโยชน์แหล่งใหญ่ที่สังคมภายนอกมองข้ามไป เพราะอาจจะเห็นว่าเป็นสถาบันการศึกษาระดับสูง เข้าทำนองคนมีการศึกษาจะไม่โกง ที่สำคัญไม่มีใครสามารถเข้าไปตรวจสอบได้เลย การที่ ป.ป.ช.ออกประกาศให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และกรรมการสภาฯ ทุกคน ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สิน จึงอาจพอช่วยป้องปรามการทุจริตคอร์รัปชันได้ทางหนึ่ง ซึ่งความจริงยังต้องหามาตรการอื่นๆ เพิ่มอีกหลายมาตรการ แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ควรสนับสนุนให้เกิดขึ้น อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
อึ้ง! แตกตื่นเกินจริง
    ขณะที่ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ระบุว่า ความตระหนกตื่นตูมของบรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ เห็นปรากฏการณ์นี้แล้วก็รู้สึกอึ้งพอสมควร และได้แต่นึกปลงกับพฤติกรรมของบรรดากลุ่มคนที่เป็นผู้บริหารการศึกษาระดับสูงของประเทศเหล่านี้ แทนที่จะให้ความสำคัญและคำนึงถึงการวางบรรทัดฐานหลักการเชิงจริยธรรมและธรรมาภิบาลในการบริหารมหาวิทยาลัยให้เป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของประเทศ กลุ่มคนเหล่านี้กลับคิดได้เพียงแค่การมองผลประโยชน์และผลกระทบในการบริหารระยะสั้น แถมยังเป็นการคิดที่ไม่รอบคอบและแตกตื่นเกินจริงอีกด้วย เพราะว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นสามารถแก้ไขได้ไม่ยากนัก หากคนเหล่านั้นมีความสามารถในการบริหารมหาวิทยาลัยดังที่คุยกันนักหนา
    "ใครลาออกก็ให้ลาออกไป แล้วก็สรรหาและเลือกกันใหม่" รศ.ดร.พิชายระบุ
    ด้าน นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะรองประธานกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับประกาศ ป.ป.ช.ที่ให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. เพราะกรรมการสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจอนุมัติเกี่ยวกับการเงินน้อยมาก จะประชุมงบประมาณเพียงแค่ปีละครั้งเท่านั้น สภามหาวิทยาลัยจึงไม่มีความเกี่ยวข้องหรือสามารถไปล้วงลูกการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยได้ 
    "การที่กรรมการมหาวิทยาลัยไม่อยากยื่นบัญชีทรัพย์สิน ไม่ได้เป็นเพราะกลัว ทุกคนไม่กลัว แต่เห็นว่าเป็นการเพิ่มภาระหน้าที่ โดยไม่สมเหตุผลกับตำแหน่งหน้าที่ ส่วน กมธ.ศึกษาและกีฬาของ สนช. คงไม่เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะขณะนี้ทั้งรัฐบาลและที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เคลื่อนไหว เพื่อหาทางออกเรื่องร่วมกับ ป.ป.ช.อยู่แล้ว" นายเฉลิมชัยกล่าว
    นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ สมาชิก สนช. และอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า อยากให้ ป.ป.ช.ทบทวนคำว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ระบุอยู่ในกฎหมายลูกให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้น ไม่ควรรวมถึงกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพราะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นนักธุรกิจเหล่านี้ มีมุมมองประสบการณ์ ให้คำแนะนำด้านการบริหารงานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยมากมาย คนเหล่านี้ไม่มีเงินเดือน มีแค่เบี้ยประชุมเท่านั้น
    นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สมาชิก สนช. กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความคิดเห็นเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 8 พ.ย.ได้เชิญตัวแทนเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.มาชี้แจง จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ทราบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นเรื่องการเข้าใจผิดคำนิยามของคำว่า “ผู้บริหารระดับสูง” ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่ง ป.ป.ช.ตีความว่า หมายถึงกรรมการในทุกหน่วยงานของรัฐ รวมถึงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยของรัฐด้วย ทั้งที่ตามเจตนารมณ์ ตอนที่ สนช.พิจารณา พ.ร.บ.ดังกล่าว ต้องการให้ ป.ป.ช.ไปกำหนดตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงว่ามีตำแหน่งใดบ้างที่อยู่ในข่ายต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ไม่ได้หมายความว่า กรรมการในหน่วยงานรัฐต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินทั้งหมด 
    "เบื้องต้นการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ป.ป.ช.จะเลื่อนการประกาศบังคับใช้การแสดงบัญชีทรัพย์สินในวันที่ 2 ธ.ค.นี้ออกไปก่อน ส่วนการกำหนดตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงตำแหน่งใดจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินบ้างนั้น เป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.ต้องนำกลับไปทบทวน และแก้ประกาศ ป.ป.ช.ต่อไป" นายทวีศักดิ์กล่าว 
    หล่งข่าวจาก ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ในวันเดียวกันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ทำหน้าที่ประธานการประชุมนั้น ได้หยิบยกกรณี ที่หลายฝ่ายคัดค้านประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ขึ้นมาหารือกัน โดยกรรมการหลายคนยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวเกิดปัญหาขึ้นในวงกว้างและต้องรีบแก้ไข เพื่อไม่ให้กระทบต่อกรอบเวลาของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ที่ประชุมจึงได้มีมติให้สำนักกฎหมายเป็นผู้รวบรวมหนังสือข้อเสนอแนะ หรือข้อท้วงติง ที่ทางสภามหาวิทยาลัย รวมถึงสถาบันต่างๆ ที่จะส่งมาถึง ป.ป.ช.ทั้งหมดเอาไว้แล้วดำเนินการประมวลเหตุผล รวบรวมรายละเอียดต่างๆ แล้วให้นำกลับมารายงานต่อที่ประชุมกรรมการในสัปดาห์หน้าเพื่อพิจารณา
    แหล่งข่าวระบุว่า พล.ต.อ.วัชรพลได้บอกกับที่ประชุมว่า ตนเองจะได้โทรศัพท์ไปหารือกับนายวิษณุ เพื่อสอบถามความคิดเห็นของนายกรัฐมนตรีและ ครม.ตามที่นายกฯ มอบหมายนายวิษณุมา โดยในวันศุกร์ที่ 9 พ.ย.นี้ ทางสำนักงาน ป.ป.ช.ได้มอบหมายให้นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาเลขาธิการ ป.ป.ช. เดินทางมาพบนายวิษณุ ที่ทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 10.00 น. เพื่อพบและหารือถึงเรื่องดังกล่าวก่อนจะนำกลับไปรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบต่อไป.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"