"หมอธีร์" เผยได้รับแจ้งกรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะลาออกยกทีม หลังต้องแจงบัญชีทรัพย์สินกับ ป.ป.ช. วอนอย่าเพิ่งขยับ ให้เวลารัฐบาลแก้ไขก่อน ขณะที่เลขาฯ CHES บุก ป.ป.ช.สนับสนุนผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องแสดงความโปร่งใส
เมื่อวันพุธ ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) เดินทางยื่นหนังสือต่อสำนักงาน ป.ป.ช.เพื่อสนับสนุนประกาศของ ป.ป.ช. เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภา และอธิการบดี ของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) แจงหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
เพราะถือเป็นการสร้างธรรมาภิบาลในระบบบริหารงานสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และขอให้มีการพิจารณาออกประกาศเพิ่มเติมให้รวมถึงคณบดีด้วย โดยมีนายทวีป แดงวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานกลาง ป.ป.ช. มารับหนังสือ พร้อมจะนำไปยื่นในที่ประชุมป.ป.ช. ซึ่งจะมีการหารือในเรื่องดังกล่าวเร็วๆ นี้
รศ.วีรชัยกล่าวว่า เมื่อมีกฎหมายออกมา บุคคลไม่ว่าจะเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย หรือกรรมการสภามหาวิทยาลัย ต้องแสดงความโปร่งใส เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่มีการเชิญให้เข้ามาทำหน้าที่ และโปรดเกล้าฯ จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จะให้มาละเว้นไม่ได้
"การอ้างว่าหากลาออกกันไปจำนวนมากจะทำให้การบริหารงานต้องสะดุดนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะถึงแม้จะเหลือกรรมการสภาเพียงครึ่งหนึ่งก็ยังทำงานได้ และเชื่อว่าหากกรรมการชุดเดิมลาออกไป การสรรหาคนใหม่ก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก เนื่องจากส่วนใหญ่ที่ลาออกจะเป็นกรรมการสภาที่มาจากภาคเอกชน แต่ยังมีกรรมการสภาอีกหลายท่านพร้อมทำหน้าที่"
รศ.วีรชัยกล่าวว่า การตรวจสอบทรัพย์สินเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเดิมทีการตรวจสอบสภามหาวิทยาลัยเป็นเรื่องทำได้ยาก ที่ผ่านมาพบกรณีที่นายกสภามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมีการนำบริษัทของตนเองมาประมูลเพื่อให้ได้งานของมหาวิทยาลัย ตรงนี้เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีงบประมาณและรายได้เข้ามาจำนวนมหาศาล บางแห่งสูงถึง 15,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถือเป็นหลุมดำที่ยังไม่มีการตรวจสอบการใช้งบประมาณ
ด้าน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ล่าสุดตนได้รับแจ้งข่าวว่าสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะลาออกยกทีม ซึ่งตนก็ยังไม่ทราบว่าเป็นความจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ฝากขอร้องว่าอย่าเพิ่งลาออก ขอให้ทุกคนใจเย็นๆ ขณะนี้รัฐบาลกำลังหาทางออกให้ เพราะหากมีการประกาศลาออกแล้วจะมีการตีความให้ถือว่าเป็นการลาออกเลย
เนื่องจากมีการแสดงเจตจำนงแล้ว ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาการร้องเรียนขึ้นมาภายหลัง ส่วนกรณีที่นายดำรง พุฒตาล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีและมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ประกาศลาออกจากกรรมการมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งนั้น ตนยังไม่ทราบเรื่องนี้ แต่ในอดีตเคยมีการถกเถียงกันในประเด็นดังกล่าว ดังนั้นจึงขอร้องกรรมการสภามหาวิทยาลัยทุกคนอย่าเพิ่งแสดงเจตจำนง ขอให้รัฐบาลได้หาทางแก้ไขปัญหาก่อน ไม่เช่นนั้นอาจจะต้องมาดำเนินการสรรหาใหม่ อาจจะเกิดปัญหาวุ่นวายตามมา และหากเป็นจำนวนมาก ก็อาจจะส่งผลให้บางมหาวิทยาลัยทำงานไม่ได้
เมื่อเวลา 15.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ประชุมหารือร่วมกับตัวแทนที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ เกี่ยวกับประกาศ ป.ป.ช. ที่กำหนดให้นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วย
ภายหลังการประชุม นายสุชัชวีร์กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการป้องกันและตรวจสอบไม่ให้มีการทุจริตในภาครัฐ ดังนั้นผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ อธิการบดีและรองอธิการบดีจึงควรยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ตามที่กำหนดในประกาศ แต่การที่ให้นายกสภาฯ และกรรมการสภาฯ ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับด้านวิชาการเป็นหลัก ไม่ได้มีอำนาจเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐโดยตรง อันจะทำให้เกิดการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ กรรมการสภาฯ ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหาร หรือเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรจึงไม่มีความจำเป็นที่จะกำหนดให้กรรมการสภาฯ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ที่ประชุมจึงมีมติเสนอให้ ป.ป.ช.พิจารณาทบทวนประกาศ ดังกล่าวให้มีความเหมาะสมกับการบริหารงานของมหาวิทยาลัย เพราะตอนนี้กรรมการสภาฯ บางแห่งได้ยื่นลาออกแล้วจริงๆ ทำให้เกิดปัญหาและอาจส่งผลกระทบต่อนักศึกษา จากนี้จะทำหนังสือถึง ป.ป.ช.และเตรียมจะเข้าไปหารือกับประธาน ป.ป.ช.อย่างเป็นทางการต่อไป
"ผลกระทบจากประกาศฉบับนี้ ทำให้นายกสภาฯ และกรรมการสภาฯ บางแห่งไม่ประสงค์จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เพราะการยื่นบัญชีทรัพย์สินแม้ว่าจะเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ เพื่อธรรมาภิบาล แต่ก็เป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ที่ต้องยื่นทรัพย์สินมากเกินควร รวมทั้งต้องยื่นทรัพย์สินของคู่สมรสและบุตรด้วย ขณะเดียวกันระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศเพียง 60 วัน ไม่เพียงพอต่อการดำเนินการยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ถูกต้องและครบถ้วนได้ หากยื่นบัญชีผิดพลาด แม้ไม่ได้เจตนาก็อาจมีโทษทางอาญาและถูกศาลพิพากษาจำคุกได้ จึงได้มีนายกสภาฯ และกรรมการสภาฯ บางแห่งยื่นใบลาออกจากตำแหน่งแล้ว ส่งผลกระทบให้สภาฯ มีกรรมการสภาฯ ไม่ครบองค์ประชุมไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ส่งผลเสียต่อการบริหารงานในมหาวิทยาลัยและนิสิต นักศึกษา" ประธาน ทปอ.กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |