กองทุนระบบบริการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care) เป็นแนวทางใหม่ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เริ่มดำเนินการมาได้ 2-3 ปีแล้ว ภายใต้แนวคิดที่ให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุครอบคลุมทั้งกาย จิต สังคม โดยปัจจุบันมีตำบลที่สมัครเข้าร่วมกว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงกว่า 2 แสนราย
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เป็นเรื่องใหม่ แต่ละชุมชนก็มีบริบทต่างกันออกไป บางพื้นที่อาจยังไม่มั่นใจว่าจะเริ่มดำเนินการอย่างไร จากการลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของ รพ.สต.บ้านทำเนียบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเริ่มนำร่องระบบการดูแลผู้สูงอายุในปี 2559 และได้สัมภาษณ์ประสบการณ์การทำงานของผู้เกี่ยวข้อง โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ชุมชนอื่นๆ ที่สนใจจัดระบบการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงในอนาคต
ธัญญาทิพ สุขปาน พยาบาลวิชาชีพ รพ.สต.บ้านทำเนียบ กล่าวว่า พื้นที่รับผิดชอบมีทั้งหมด 9 หมู่บ้าน มี Care Giver (CG) ทั้งหมด 23 คน ดูแลพื้นที่ 8 หมู่บ้าน ยังขาดอีก 1 หมู่บ้าน แต่ยังสามารถหมุนเวียน CG จากหมู่อื่นๆ ไปช่วยได้ ส่วนจำนวนผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงที่คัดกรองได้มีทั้งหมด 27 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองแตก เพราะเป็นผลมาจากพฤติกรรมการกินของคนในพื้นที่ที่กินหวานกินเค็มกันเยอะ ประกอบกับไม่ค่อยออกกำลังกาย คิดว่าการออกไปกรีดยางก็เป็นการออกกำลังกายแล้ว ทำให้มีผู้ป่วยเบาหวานความดันในพื้นที่กว่า 1,000 คน
ธัญญาทิพกล่าวว่า การทำงานจะคัดกรองผู้สูงอายุออกมาเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มติดสังคมที่ปฏิบัติตัวได้เหมือนคนปกติทั่วไป กลุ่มติดบ้านซึ่งอาจจะมีภาวะพึ่งพิงบางอย่าง และกลุ่มติดเตียงซึ่งช่วยเหลือตัวเองได้น้อย โดยจะเน้นไปที่การดูแลกลุ่มติดบ้านติดเตียงไม่ให้อาการแย่ลง และฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาช่วยเหลือตัวเองได้
ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จตามแผนคือ การทำงานเป็นทีม CG ไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่จะมีทีมจากทั้งโรงพยาบาลแม่ข่าย รพ.สต. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันเคลื่อนไปด้วยกันเป็นขบวน ทำให้ง่ายในการติดต่อประสานงาน เวลามีข้อสงสัยหรือต้องการความช่วยเหลือนอกจากเรื่องสาธารณสุข ก็สอบถามขอคำแนะนำได้ เช่น การเบิกจ่าย การติดต่อสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)
ผลการดำเนินงานในปี 2559 สามารถเปลี่ยนผู้ป่วยติดเตียงให้เป็นกลุ่มติดบ้านได้ 2 ราย และกลุ่มติดบ้านสามารถเปลี่ยนเป็นติดสังคมได้อีก 3 ราย แต่ถือว่าในปีนั้นยังเป็นเรื่องใหม่ การคัดกรองผู้สูงอายุจึงยังทำได้ไม่ครอบคลุม กว่างบประมาณจะมาถึงก็ต้องรีบคัดกรองและส่งแผนโครงการ จึงยังคัดกรองได้ในกลุ่มที่ป่วยหนักและมีบางส่วนที่หลุดรอดไป
อย่างไรก็ดี ในปี 2560 เมื่อระบบต่างๆ เข้มแข็งมากขึ้น สามารถคัดกรองได้ครอบคลุมและได้กลุ่มผู้ป่วยติดบ้านที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย แต่ยังไม่ถึงขั้นติดเตียงเพิ่มขึ้นมา โดยมีผู้สูงอายุที่ต้องดูแลเพิ่มเป็น 50 คน คาดว่ากลุ่มนี้จะฟื้นตัวได้ดี ลดโอกาสที่จะเป็นผู้ป่วยติดเตียงได้มากขึ้น
“ข้อแตกต่างจากเดิมคือ เดิมเราดูแลผู้สูงอายุแบบกว้างๆ ไม่ได้คัดกรองว่าอยู่กลุ่มไหน เช่น ผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองแตก เราก็ให้การดูแลเท่าที่จะดูแลที่บ้านได้ แต่พอมีงบประมาณจากกองทุน LTC มาสนับสนุน ก็ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้เติมเต็มในส่วนที่ผู้ป่วยต้องการใช้จริงๆ เช่น อุปกรณ์ต่างๆ คนที่จำเป็นต้องใช้ก็จะได้ทุกคน ก็ช่วยทำให้ดูแลได้ดีขึ้น และยังสามารถหมุนเวียนไปใช้กับรายอื่นๆ ได้อีก” ธัญญาทิพ กล่าว
สำหรับทิศทางการดำเนินงานในอนาคต ธัญญาทิพกล่าวว่า แนวโน้มปริมาณผู้สูงอายุในพื้นที่จะมากขึ้นตามแนวโน้มใหญ่ของสังคมไทยในปัจจุบัน แต่ยังดีที่ในพื้นที่บ้านทำเนียบยังมีลักษณะที่อยู่กันเป็นครอบครัวพี่น้อง คอยช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกัน ดังนั้นแนวทางที่จะเดินหน้าไปต่อคือการพยายามทำให้กลุ่มติดบ้านติดเตียงใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข แม้โรคจะไม่หาย แต่ก็ช่วยลดภาวะแทรกซ้อน ลดความซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายได้ และถ้าเป็นไปได้ ก็อยากจะเพิ่มปริมาณจิตอาสาให้เข้ามาช่วยงานมากขึ้น อย่างน้อยจะได้ช่วยเป็นหูเป็นตา ช่วยแจ้งข่าวเพื่อให้ทีมงานช่วยประสานหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาเติมเต็มได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |