เมื่อผู้นำญี่ปุ่นกับจีนจับมือกันที่ปักกิ่งปลายเดือนที่ผ่านมา หนึ่งในปรากฏการณ์ใหม่นั้นคือ การประกาศว่าสองยักษ์เศรษฐกิจแห่งเอเชียจะร่วมกันลงทุนใน ประเทศที่สาม
และหนึ่งในประเทศที่สามนั้นคือประเทศไทย
นี่คือสัญญาณด้านบวกที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
เพราะนี่ย่อมเป็นการตอกย้ำถึง ระเบียบโลก ใหม่ที่กำลังก่อร่างสร้างขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ใครจะเชื่อว่าจีนกับญี่ปุ่นที่เคยห้ำหั่นกันมายาวนานในประวัติศาสตร์ และในระยะหลังก็ยังมีเรื่องระหองระแหงกันเกี่ยวกับการอ้างสิทธิ์เหนือทะเลตะวันออกที่โตเกียวเรียก เซนกากุ และจีนเรียก เตี๊ยวหยู จะหันมาคืนดีกันได้
ทุกครั้งที่คนในรัฐบาลไปคารวะดวงวิญญาณของนักรบญี่ปุ่นที่วัดยาสุกุนิ กลางโตเกียว ปักกิ่งก็จะประท้วงว่าเป็นการเหยียบย่ำความรู้สึกของคนจีนที่เคยเป็นเหยื่อการรุกรานของญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรอย่างเหนียวแน่นของสหรัฐฯ มาตั้งแต่แพ้สงครามโลกครั้งที่สอง แต่พอทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีหลายอย่างก็เปลี่ยนไป
นายกฯ ชินโซ อาเบะของญี่ปุ่นบินไปจับมือกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนที่ปักกิ่งครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการดำเนินการทางทูตปกติเพื่อให้มีข่าวว่าสองประเทศยังพูดจากันอยู่
หากแต่เป็นจุดเปลี่ยนผันประวัติศาสตร์การเมืองโลกที่มีนัยสำคัญยิ่ง
เพราะทั้งสองยักษ์แห่งเอเชียเริ่มตระหนักแล้วว่า ไม่อาจไว้วางใจทรัมป์ได้แล้วว่าจะเคารพในกติกาและข้อผูกพันเดิมๆ ที่สหรัฐมีต่อญี่ปุ่น และไม่แน่ใจว่าสงครามการค้าที่ทรัมป์เปิดฉากกับจีนนั้นจะส่งผลกระทบไปทั่วโลกอย่างไรบ้าง
ระหว่างการเยือนจีนของนายกฯ อาเบะมีการสัมมนาพิเศษว่าด้วยการลงทุนของจีนกับญี่ปุ่นในประเทศที่สามด้วย ถือว่าเป็นความริเริ่มที่มีความสำคัญในระดับโลก เพราะนี่คือการยืนยันว่าสองชาติใหญ่แห่งเอเชียกำลังจะเลิกให้สหรัฐฯ เป็นคนกำหนดชะตากรรมของเอเชียแล้ว
ผมมองการผนึกกำลังของจีน, ญี่ปุ่น, อินเดีย, เกาหลีใต้ และอาเซียนเป็นความเคลื่อนไหวที่จะคานอำนาจของอเมริกาในโลกยุค Post-America ได้อย่างมีผลสำคัญยิ่ง
และหากสิ่งที่อเมริกาเรียก Indo-Pacific Region เป็นรูปธรรมขึ้นจริง เราจะเห็นการรวมตัวของอินเดียกับประเทศในแปซิฟิกที่มีนัยคานอำนาจกับสหรัฐฯ ได้อย่างแน่นอน
ยิ่งหาก Indo-Pacific ประสานมือกับยุโรปซึ่งก็กำลังหงุดหงิดกับสหรัฐฯ ในหลายๆ กรณีด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะเห็นพลังของเอเชียที่จะต้านอิทธิพลของทรัมป์ที่พยายามจะทำอะไรเพียงแค่ยึดนโยบาย America First เท่านั้น
เมื่อไทยเราได้รับอานิสงส์จากความพลิกผันของสถานการณ์โลกในรูปแบบของจีนกับญี่ปุ่นจับมือกันเพื่อลงทุนในประเทศที่สามอย่างนี้แล้ว ก็ควรที่ผู้วางนโยบายของไทยเราจะต้องสร้างประโยชน์ให้ได้เต็มที่จากการปรับเปลี่ยนครั้งนี้
ความจริงจีนกับญี่ปุ่นได้ออกแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือในการลงทุนในอีอีซี หรือ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของไทยครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 เดือนพฤษภาคม ปีนี้
เป็นการต่อยอดการลงนามใน บันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ของวันที่ 9 พฤษภาคมปีเดียวกัน ในความร่วมมือเอกชนของสองประเทศในอีอีซีของไทย
ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า MOU on Japan-China Private Economic Cooperation in Third Countries
ข้อตกลงนี้ระบุว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อส่งเสริมกิจกรรมด้านเศรษฐกิจในอีอีซีของไทย ภายใต้กรอบของ Japan-China High-Level Economic Talk
เริ่มแรกนั้นทั้งสองประเทศให้เอกชนของตนเข้ามาลงทุนในประเทศที่สาม แต่เมื่ออาเบะไปเยือนสีจิ้นผิงที่ปักกิ่งเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ก็ดูเหมือนจะเป็นการยกกิจกรรมนี้สู่ความร่วมมืออย่างเป็นทางการทั้งระดับรัฐบาลและเอกชน
เหตุผลทางการที่ระบุในบันทึกความเข้าใจนี้บอกว่าไทยเป็นมิตรยาวนานกับทั้งจีนและญี่ปุ่น ดังนั้นเมื่อไทยเปิดโอกาสเช่นนี้จึงเป็นจังหวะสำคัญที่จะทำให้ความร่วมมือของสองประเทศนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย
หากจำได้ไทยได้เชิญคณะนักธุรกิจของจีนและญี่ปุ่นมาเยือนไทยแล้ว เป็นครั้งแรกที่เป็นคณะเอกชนใหญ่ถึงประมาณ 500 คน มาเยือนกันคนละครั้ง แต่ดูเหมือนจะพูดจาภาษาคล้ายกันว่าจะต้องหาทางประสานให้เกิดความร่วมมือให้จงได้
เป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐและเอกชนของไทยที่จะต้องสานสัมพันธ์ให้เกิดความร่วมมือของจีนกับญี่ปุ่นในไทยอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เพียงแค่ออกแถลงการณ์ร่วมเฉยๆ
ไทยจะได้ประโยชน์อย่างมหาศาลหากเราเดินหน้าทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง
เพราะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราสามารถสวมบทบาทของ โซ่ข้อกลาง ที่จะผลักดันให้เกิด ระเบียบโลก ใหม่ที่เห็นจีนและญี่ปุ่นขึ้นรถไฟขบวนสันติภาพอย่างแท้จริงในศตวรรษที่ 21 นี้!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |