"Great Food Good Run2018" วิ่งต้าน NCDs กินอาหารปลอดพิษ   


เพิ่มเพื่อน    

              จากสภาพการดำเนินชีวิตของผู้คนยุคปัจจุบันที่เร่งรีบ แข่งขันกับเวลาเพื่อทำงานและดูแลครอบครัว จนทำให้ละเลยการดูแลสุขภาพ และอยู่กับอาหารการกินที่ไม่มีประโยชน์ หวาน มัน เค็มมากเกินไป และขาดการทำกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ ส่งผลให้คนไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจมากถึง 14 ล้านคน และเสียชีวิตมากถึง 300,000 คนต่อปี ส่งผลกับการใช้งบประมาณด้านสาธารณสุขอย่างมหาศาลเพื่อดูแลคนกลุ่มนี้

              ล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมสุขภาพและบริโภคอาหารปลอดภัย โครงการเดินวิ่งเพื่อสุขภาพและบริโภคอาหารปลอดภัย Great Food Good Run 2018 จัดโดยกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักเกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกาย พร้อมเลือกบริโภคอาหารที่ดีจากสินค้าเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย และสินค้าเกษตรนวัตกรรม ในวันที่ 22-23 ธันวาคม 2561 ที่สนามกีฬาแห่งชาติ ศุภชลาศัย

              พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการกองทุน สสส. กล่าวว่า จากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ กว่า 14 ล้านคนต่อปี เสียชีวิตกว่า 300,000 คนต่อปี สาเหตุสำคัญเกิดจากการดำเนินชีวิตที่ขาดการมีกิจกรรมทางกายและรับประทานอาหารหวาน มัน เค็มจัด

              สสส.จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการดำเนินงานเพื่อสร้างสังคม สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาวะ และส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกาย ลดพฤติกรรมเนือยนิ่งในชีวิตประจำวัน ซึ่ง “การวิ่ง” เป็นกิจกรรมทางกายที่ทำได้ง่ายและมีประโยชน์ ช่วยเพิ่มความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย และลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรค NCDs หากคนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตจากโรค NCDs ได้ถึง 11,129 รายต่อปี และช่วยลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาลได้ถึง 5,977 ล้านบาท

              “ที่ผ่านมาการทำงานด้านการป้องกันโรค NCDs ทั้งในเชิงนโยบาย การรณรงค์สร้างความตระหนัก และการจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยองค์การอนามัยโลกยกให้ประเทศไทยมีการดำเนินงานที่ก้าวหน้าเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 3 ของโลกร่วมกับฟินแลนด์และนอร์เวย์ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จจากความร่วมมือในการทำงานนของ สสส.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่าย”

              ประธานกรรมการกองทุน สสส.กล่าวต่อว่า ในการนี้จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานและภาคีที่ครอบคลุมทั่วประเทศ จึงนำมาสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมสุขภาพและบริโภคอาหารปลอดภัย เพื่อรวมพลังรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนในเรื่องการออกกำลังกายและการเลือกบริโภคอาหารที่ดี ด้วยสินค้าเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย และสินค้าเกษตรนวัตกรรม รวมทั้งประชาสัมพันธ์ขยายช่องทางตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพประเภทสินค้าเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย และสินค้าเกษตรนวัตกรรมที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และสามารถขยายตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพอีกด้วย ภายใต้โครงการเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ และบริโภคอาหารปลอดภัย Great Food Good Run ที่จะจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี”

              สำหรับงานเดิน-วิ่ง Great Food Good Run 2018 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 ธันวาคม 2561 ณ สนามกีฬาศุภชลาศัย เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้-5 พฤศจิกายน 2561 ที่เว็บไซต์ www.thaijogging.org โดยในวันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม 2561 มีกิจกรรมจัดแสดงสินค้าและจำหน่ายเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย สินค้าเกษตรนวัตกรรม จำนวน 50 บูธ และในวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม งานเดิน-วิ่ง Great Food Good Run ชิงถ้วยรางวัลของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นี้ แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 10 กม., 5 กม. และ 3 กม. นักวิ่งทุกคนจะได้รับเสื้อวิ่ง เหรียญที่ระลึก และถุงผ้า "Great Food Good Run" ภายหลังเข้าเส้นชัย ผู้สนใจร่วมงานสามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้-5 พฤศจิกายนนี้ ทาง www.thaijogging.org หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ Great Food Good Run

              รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมอบให้แก่สถานสงเคราะห์คนชรา 12 แห่ง ภายใต้การดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สนับสนุนสังคมผู้สูงอายุได้มีสุขภาพที่แข็งแรง ที่มาจากการบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์

              เชื่อว่าทั้งงานวิ่งและการได้รับความรู้เกี่ยวกับการรับประทานอาหารที่มีคุณภาพจะสร้างประโยชน์ให้แก่ทุกคน ที่สำคัญยังได้ร่วมทำบุญอีกด้วย.

 

คุมเข้มบุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่ไฟฟ้า

              ดร.ศรีรัช ลอยสมุทร อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สถานการณ์การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประชาชนไทยถือว่ามีความน่าเป็นห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่าคนส่วนใหญ่หันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้า เพราะได้รับการสื่อสารความเชื่อผิดๆ โดยเฉพาะในสื่อโซเชียลมีเดียที่อ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตรายแต่อย่างใด ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่จริง โดยมีงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ว่า บุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวนมีอันตราย อีกทั้งยังมีการสื่อสารความเชื่อผิดๆ ว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่มวนได้ แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการเปลี่ยนประเภทการสูบเท่านั้น หรือแม้แต่การอ้างอิงว่าบุหรี่ไฟฟ้าได้รับการยอมรับในทุกประเทศ ซึ่งข้อเท็จจริงแล้ว หลายประเทศเริ่มมีมาตรการควบคุมโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน อาทิ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ฯลฯ

              “แม้ว่าขณะนี้ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และประกาศกระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดให้บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งไม่สามารถซื้อขายหรือ โฆษณาในราชอาณาจักรได้ แต่กลับมีการลักลอบนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก ทำให้หากจะต้องทบทวนกฎหมายเรื่องการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ควรมีการทบทวนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมและการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างตรงวัตถุประสงค์ เพื่อให้ไม่มีการขายหรือโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้าได้ตามกฎหมายที่มีในปัจจุบัน” ดร.ศรีรัชกล่าว

              ดร.ศรีรัชกล่าวต่อว่า ปัจจุบันจากการสำรวจนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 อายุ 16-18 ปี จำนวน 945 คนในกรุงเทพฯ พบว่า 30.5% สูบบุหรี่ไฟฟ้าโดยเชื่อว่าปลอดภัยและไม่เสพติด และการสำรวจในกลุ่มวัยมหาวิทยาลัย 1,155 คน พบ 61% สูบบุหรี่ไฟฟ้า และ 41% เชื่อข้อมูลในเฟซบุ๊กที่ขายบุหรี่ไฟฟ้าว่าปลอดภัย เป็นการสูบแต่ไอน้ำ โดยไม่ทราบว่าในบุหรี่ไฟฟ้านั้นมีนิโคตินและสารประกอบอื่นๆ ที่เป็นสารเคมีอันตรายเช่นเดียวกัน โดยพบว่า ปัจจุบันมีการสร้างเพจขึ้นมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า แต่เป็นข้อมูลที่ขัดต่อหลักฐานทางวิชาการ และเป็นการสร้างความเชื่อผิดๆ ให้กับเยาวชนและกลุ่มนักสูบว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย

              “สิ่งที่น่าห่วงในกลุ่มเยาวชนคือ หลายคนเริ่มหันมาเริ่มต้นการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งการปรับแต่งกลิ่น รสของบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้สูบได้ง่ายขึ้น ไม่มีอาการเจ็บคอหรือระคายคอเหมือนบุหรี่ชนิดมวน จึงทำให้การสูบนั้นง่ายขึ้น และอาจกลายเป็นการสูบบ่อยจนติดบุหรี่โดยไม่ทันรู้ตัว ทำให้อัตราการติดบุหรี่ของเด็กและเยาวชนเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการกระตุ้นตลาดในสื่อออนไลน์ ขายตรงทางไลน์ เฟซบุ๊ก ซึ่งเข้าถึงตัวเด็กได้ง่าย จะทำให้ยากต่อการควบคุม ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายก็ยังไม่สามารถควบคุมได้ทั่วถึง” อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวทิ้งท้าย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"