ความรุนแรงทางเพศพุ่ง เหตุแอลกอฮอล์กระตุ้น


เพิ่มเพื่อน    

              ความรุนแรงทางเพศถือเป็นภัยสังคมที่น่าเป็นห่วง ส่วนใหญ่เกิดจากคนใกล้ชิด โดยอาศัยความไว้วางใจเข้าไปล่อลวง หรือรู้จักกันผ่านโซเชียลมีเดีย และอีกส่วนหนึ่งถูกกระตุ้นด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ขาดสติและขาดความยับยั้งชั่งใจจนก่อเหตุอาชญากรรม และจบลงด้วยผู้หญิงต้องตกเป็นเหยื่อ ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้สะท้อนออกมาในเวทีเสวนา “ข่มขืน...ภัยใกล้ตัวของเด็กและเยาวชน”  จัดโดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สิรินยา บิชอพ (ซินดี้) เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้

              นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่า จากการรวบรวมสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นในปี 2560 จากหนังสือพิมพ์จำนวน 13 ฉบับ พบข่าวความรุนแรงทั้งหมด 317 ข่าว มีผู้เสียชีวิต 20 ราย และพบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงทางเพศมากที่สุดถึงร้อยละ 31.1 หรือคิดเป็น 1 ใน 3 โดยประมาณ รองลงมา อ้างว่ามีปัจจัยกระตุ้นจากอารมณ์ทางเพศ ร้อยละ 28 การใช้สารเสพติด ร้อยละ 16.3 และต้องการชิงทรัพย์ ร้อยละ 11.7 ส่วนอายุของผู้ถูกกระทำเกินครึ่ง หรือร้อยละ 60.6 ยังเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 5-20 ปี รองลงมา ร้อยละ 30.9 อายุ 41-60 ปี

              สำหรับอาชีพของผู้ถูกกระทำ อันดับหนึ่งเป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 60.9 รองลงมาคือ ลูกจ้าง ร้อยละ 21.6 กลุ่มคนค้าขาย ร้อยละ 5.2 และเป็นกลุ่มเด็กเล็ก ร้อยละ 4.2 ส่วนสถานที่เกิดเหตุ พบว่า เกิดในที่พักของผู้ถูกกระทำ รองลงมาเกิดในที่พักของผู้กระทำ และเกิดเหตุในที่เปลี่ยว/ถนนเปลี่ยว ส่วนพื้นที่เกิดเหตุอันดับหนึ่งคือ กรุงเทพฯ ร้อยละ 17.4 รองลงมาคือที่จังหวัดชลบุรี ร้อยละ 7.6 จังหวัดสมุทรปราการ  ร้อยละ 6.8 จังหวัดปทุมธานี ร้อยละ 5.2 และจังหวัดเชียงใหม่ ร้อยละ 4.9

              นางสาวจรีย์กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าสลดใจคืออายุของผู้ถูกกระทำน้อยที่สุดคือ เด็กหญิง 5 ขวบถูกข่มขืน และอายุมากสุดคือ อายุ 90 ปีถูกข่มขืน ส่วนอายุของผู้กระทำที่น้อยที่สุดคือ 12 ปี เมื่อลงลึกถึงความสัมพันธ์ของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นคนรู้จักคุ้นเคยและเป็นบุคคลในครอบครัวกว่าร้อยละ 53 รองลงมา เป็นคนแปลกหน้า/ไม่รู้จักกัน ร้อยละ 38.2 และถูกกระทำจากคนที่รู้จักกันผ่านโซเชียล ร้อยละ 8.8 โดยจะเห็นได้ว่า กรณีความสัมพันธ์ที่เป็นคนใกล้ชิด/คนรู้จักคุ้นเคยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเภทข่าวข่มขืน และมีหลายกรณีข่าวที่ผู้กระทำมักอาศัยความไว้ใจเชื่อใจ ล่อลวงกระทำการข่มขืน ส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำ คือ หวาดผวา/ระแวง/กลัว ร้อยละ 26.1 ที่น่าห่วงคือ ถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์หลายครั้ง/ยาวนาน ร้อยละ 12.8 ถูกขู่ฆ่าหากขัดขืน/ข่มขู่ห้ามบอกใคร ร้อยละ 12.7 ถูกทำร้ายร่างกายสาหัส ร้อยละ 12

              ทั้งนี้ ข้อเสนอในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้นคือ ครอบครัวควรให้กำลังใจ ไม่กล่าวโทษว่าเป็นความผิดของผู้ถูกกระทำ และควรสร้างความคิดที่ช่วยเสริมความมั่นใจให้กับผู้ถูกกระทำแทนภาพเชิงลบ ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อลดความหวาดกลัว สิ้นหวัง แต่กล้าเผชิญกับสิ่งที่เกิดขึ้น และถึงเวลาที่เราควรมีหลักสูตรการเรียนรู้ทั้งในระดับโรงเรียน ให้เคารพในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง บุคคลในหน่วยงาน เช่น โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ควรมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นปัญหาความรุนแรงทางเพศที่ละเอียดอ่อน ไม่กระทำซ้ำผู้ถูกกระทำ หรือจัดการปัญหาด้วยการมองว่าเป็นปัญหาของผู้หญิง

              อีกทั้งในระบบการเยียวยาผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศต้องดูแลแบบต่อเนื่อง เน้นการทำงานกับพลังภายในของผู้ถูกกระทำด้วย เพื่อทำให้เห็นคุณค่าภายใน เห็นศักยภาพความสามารถของตนเอง เพราะการข่มขืนไม่ได้เพียงแต่ทำร้ายร่างกายเท่านั้น แต่ทำลายคุณค่าภายในอีกด้วย

              นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สำนัก 1) สสส. กล่าวว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2560 คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 28.4 ส่วนใหญ่เป็นเพศชายดื่มสูงกว่าเพศหญิงถึง 4 เท่า ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองของครัวเรือน โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ปี 2560 คนไทยมีค่าใช้จ่ายในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงถึง 142,230 ล้านบาท และการดื่มยังเป็นต้นเหตุสำคัญของอุบัติเหตุและปัญหาสุขภาพ เริ่มตั้งแต่ทำให้เกิดโรคตับแข็ง มะเร็ง หลอดเลือดสมอง เป็นต้น

              สำหรับการจัดเวทีครั้งนี้เป็นข้อมูลอีกหนึ่งเสียงที่ยืนยันชัดเจนว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยร่วมสำคัญถึง 1ใน 3 ของผู้ก่อเหตุ ซึ่งถือเป็นภัยสังคมที่น่ากลัวไม่น้อยไปกว่าผลกระทบทางสุขภาพและอุบัติเหตุ ดังนั้นการลดความเสี่ยงสามารถทำได้ หากเริ่มตระหนักถึงปัญหา และค่อยๆ ลด ละ เลิกพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลง ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเข้มงวด รวมทั้งการเฝ้าระวังในระดับชุมชน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้เช่นกัน 

              รองศาสตราจารย์อภิญญา เวชยชัย นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ กล่าวว่า จากสถิติ พบผู้เสียหายเข้าสู่กระบวนการของตำรวจมีแนวโน้มสูงขึ้น และจากการเฝ้าระวังพบว่าเหตุการณ์ความรุนแรงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต สภาวะทางจิตใจ การรับรู้จะค่อยๆ เปลี่ยนไป ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในอนาคต หลายรายต้องสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง รู้สึกผิดโทษตัวเอง ทำร้ายตัวเองตลอดเวลา มีทัศนคติที่ไม่ดีในการสร้างครอบครัวและการมีเพศสัมพันธ์ในอนาคต สิ่งที่ยังเป็นปัญหาคือ ผู้เสียหายส่วนใหญ่ไม่กล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะอาย ไม่กล้าเปิดเผย เก็บความทุกข์ไว้เพียงลำพัง ทำให้ผู้กระทำย่ามใจเกิดการกระทำซ้ำ

              "ต้องทำให้ผู้กระทำได้รับการลงโทษที่เด็ดขาด เกิดการเปลี่ยนรากฐานทัศนคติ หยุดการใช้อำนาจ และไม่มองผู้หญิงเป็นวัตถุสิ่งของ ส่วนผู้เสียหายต้องได้รับทางเลือกที่เหมาะสม มีระบบดูแลผู้ถูกกระทำที่ชัดเจน คือให้บริการที่เป็นมิตรในรายบุคคล ได้รับคำปรึกษาที่เหมาะสมเพื่อให้ลดความหวาดกลัว ฟื้นฟูอารมณ์จิตใจนำพลังที่สูญเสียไปกลับคืนมา มีทีมสหวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ที่เพียงพอ นอกจากนี้ต้องมีบริการที่เป็นองค์รวม เช่น ปัจจัยสี่ อาชีพ ที่พักพิงชั่วคราวพื้นที่ปลอดภัย" รองศาสตราจารย์อภิญญากล่าว 

              ขณะที่นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า การข่มขืนเป็นความรุนแรงทางเพศที่คุกคามความเป็นมนุษย์ผู้ถูกกระทำอย่างที่สุด แต่สังคมไทยกลับไม่จริงจังกับเรื่องการเรียกร้องความรับผิดชอบทางเพศในมิตินี้จากผู้ชาย และมีแนวโน้มที่จะปล่อยให้ผู้ชายลอยนวล ขณะเดียวกันกลับเข้มงวดกดดัน ตีเส้น ตีกรอบ และเรียกร้องการดูแลตัวเองจากผู้หญิง ซึ่งเป็นวิธีคิดที่หลงทางมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์

              ที่ผ่านมาบ้านกาญจนาภิเษกได้ทำกระบวนการกลุ่ม มีกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมที่เราเรียกว่า “วิชาชีวิต” เปลี่ยนระบบความคิดที่มีผลต่อพฤติกรรมเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางเพศอย่างต่อเนื่อง สามารถจับต้องได้ เช่น กิจกรรมการเลี้ยงไข่ต้ม 8 วัน โดยให้เยาวชนต้องหิ้วไข่ต้มติดตัวตลอดเวลาจนครบกำหนด จากนั้นจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดกัน แต่ละคนประสบปัญหาอะไรบ้าง เพื่อให้เขาได้เข้าใจว่ากว่า10 ปีที่พ่อแม่ต้องลำบากในการเลี้ยงดูพวกเขา เมื่อเทียบกับการที่พวกเขาต้องอึดอัดอดทนกับไข่ต้มเพียงแค่ 8 วันที่ต้องทนหิ้ว ทนถือ

              จากนั้นให้มีการวิเคราะห์ข่าวเด็ก เด็กกำพร้าที่ถูกทอดทิ้ง ข่าวพ่อวัยรุ่นฆ่าลูก ข่าวนักเรียนหญิงท้องเพราะเพื่อนชายข่มขืน เมื่อความคิดมุมมองในเรื่องตั้งท้อง ทิ้งลูก เลี้ยงลูก ก่อรูปอย่างมีจุดเกาะเกี่ยวชัดเจน วัยรุ่นทุกคนของบ้านกาญจนาภิเษกจะต้องไปเลี้ยงน้องที่บ้านเด็กกำพร้าบ้านปากเกร็ด 1 วัน จากนั้นให้ถอดบทเรียนกันที่บ้านเด็กกำพร้าท่ามกลางเสียงของน้องๆ หรือแม้แต่การจัดกิจกรรมดูภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้อง จากนั้นมาค้นหาจุดมืด จุดบอด จุดสว่างของคนในหนัง 

              “กิจกรรมการเรียนรู้แบบนี้ เมื่อผลิตซ้ำบนความหลากหลายจะทำให้รูปแบบการคิดเปลี่ยนไปโดยไม่ต้องท่องจำ ความรับผิดชอบทางเพศคือความรับผิดชอบที่ต้องเรียกร้องจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน การเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้หญิง แต่ปล่อยให้ผู้ชายลอยนวล คือทางแก้ที่ไร้ความสำนึก ขาดความรับผิดชอบของคนในสังคม ซึ่งต้องทบทวนและรื้อทิ้งความคิดดังกล่าวตั้งแต่วันนี้  ทุกวันนี้แค่วิชาการเป็นเลิศมันเอาไม่อยู่แล้ว” นางทิชากล่าว

              นี่คือเสียงสะท้อนที่ส่งตรงไปถึงผู้รับผิดชอบในบ้านเมือง ด้วยความหวังที่ต้องการลดสถิติความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิง. 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"