โหมโรงศึกเลือกตั้ง พท.แตกก่อนลงสนาม/พรรคกลาง-ใหม่สุดคึกคัก


เพิ่มเพื่อน    


    สะพัด "หญิงหน่อย" ข้ามหัวแกนนำพรรค ยุบวงยุทธศาสตร์ตัดสัมพันธ์ “อ๋อย-นพ-แดง”   ไม่เรียกเข้าวงหารือยุทธศาสตร์เลือกตั้ง หึ่ง! ส่ง ส.ส.ไม่ครบทุกเขตเปิดทาง "ไทยรักษาชาติ" แบ่งคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ฮือฮาโลโก้ "ทษช.-พท." เหมือนกันยังกับแกะ "จาตุรนต์" จ่อทิ้งเพื่อไทยหลังรับภายในพรรคแตกทางความคิด ขณะที่ "รปช." ทุ่ม 14 ล้านทำไลน์ออฟฟิเชียลช่องทางสื่อสารประชาชน "พรรคหนูนา" เนื้อหอม 4 อดีต ส.ส.-ภักดีหาญส์เข้าซบ ด้าน "พลังประชารัฐ"  เฮลั่นหลัง กกต.ประกาศรับรองพรรค
    ตลอดวันอังคารที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคการเมืองอย่างคึกคัก เพื่อเตรียมความพร้อมลงสู่สนามเลือกตั้งซึ่งจะมีขึ้นในปีหน้านี้ ที่น่าสนใจคือความเคลื่อนไหวของพรรคขนาดใหญ่ อย่างพรรคเพื่อไทย โดยมีรายงานแจ้งว่า หลังจากที่มีข่าวการเปิดตัวพรรคไทยรักษาชาติ โดยมีชื่อผู้ใหญ่ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยจะออกไปร่วมงานด้วยนั้น เมื่อวันที่ 5 พ.ย. อดีต ส.ส.อีสานพรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งได้นัดรับประทานอาหารกันที่ย่านเมืองทองธานี มีการหารือถึงการตั้งพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ว่าใครจะไปหรือไม่ไปร่วมงานกับพรรคดังกล่าว อดีต ส.ส.รุ่นใหญ่ต่างยืนยันว่ายังอยู่กับพรรคเพื่อไทย ผู้ใหญ่ที่มีชื่อเป็นข่าวไปร่วมกับพรรคไทยรักษาชาติก่อนหน้านี้
    ขณะที่ความเคลื่อนไหวของฝ่ายบริหารของพรรคเพื่อไทยนั้น ขณะนี้เกิดความขัดแย้ง เนื่องจากไม่พอใจแนวทางการทำงานของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หลังจากมีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง ที่มีคุณหญิงสุดารัตน์เป็นประธาน มีการประชุมไปแล้วหนึ่งครั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคชุดเดิมกลับไม่มีการประชุม ทำให้แกนนำที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง ได้รับทราบว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์เดิมที่ทำหน้าที่เหมือนโปลิตบูโรถูกยุบไปแล้ว กรรมการยุทธศาสตร์ ให้มาใช้กรรมการชุดนี้แทน แต่แกนนำบางคนไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย เช่น นายนพดล ปัทมะ, นายจาตุรนต์ ฉายแสง, นายชูศักดิ์ ศิรินิล, นายพิชัย นริพทะพันธุ์ เป็นต้น ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารงานที่ออกมาในลักษณะข้ามหัวกัน
    แหล่งข่าวระบุว่า ขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่าจะมีแกนนำพรรคและอดีต ส.ส.เพื่อไทยจำนวนหนึ่งย้ายไปอยู่กับพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ที่จะมีการเปิดตัวเป็นทางการ และเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยเฉพาะ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ที่ถูกวางตัวให้เป็นหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาตินั้น ขณะนี้ได้ลาออกจากความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้ว และจะเดินไปเปิดตัวร่วมงานกับพรรคไทยรักษาชาติอย่างเป็นทางการพร้อมกับเพื่อน ส.ส.บางส่วนที่สนิทสนมกัน ในวันที่ 7 พ.ย.นี้ 
    ทั้งนี้ พรรคดังกล่าวจะให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ของพรรคเพื่อไทยย้ายไปอยู่กับพรรค ทษช. ชูความเป็นคนรุ่นใหม่ จึงใช้คนรุ่นใหม่มาเป็นกรรมการบริหาร แต่ก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วแกนนำพรรคเพื่อไทยเดิม ที่จะย้ายไปอยู่กับพรรค ทษช.จะเอาไปไว้จุดไหน ต้องมีตำแหน่งหรือไม่ หรือไปเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าคือพรรคเครือข่ายและลงในนาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ
พรรคเพื่อไทยวุ่นหนัก
     “ตอนนี้ได้เกิดความวุ่นวายสับสนในพรรคขึ้น เพราะมีความพยายามที่จะให้ว่าที่ผู้สมัครหรืออดีตผู้สมัครที่เคยสอบตก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคใต้ หรือในเขตที่พรรคมองว่าไม่ชนะในเขตนั้นๆ  ย้ายมาลงสมัครในนามพรรค ทษช. เพื่อเป็นการกวาดเอาคะแนน ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อให้กับพรรค ทษช. ส่วนของพรรคเพื่อไทยเอง จะล็อกเป้าเลือกส่งเฉพาะเขตที่คาดว่าชนะแน่นอน เพราะหากพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เขตจำนวนมาก ก็จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งคาดว่าพรรคเพื่อไทยก็น่าจะส่ง ส.ส.ไม่ครบ 375 เขต น่าจะเหลือประมาณ 250 เขต หากใช้วิธีนี้จะทำให้ได้จำนวน ส.ส.มากขึ้นในแบบบัญชีรายชื่อจากพรรค ทษช.” แหล่งข่าวระบุ 
    แหล่งข่าวระบุด้วยว่า นอกจากนี้ ในส่วนของพรรคเพื่อธรรม ที่มีการคาดหมายกันว่าจะเป็นพรรคสำรองอันดับหนึ่ง รองรับสมาชิกพรรคเพื่อไทยหากเกิดอุบัติเหตุการเมือง แต่จากสัญญาณล่าสุด พรรคเพื่อไทยมีสัญญาณที่ดี ที่สามารถดำเนินกิจกรรมการเมืองต่อไปได้ รวมทั้งยังมีการเปิดตัว วางยุทธศาสตร์อย่างเด่นชัดให้พรรคไทยรักษาชาติ ทำให้พรรคเพื่อธรรมจะค่อยๆ ลดบทบาทลง ปล่อยให้ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ เป็นพรรคหลักในการขับเคลื่อนสำหรับการเลือกตั้งในปีหน้า
    นายจาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวการตั้งพรรคการเมืองใหม่ และจะมีนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทยย้ายไปร่วมนั้นว่าความขัดแย้งแตกต่างทางความคิดไม่ได้เป็นสาเหตุถึงขั้นที่จะทำให้ถึงขั้นจะอยู่ร่วมพรรคกันไม่ได้ และถ้ามีการหารือเคารพความเห็นที่แตกต่างกันตามสมควร ทำงานอย่างเป็นประชาธิปไตย ความขัดแย้งแตกต่างทางความคิดก็จะไม่เป็นปัญหาใหญ่โตอะไร
    นายจาตุรนต์กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่ถูกกระทำมากที่สุดจากระบบและกติกาภายใต้ยุทธศาสตร์การรัฐประหารครั้งนี้ต้องไม่เสียของ และ “คสช.ต้องสืบทอดอำนาจยาวนาน ยุทธศาสตร์เหล่านี้มุ่งขัดขวางสกัดกั้นไม่ให้พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาล และทำให้พรรคเพื่อไทยต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ 2 ประการคือ ความเสี่ยงที่จะถูกยุบพรรค และ 2.ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้ถูกออกแบบเพื่อทำให้พรรคการเมืองทั้งหมดอ่อนแอ พรรคเล็กๆเสียเปรียบ พรรคขนาดกลางๆ ได้ประโยชน์ แต่หาทางป้องกันไม่ให้พรรคขนาดใหญ่ได้เสียงมากอย่างที่เคยได้
    เขากล่าวว่า เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ ที่นักการเมืองพรรคเพื่อไทยจะหาทางป้องกันไม่ให้ถูกกระทำหรือพยายามลดความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการแสวงหาช่องทางที่นักการเมืองแต่ละคนจะสามารถทำงานในระบบรัฐสภาได้ต่อไป ส่วนสาเหตุที่การดำเนินการต่างๆ ดูจะเป็นไปอย่างสับสน ก็น่าจะมาจากสภาพต่างคนต่างทำ การขาดการหารือวางแผนร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ
"จาตุรนต์" ส่อทิ้งเพื่อไทย
    "สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้นักการเมืองทุกคนในพรรคเพื่อไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงการคิดรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น และในที่สุดแต่ละคนก็ต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง สำหรับผม ต้องยอมรับว่ามีความผูกพันกับพรรคเพื่อไทยอย่างมาก เมื่อถึงเวลาที่ทุกคนจะต้องตัดสินใจ ผมก็จะพิจารณาว่าทางเลือกใดจะเป็นช่องทางในการทำงานตามแนวคิดอุดมการณ์ได้มากที่สุด" นายจาตุรนต์กล่าว
    นายฤภพ ชินวัตร บุตรชายนายพายัพ ชินวัตร อดีตประธาน ส.ส.ภาคอีสาน พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวที่ได้รับทาบทามให้ไปร่วมงานการเมืองกับพรรค ทษช. ว่ายอมรับว่าได้รับการติดต่อให้ไปร่วมงานมาจริง แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบแนวทางเรื่องนโยบายทางพรรคว่าจะเป็นอะไรอย่างไร ตนมีความสนใจงานการเมือง เพราะเป็นอะไรที่คุ้นเคย คลุกคลีมาอยู่ก่อน  หากตัดสินใจจะไปทำงานการเมือง คุณพ่อก็ไม่ได้ว่าอะไร ปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของเรา
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแบบอักษร พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) นั้น มีความละม้ายคล้ายกับพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างมาก ตัวย่อ ทษช. เป็นตัวอักษรหัวกลม ใช้สีน้ำเงินทุกตัว มีเพียง ท.ทหาร ที่มีสีแดง สลับน้ำเงินคาดเท่านั้น ส่วนตัว ษ.ฤาษี กับ ช.ช้าง เป็นตัวอักษรสีน้ำเงิน ด้านล่างเขียนว่า พรรคไทยรักษาชาติ 
    ด้านสถานะพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ล่าสุดที่ประชุมคณกรรมการ กกต.มีมติเห็นชอบให้นายทะเบียนพรรคการเมืองรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ มีนายอุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้าพรรคเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ กกต.ยังรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคอีก 3 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรค เศรษฐกิจใหม่ ที่มีนายสุภดิช อากาศฤกษ์ เป็นหัวหน้าพรรค, พรรคประชานิยม ที่มี พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ เป็นหัวหน้าพรรค และพรรคไทยรุ่งเรือง ที่มีนายฉัตรชัย แนวพญา เป็นหัวหน้าพรรค โดยหลังจากนี้จะได้มีการนำประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป  
กกต.รับรองพรรค พปชร.
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดมีพรรคการเมืองที่ดำเนินกิจการอยู่รวมแล้ว 90 พรรคการเมือง โดยเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่จดทะเบียนตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 จำนวน 25 พรรค และพรรคการเมืองเดิมที่ตั้งตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2550 จำนวน 65 พรรค อย่างไรก็ตาม ยังคงเหลือพรรคที่ยื่นขอจดตั้ง พรรคและอยู่ระหว่างการพิจารณารับรองของนายทะเบียนพรรคการเมืองอีก 31 พรรคการเมือง
     นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณี กกต. ได้รับรองพรรคพลังประชารัฐในวันนี้ว่า ได้รับทราบข่าวดังกล่าวแล้ว ส่วนบทบาทในการทำงานต่อไปนั้น ขณะนี้ยังไม่ขอเปิดเผย แต่จะประกาศจุดยืนในเวลาที่เหมาะสมต่อไป 
    ส่วนนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร  พูดถึงความคืบหน้าในการเข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐว่า คาดว่าไม่เกินสองสัปดาห์คงเกิดความชัดเจน เมื่อพรรคได้การรับรองจาก กกต.เรียบร้อยจะเข้าสู่กระบวนการสมัครสมาชิก เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยลงตัว ตนคงได้เจอหน้าพบปะพี่น้องประชาชนหรือหาเสียงได้อย่างเต็มที่
    วันเดียวกัน มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน เมื่อพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่มีม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นหัวหน้าพรรค และมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. เป็นผู้ก่อตั้งพรรค ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินคารวะแผ่นดินตามจังหวัดต่างๆ และล่าสุดได้เปิดใช้ไลน์ออฟฟิเชียลชื่อว่า “รวมพลังประชาชาติไทย” 
    นายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ โฆษกพรรค รปช.  เผยว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 6 พ.ย. พรรค รปช.ได้เปิดใช้ไลน์ออฟฟิเชียลชื่อว่า “รวมพลังประชาชาติไทย” โดยผู้ที่เข้ามาให้กด @ ไลน์ act party เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวการเดินสายคารวะแผ่นดินของพรรค รปช. รวมถึงการประชาสัมพันธ์ นโยบาย ข่าวสาร และงานของพรรค เพื่อให้สมาชิกรับทราบ 
รปช.ทุ่ม 14 ล้านเปิดไลน์แอป
    "นี่เป็นช่องทางการสื่อสาร นอกจากช่องทางทางเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ของพรรค ซึ่งเมื่อเปิดมาครึ่งวัน มีผู้@ไลน์แล้ว 138,760 คน ยืนยันว่าเราไม่ได้ทำเรียนแบบพรรคไหน เพราะทุกพรรคก็ใช้ช่องทางนี้เพื่อแจ้งข่าวสารให้สมาชิกรับทราบ และให้ประชาชนเข้าถึงพรรคได้มากที่สุด และช่องทางนี้ถือว่าสะดวกมากกว่าช่องทางอื่น โดยพรรคได้ใช้เงินจำนวน 14.4 ล้านบาทในการจัดทำไลน์ออฟฟิเชียลครั้งนี้" โฆษกพรรค รปช. กล่าว และว่า การที่เราใช้รูปหนุมานมาเป็นสติกเกอร์นั้น ไม่ได้มีความหมายอะไรแอบแฝง อาจเป็นเพราะอุดมการณ์เรามีความเป็นไทย จึงนำประยุกต์ให้เข้ากัน ยืนยันว่าไม่ได้มีความหมายอื่นๆ
    ที่พรรคประชาธิปัตย์ นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ  เลขานุการคณะกรรมการการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (กกต.พรรค) แถลงว่า วันนี้ (6 พ.ย.) เมื่อเวลา 12.00 น. ที่ผ่านมา ผู้ใช้ระบบ ios สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน d-elect จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันที่ 9 พ.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม เรื่องที่มีเสียงท้วงติงถึงการให้ประชาชนพิมพ์ลายนิ้วมือหน้าหน่วยเลือกตั้งนั้น ทาง กกต.พรรคยืนยันว่าเป็นมติของกกต.พรรคสามารถทำได้ เพื่อเป็นการตรวจสอบยอดผู้มาใช้สิทธิ์อีกทางหนึ่ง
     ผู้สื่อข่าวถามว่า ตัวแทนของแต่ละฝ่ายมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตในระบบไอที โดยเฉพาะการคัดลอก source code และระบบ block chain นางเจิมมาศยอมรับตัวแทนของทีม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ผู้สมัครหมายเลข 2 ได้มีการร้องเรียนเรื่องนี้มาจริง และทาง กกต.พรรคต้องตรวจสอบแน่นอน เช่น การร้องเรียนบริษัทเอกชน เราจะพิจารณาหลังการหยั่งเสียงเลือกตั้งเสร็จสิ้น ทั้งนี้ ในวันที่ 7 พ.ย. ทาง กกต.พรรคจะมีการนัดประชุมในเรื่องการร้องเรียนเหล่านี้ด้วย
    “เหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ไม่สามารถลงคะแนนได้ เพราะลืมเซตไทม์โซนให้เป็นไปตามเวลาประเทศไทย มันควรที่จะเป็นความผิดของบริษัทที่ทำแอปพลิเคชัน” นางเจิมมาศกล่าว
    นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงหลายพรรคเริ่มลงพื้นที่แนะนำตัวเองว่า เป็นสัญญาณว่าการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในเร็ววัน ดังนั้นพรรคการเมืองจึงเริ่มออกพบปะประชาชน ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย ยังไม่มีการหารือถึงรูปแบบการลงพื้นที่ ซึ่งเป็นอีเวนต์ขนาดใหญ่ ว่าจะเป็นในรูปแบบใด เพราะต้องรอให้ คสช.ปลดล็อกการเมืองเสียก่อน 
ชทพ.เนื้อหอม 4 อดีต ส.ส.ซบ
    ทางด้าน น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ได้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อหารือวาระสำคัญคือ การแต่งตั้งคณะกรรมการตามข้อบังคับพรรค และการพิจารณาการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งของพรรค รวมถึงพิจารณาการรวบรวมทุนประเดิมและการจัดงานระดมทุนเพื่อการเลือกตั้ง
    มีรายงานข่าวจากพรรค ชทพ.แจ้งว่า ในการประชุมพรรควันที่ 7 พ.ย. จะมีอดีต ส.ส.พื้นที่ภาคอีสานที่เคยเจรจาร่วมงานกับกลุ่มสามมิตร จำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายเกษม มาลัยศรี อดีต ส.ว. ร้อยเอ็ด, นายปัญญา ศรีปัญญา อดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคภูมิใจไทย และนายสมคิด บาลไธสง อดีต ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย เตรียมย้ายเข้าสังกัดเข้า ชทพ. หลังจากที่มีปัญหาเรื่องเขตพื้นที่เลือกตั้งที่ไม่ลงตัว โดย 4 อดีต ส.ส.ดังกล่าวจะนำประชาชนกว่า 50 คน ยื่นใบสมัครเป็นสมาชิกพรรคด้วย
    นอกจากนี้ นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ สมาชิกพรรคเพื่อไทย อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็เข้าร่วมพับพรรค ชทพ.ด้วยเช่นกัน โดยเขา ยืนยันว่าไม่ได้มีความขัดแย้งกับพรรคเพื่อไทย เพราะได้ลาผู้ใหญ่ในพรรคบางคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางผู้ใหญ่ของพรรคเพื่อไทยก็เข้าใจ และอวยพรให้มีความก้าวหน้าทางการเมือง
    ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในที่ประชุม ครม.ได้มีการรายงานถึงปฏิทินการทำงานของ ครม. รวมถึงปฏิทินการเลือกตั้ง โดยคร่าวๆ ที่ได้มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญในการกำหนดวันที่เกี่ยวข้องและวันเลือกตั้ง ซึ่งยังคงเป็นไปตามโรดแมป คือ 24 ก.พ.62 ซึ่งในปฏิทินดังกล่าว นอกจากกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว ยังมีวันรับสมัคร และหลังเลือกตั้งไปแล้วยังมีกำหนดภายหลังเลือกตั้ง 15 วัน ที่จะต้องมีการรับรอง ก่อนที่จะมีการเปิดประชุมรัฐสภา
ย้ำเลือกตั้ง 24 ก.พ.62
    นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบอย่างคร่าวๆ ยาวไปจนถึงกระทั่งมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ในช่วงประมาณเดือน มิ.ย.62 ส่วนจะมีรายละเอียดเป็นอย่างไรนั้น นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายวิษณุไปดำเนินการจัดทำรายละเอียด ช่วงระยะเป็นอย่างไร เช่น ช่วงการสรรหาวุฒิสภา ช่วงวันออกพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ตารางเวลาที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และให้นายวิษณุเป็นผู้แถลงข่าวให้สื่อมวลชนได้ทราบอีกครั้งหนึ่ง โดยคาดว่านายวิษณุจะแถลงภายใน 1-2 วันนี้
    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่าสำหรับการสอบ GAT-PAT นั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการได้รายงานว่าหารือเบื้องต้นแล้ว จะขยับให้สอบเร็วขึ้นหนึ่งสัปดาห์ ก่อนวันที่ 24 ก.พ.562 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้ง เพราะวันเลือกตั้งยังคงยืนยันว่าเป็นวันที่ 24 ก.พ.62 ตามโรดแมป
    นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีต่างชาติประสานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อเข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้งในไทยว่า ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องของ กกต. ถามว่าเขาติดต่อมาหรือไม่ก็มีอยู่แล้ว เพราะจะได้มีงานทำ แต่ควรให้เขาเข้ามาหรือไม่ หรือจะดูแลกันเองได้ ที่จริงคนต่างชาติในสถานทูตต่างๆ ในประเทศไทยเขาสนใจและติดตามอยู่แล้ว ส่วนตัวมองว่าการที่เขาจะเข้ามาคือ มาในประเทศที่มีปัญหา ต้องถามสื่อว่าอยากเห็นประเทศเราเป็นประเทศที่มีปัญหาในสายตานานาชาติหรือไม่ ข้อเท็จจริงเราไม่ได้มีปัญหาเรื่องการจัดการเลือกตั้ง
    นายดอนกล่าวว่า และที่ผ่านมาหลายประเทศมาดูงานจากเรา โดยเฉพาะการทำประชามติ ซึ่งได้รับคำชื่นชมและได้รับการยอมรับ ประสบการณ์การเลือกตั้งเรามีและดูดีในสายตาประเทศต่างๆ แต่ถ้าจะให้คนมาสังเกตการณ์แสดงว่าเรามีปัญหาในสายตาเขาหรือสายตาเราเอง ที่ไม่สามารถดูแลตัวเอง ตนเคยใช้คำว่ามงคล แต่ไม่ได้หมายความถึงเรื่องไสยศาสตร์ เป็นเพียงการเริ่มต้นที่ดีที่เราทำกันเองได้ เพราะการสังเกตการณ์เลือกตั้งที่ดีที่สุดคือคนไทยด้วยกันเอง อีกทั้งรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งอยู่แล้ว
    รมว.การต่างประเทศกล่าวว่า การให้ประชาชนมีส่วนร่วมจะทำให้ประชาชนได้เรียนรู้ แทนที่ทุกอย่างจะให้คนต่างชาติเข้ามา เป็นเพราะเราไม่รู้จักโต ไม่รู้จักพัฒนา ยังย่ำอยู่กับที่ และเรายิ่งแย่ลง ทั้งที่ครั้งหนึ่งเคยมีคนมาดูงาน ไม่ใช่ทุกอย่างต้องพึ่งลมหายใจต่างชาติเสียหมด เราก้าวไม่พ้นจุดนี้หรอก หากยังย่ำอยู่กับที่ แม้กระทั่งเรื่องดีๆ เรื่องอนาคตประเทศต้องเอาคนต่างชาติเข้ามาเฝ้ามอง ต้องถามใจตัวเองว่าอยากให้เป็นอย่างนั้นหรือ ซึ่งเราทำกันเองได้ และสำเร็จมาหลายครั้งแล้ว
"ดอน" ยันไทยพร้อมดูเลือกตั้ง
    “ไม่ใช่เรื่องใจแคบหรือไม่ใจแคบ แต่มันเป็นช่วงที่จะพัฒนาคนของเราได้ มันน่าอดสูที่เราต้องไปอาศัยคนอื่นตลอดเวลา นอกเสียจากเราทำไม่ได้ เราไม่มีภูมิปัญญา ไม่มีวิธีการจัดการ ไม่มีอะไรเลย แล้วไปเรียนรู้โดยที่ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด ต้องเอาคนอื่นมาตรวจสอบ ถ้าเป็นอย่างนั้นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องถามตัวเองว่าเราพร้อมดูแลตัวเองได้แล้วไม่ใช่หรือ” นายดอนกล่าว
    ผู้สื่อข่าวถามว่า การไม่ให้ต่างชาติเข้ามา จะทำให้เขาไม่ยอมรับการเลือกตั้งหรือไม่ นายดอนกล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ มันอยู่ที่คนไทย มันเป็นโอกาสที่คนไทยจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาการเมือง ไม่จำเป็นต้องไปอาศัยคนอื่น และพรรคการเมืองสามารถใช้ประโยชน์จากการพัฒนาคนได้ หากจะมาบอกว่าเราไม่เป็นสากล ตนเป็นสากลยิ่งกว่าใครต่อใคร แล้วถ้าจะมาถามว่าการสัมผัสความเป็นสากลของต่างชาติ ลองไปดูนักการเมืองไทยทั่วไป มาเปรียบกันได้เลย
     นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า รัฐบาลควรเปิดใจกว้างและคิดบวก กับกรณีที่องค์กรต่างประเทศจะเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งในไทย เพราะถือเป็นเรื่องปกติ ที่ประเทศประชาธิปไตยทำกัน ถ้ารัฐบาลบริสุทธิ์ใจจริง ไม่ควรหวาดกลัวเรื่องการเข้ามาสังเกตการณ์นี้ เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้ หลายชาติขาดความมั่นใจในไทย และไม่เชื่อใจเรื่องการเลือกตั้ง เนื่องจากเรามีรัฐบาลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ดังนั้นการเปิดให้องค์กรต่างชาติได้เข้ามาร่วมสังเกตการณ์ จะเป็นผลดีต่อรัฐบาลและประเทศชาติ เพราะช่วยประกันความโปร่งใสของรัฐบาลได้ดียิ่งขึ้น และจะทำให้การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับจากทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น 
     สำหรับกรณีการจัดทำโครงการต่างๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการไทยนิยมยั่งยืนนั้น การดำเนินการดังกล่าวสะท้อนถึงความไม่สง่างามของรัฐบาล ที่นำงบประมาณของแผ่นดินมาใช้เพื่อความได้เปรียบเสียเปรียบ และยังหมิ่นเหม่ว่าเป็นการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตและผิดกฎหมาย ซึ่งองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง โดยเฉพาะ กกต. ควรจะเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ เพื่อทำให้ทุกฝ่าย ทั้งประชาชน  พรรคการเมือง รวมไปถึงคนที่สังเกตการณ์ เกิดความสบายใจว่ามีกระบวนการที่พยายามจะป้องกันไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ และถ้า กกต.เพิกเฉย ไม่ทำหน้าที่ของตนเอง ก็จะทำให้ความน่าเชื่อถือและไว้วางใจต่อการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ถดถอยไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"