เมื่อซามูไรจับมือมังกร ต้านอินทรียักษ์ตะวันตก


เพิ่มเพื่อน    

    "ระเบียบโลก" กำลังเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเมื่อนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะบินไปจับมือกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ที่ปักกิ่งเมื่อวันที่ 24-25 ตุลาคมที่ผ่านมา
    คนที่ทำให้โลกปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญไม่ใช่ใครอื่น คือโดนัลด์ ทรัมป์นั่นเอง
    แต่ทรัมป์ไม่ได้ตั้งใจจะเชียร์ให้จีนกับญี่ปุ่นหันมารักใคร่ปรองดองกันหรอก
    ทรัมป์กดดันทั้งจีนและญี่ปุ่นเพื่อประโยชน์ของอเมริกา จนถึงจุดหนึ่งที่ยักษ์ใหญ่ของเอเชียทั้งสองหันมามองตากันและอุทานเกือบจะพร้อมๆ กันว่า
    "แล้วเราจะให้ทรัมป์มาหลอกใช้เราต่อไปอย่างนั้นหรือ?"
    ประโยคนี้อาเบะและสีจิ้นผิงไม่ได้พูด ผมจินตนาการเองว่าเบื้องหลังการตัดสินใจของผู้นำจีนและญี่ปุ่นที่ปรับเปลี่ยนท่าทีต่อกัน ก็เพราะเห็นแล้วว่าหากยังขัดแย้งกันต่อไปก็รังแต่จะกลายเป็นเครื่องมือต่อรองของทรัมป์เท่านั้น
    ทรัมป์เปิดสงครามการค้ากับจีนและกดดันญี่ปุ่นให้ยอมในหลายๆ เรื่องที่อาเบะรู้สึกเสียหายและเสียหน้า
    ทรัมป์ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอย่างหนักหน่วง จีนโต้แบบ "ตาต่อตาฟันต่อฟัน" ต่างฝ่ายต่างรู้ว่าเจ็บทั้งคู่ แต่ก็ต้องยืนหยัดที่จะต้านอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะการยอมตอนนี้เท่ากับพ่ายแพ้ในสายตาของประชาชนตนเอง
    ทรัมป์เจรจากับเกาหลีเหนือในหลายประเด็นโดยไม่ได้ปรึกษาหารือกับญี่ปุ่นก่อน ทำให้โตเกียวรู้สึกถูกโดดเดี่ยวในกระบวนการสันติภาพของคาบสมุทรเกาหลีที่ถูกกำหนดโดยอเมริกา จีน และเกาหลีใต้เป็นหลัก
    ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นถือว่าเกาหลีเหนือเป็นภัยหลักของประเทศ
    จริงอยู่ญี่ปุ่นมีความขัดแย้งกับจีนมายาวนานตลอดช่วงประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังมีความระหองระแหงกรณีอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะเซนซากุที่จีนเรียก "เตี๊ยวหยู"
    แต่เมื่อทั้งสองชาติต้องเผชิญกับ "ภัยปัจจุบัน" ที่เกิดจากความผันแปรของนโยบายทรัมป์ที่ไม่อาจจะคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ความจำเป็นที่จะต้องคบหากันด้วยแนวทาง "สงวนจุดต่าง แสวงจุดร่วม" จึงเกิดขึ้นอย่างน่าสนใจยิ่ง
    ไม่ว่าความขัดแย้งทางการเมืองและความมั่นคงระหว่างปักกิ่งกับโตเกียวจะหยั่งรากลึกเพียงใด แต่ทั้งสองชาติก็ตระหนักว่าเศรษฐกิจของตนจะต้องพึ่งพาอีกชาติหนึ่งอย่างปฏิเสธไม่ได้
    หากทรัมป์เล่นเกมกดดันการค้ากับจีน และเริ่มจะแสดงความเปราะบางด้านความสัมพันธ์ทางการเมืองและความมั่นคงกับญี่ปุ่น ซามูไรกับมังกรยักษ์ก็ย่อมจะต้องหันหน้ามาคบหากันในมิติใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
    จะยอมรับอย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม ญี่ปุ่นย่อมตระหนักว่าการที่ตนจะรักษาความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของตนให้ยั่งยืนหรือไม่ให้เสื่อมทรุดลงนั้น จำเป็นจะต้องคบหากับจีนที่กำลังมีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอย่างคึกคักยิ่ง
    ถ้าคุยกับคนจีน เขาจะบอกว่าญี่ปุ่นถูกทรัมป์บีบจนต้องยอมกลืนเลือดเพื่อฟื้นความสัมพันธ์กับปักกิ่ง
    หากสนทนากับคนญี่ปุ่น เขาจะบอกว่าสีจิ้นผิงจำต้องหันมาจับมือกับอาเบะเพราะต้องการผนึกกำลังกับศัตรูเก่าในเอเชียเพื่อต้านอิทธิพลของทรัมป์
    แน่นอนว่าทั้งจีนและญี่ปุ่นจำต้อง "รักษาหน้าและศักดิ์ศรี" ของตนเอาไว้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อความจำเป็นเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยกลายเป็นหัวข้อสำคัญที่สุดของนโยบายต่อชาติอื่นๆ อะไรๆ ที่เคยคิดว่าเกิดขึ้นไม่ได้ก็กลายเป็นเรื่องที่ "จำเป็นต้องเกิด"
    แต่ก่อนนักธุรกิจใหญ่ๆ ญี่ปุ่นเรียกการลงทุนในจีนว่าเป็น China Risk หรือ "ปัจจัยเสี่ยงจีน" แต่ความรู้สึกเช่นนั้นแปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเพราะการเมืองระหว่างประเทศที่ผันผวนปรวนแปรอย่างคาดไม่ถึง
    สิ่งที่เรียกว่า China Risk อาจจะกำลังกลายเป็น China Advantage ก็ได้ ใครจะรู้
    ต้องไม่ลืมว่าจีนเป็นคู่ค้าของญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุด
    ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับสองของจีนต่อจากสหรัฐฯ
    และญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนใหญ่อันดับ 4 ของจีน
    ผมเช็กตัวเลขล่าสุดแล้ว พบว่าการลงทุนตรงหรือ foreign direct investment ของญี่ปุ่นในจีนเมื่อปี  2017 เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกใน 5 ปี 
    และแนวโน้มทางบวกเช่นนี้ก็ต่อเนื่องมาถึง 8 เดือนแรกของปีนี้
    เมื่อซามูไรจับมือกับมังกรยักษ์เพื่อต้านอินทรีตะวันตก...ประเทศเล็กๆ อย่างไทยควรจะต้องทำตัวเช่นไร
    โดยเฉพาะเมื่อจีนกับญี่ปุ่นประกาศจับมือกันเรื่องลงทุนร่วมในประเทศที่สาม และอันดับต้นๆ ของประเทศที่สามที่ว่านี้ก็คือประเทศไทย!
    พรุ่งนี้ว่าต่อครับ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"