"ความงามข้ามขอบเขต" วิวัฒนาการความคิด จากอดีต-ปัจจุบันศิลปินดัง


เพิ่มเพื่อน    

 

     

     กว่า 40 ปีที่มูลนิธิบัวหลวงได้จัดประกวดจิตรกรรมบัวหลวงมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นเวทีในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยให้ศิลปินรุ่นใหม่เกิดการพัฒนามีทักษะ แนวคิด และความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานด้านจิตรกรรมให้มีคุณภาพและมีคุณค่า ที่มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดเป็นจำนวนมากทุกปี ทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของศิลปะในแต่ยุค ความคิดสร้างสรรค์และฝีมือของศิลปิน

      นิทรรศการ Beyond Artistic Boundary : ความงามข้ามขอบเขต เป็นนิทรรศการที่รวบรวมจัดแสดงผลงานศิลปะของผู้ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดจิตรกรรมบัวหลวง ศิลปินจำนวน 46 คน 83 รูปภาพ โดยมีทั้งผลงานจากการประกวดและผลงานในปัจจุบัน เพื่อสะท้อนให้เห็นว่างานศิลปะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ศิลปิน 46 ชีวิตที่นำผลงานมาแสดงมีทั้งศิลปินแห่งชาติและศิลปินอาชีพ อาทิ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, อิทธิพล ตั้งโฉลก, ปรีชา เถาทอง, เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ, ปัญญา วิจินธนสาร, นพวงษ์ เบ้าทอง, ยามีล๊ะ หะยี ฯลฯ

 

"การเปลี่ยนแปลงภายใน" ผลงานของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

     

    นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า นิทรรศการชุดนี้นับว่าเป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่ขับเคลื่อนงานศิลปะให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากขึ้นในสังคม อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย นิทรรศการจัดแสดงผลงานศิลปะในครั้งนี้ยังทำให้เห็นถึงวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนางานศิลปะในแต่ละยุคสมัย ให้วงการศิลปะมีความก้าวหน้า เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินได้นำไปพัฒนาผลงาน

      คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช รองประธานกรรมการบริหารหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าฯ และกรรมการมูลนิธิบัวหลวง กล่าวว่า ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทยที่จะมีการจัดแสดงงานเทศกาลศิลปะ ทั้ง Thailand Biennale 2018 และ Bangkok Art Biennale จึงมีแนวคิดที่จะจัดนิทรรศการ Beyond Artistic Boundary นี้คู่ขนานไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจงานศิลปะได้เข้าชมผลงานจากการประกวดของมูลนิธิบัวหลวงที่ผ่านมา ซึ่งผลงานใหม่บางชิ้นของศิลปินเพิ่งเคยจัดแสดงที่นี่เป็นครั้งแรก หวังว่านิทรรศการในครั้งจะสร้างแรงบันดาลและเป็นกำลังใจให้กับศิลปินรุ่นใหม่ๆ ต่อไปด้วย

ประติมากรรมนักเต้นรำ 6 คน ของสาครินทร์ เครืออ่อน

 

      สำหรับผลงานภายในนิทรรศการ อาทิ ภาพมุมหนึ่งของชีวิตไทย รางวัลที่ 1 ปี 2520 และภาพการเปลี่ยนแปลงภายใน ผลงานของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ภาพแสงและเงา ผลงานของปรีชา เถาทอง, ภาพยมกปาฏิหาริย์ รางวัลที่ 1 ปี 2560 ผลงานของอนุวัฒน์ ลัดดาวัลย์, ภาพค่าน้ำนม รางวัลที่ 1 ในปี 2551 ผลงานของนพวงษ์ เบ้าทอง, ภาพความเป็นแม่ รางวัลที่ 1 ปี 2560 ผลงานของฤทัยรัตน์ คำศรีจันทร์, ภาพความหวัง ผลงานของ ผศ.อภิชัย ภิรมย์รักษ์ และผลงานอื่นที่งดงามอีกมากมาย

      อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) กล่าวว่า ตนคือหนึ่งในศิลปินที่เคยส่งผลงานเข้าประกวดที่มูลนิธิบัวหลวง ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 หรือในปี 2520 ซึ่งในการประกวดสมัยก่อนผลงานที่ส่งเข้าแข่งขันส่วนใหญ่จะเป็นรูปพระพุทธเจ้า หรือรูปโบราณๆ รูปแบบเดิมๆ จนมาถึงสมัยตน มีความรู้สึกอยากจะทำอะไรให้ดูแปลกใหม่ จึงได้ส่งผลงานที่ชื่อว่า มุมหนึ่งของชีวิตไทยที่สะท้อนเรื่องราวของผู้คนในระเบียงวัดโพธิ์ในระหว่างรอการทำบุญ มีทั้งการพูดคุย หรือการทานขนมที่หาบเร่มาขาย แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตคนไทยสมัยนั้น ตัวผลงานที่วาดใช้สีฝุ่นบนกระดาษสา ในสมัยนั้นเรียกได้ว่าไม่มีใครวาดรูปบนกระดาษสา หรือกล้าที่จะวาดรูปในรูปแบบใหม่ๆ ในยุคนั้น จึงเหมือนบุกเบิกให้งานศิลปะมีความคิดที่หลากหลายมากขึ้น มีความเป็นไทยที่สามารถก้าวไปสู่สากลได้ ดังนั้น เวทีการประกวดจึงสำคัญ เพราะนอกจากจะมีชื่อเสียง ยังสร้างรายได้ตามอีกด้วย

      “ ส่วนอีก 2 ภาพที่ชื่อว่า ภายในที่เปลี่ยนแปลง ผมก็วาดบนกระดาษสาเช่นกัน เพียงเปลี่ยนเทคนิคมาเป็นหมึกจีนและสีชอล์ก สะท้อนให้เห็นว่าในปัจจุบัน ศิลปินได้มีการพัฒนาขึ้นมาก ไม่ได้วาดภาพเพื่อหารายได้หรือชื่อเสียง แต่วาดด้วยความสุข ความพอใจที่สะท้อนออกมาจากภายในจิตใจของตน นี่คือความแตกต่างที่จะทำให้คนที่เข้าชมได้เข้าใจถึงวิวัฒนาการของวงการศิลปะและตัวศิลปินเอง ก็ต้องมีการพัฒนาของตนเอง อย่าหยุดที่จะเรียนรู้ ส่งงานเข้าประกวดเพื่อให้รู้ว่างานของเรามีค่าและมาถูกทาง บ่งบอกถึงตัวตน มีความคิดสร้างสรรค์ผลงานในการเปลี่ยนแปลงผลงานศิลปะ เหมือนกับประโยคที่ว่า ศิลปะยืนยาว แต่ชีวิตสั้น” อาจารย์เฉลิมชัยกล่าว

นพวงษ์ เบ้าทอง กับผลงานจิตรกรรมไทยประเพณี นำผ้าพระบฏมาประยุกต์

 

      นพวงษ์ เบ้าทอง หนึ่งศิลปินที่เคยส่งผลงานเข้าประกวดในปี 2551 และได้รับรางวัลที่ 1 ประเภทจิตรกรรมไทยแนวประเพณี เล่าว่า ส่งผลงานเข้าประกวดสมัยที่ยังเรียนอยู่ปริญญาตรี ได้แนวคิดในการนำผ้าพระบฏมาประยุกต์เข้ากับงานศิลปะของตน โดยเป็นการนำผ้าของทวดที่เสียชีวิตไปแล้วมาเย็บต่อกัน วาดภาพเหมือนจริงด้วยสีฝุ่น สะท้อนถึงความเชื่อเกี่ยวกับบวชของลูก และพ่อแม่มาฟังธรรมในสมัยพระพุทธเจ้าและในปัจจุบัน อีกหนึ่งผลงานที่วาดขึ้นในปัจจุบัน ผ่านมา 10 ปีก็ทำให้เราเห็นว่าฝีมือของเราอาจจะเหมือนเดิม แต่ที่เปลี่ยนไปคือความคิดที่มีการเปลี่ยนแปลงและมีมุมมองอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น

      นพวงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า เวทีการประกวดจึงเป็นเสมือนช่องทางหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้คนรู้จักผลงานและตัวตนของศิลปินมากขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนางาน เพราะหากหยุดการพัฒนาและเรียนรู้ก็อาจจะมีวันที่ชื่อเสียงจะดับลงเช่นกัน และการที่คนมาชมงานของตน ได้มองเห็นอะไรบางอย่างในชิ้นงาน เข้าใจถึงสิ่งที่สื่อความหมาย แม้จะมีเพียงแค่ 1 คน จากทั้งหมด 10 คน ก็นับว่าเป็นความภูมิใจของผู้เป็นศิลปินแล้ว

 

ยามีล๊ะ หะยี กับผลงานรางวัลจิตรกรรมบัวหลวง

 

      อีกหนึ่งศิลปินสาว ยามีล๊ะ หะยี ที่เคยส่งผลงานเข้าประกวดในปี 2558 และได้รับรางวัลที่ 1 ประเภทจิตรกรรมร่วมสมัย เล่าว่า ผลงานโลกของสตรีมุสลิม 2 เป็นงานเย็บปักที่สะท้อนภาพบทบาทและหน้าที่ของสตรีมุสลิมที่มีต่อครอบครัว และสถานการณ์ของสตรีมุสลิมในบริบทของสังคมร่วมสมัยแห่งโลกปัจจุบัน ในการศึกษาเกี่ยวกับหลักคำสอนศาสนา เพื่อนำมาขัดเกลาจิตใจของตนเอง นำมาสู่การทำงานผลงานในปัจจุบันที่ชื่อว่า "ความสุข...ความปรารถนา" ที่ยังคงรูปแบบในการสะท้อนบทบาทของสตรีมุสลิม แต่เป็นบทบาทของผู้ที่จะเป็นแม่ การแต่งงาน และการละหมาดของผู้หญิง ให้เห็นเป็นนามธรรม เพื่อให้คนดูได้จินตนาการถึงสถานะของผู้หญิง ความปรารถนาและความเพ้อฝัน ดังนั้นการทำงานศิลปะไม่ว่าจะด้านใด ตัวศิลปินต้องมีการพัฒนาฝีมืออยู่เสมอ เพราะมีศิลปินรุ่นใหม่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้เราได้อยู่รอดในการทำความฝันและความตั้งใจต่อไป

      อย่างไรก็ตาม ผู้สนใจเข้าชมผลงานในนิทรรศการ Beyond Artistic Boundary : ความงามข้ามขอบเขต สามารถเข้าชมได้ทุกวัน เวลา 10.00-19.00 น. ตั้งแต่วันนี้-8 มกราคม 2562 ยกเว้นวันพุธ ที่บริเวณชั้น 1-3 หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ.

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"